เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 นางสาวธัญนันท์ พงษา ชาวบ้านดงหลง ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ หนึ่งในสมาชิกผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ เปิดเผยว่า จากกรณีที่บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ยื่นต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร) เพื่อขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ ตนและชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหมืองทอง มีความกังวลว่า กพร.จะยอมต่อใบอนุญาตแก่บริษัทฯ โดยไม่ตรวจพิสูจน์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งขณะนี้มีชาวบ้านหลายรายเจ็บป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทั้งหมดต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเอง ขณะที่บางส่วนยอมรักษาตัวตามอาการในสถานบริการสาธารณะสุขท้องถิ่นเนื่องจากมีสิทธิการรักษาตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หลายรายป่วยหนักต้องเดินทางมาพบแพทย์ที่กรุงเทพฯ และหันไปพบแพทย์ทางเลือก ความเดือดร้อนดังกล่าวยังไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ แม้ว่าชาวบ้านจะร้องเรียนมาแล้วหลายครั้ง ทั้งการขอให้รัฐบาลและบริษัทร่วมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาระงับการต่อใบอนุญาตแก่บริษัทหลายครั้งแต่ก็ยังไม่มีสัญญาณตอบรับจากฝ่ายใด
“ตอนรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่เมื่อปลายเดือนเมษายน ชาวบ้านก็ยื่นหนังสือชัดเจนให้ระงับการต่อใบอนุญาต แต่กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เราต้องรอลุ้นกันอีกทีว่าจะเป็นอย่างไร แต่ครั้งนี้พวกเราร้องขอชีวิตกันตรงๆ ว่า ยังไงถ้าจะขยายเหมืองหรือต่อใบอนุญาตให้คิดถึงชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้าง เพราะที่ผ่านมาเจ็บ ป่วย ตายกันเยอะแล้ว หรือหากจะมีการเปิดให้ต่อใบอนุญาต ควรมีภาคประชาชนร่วมพิจารณาด้วย ร่วมทำประชาพิจารณ์ด้วย” นางสาวธัญนันท์ กล่าว
ด้านนางสาวสมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยสมทบ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยไม่ควรคิดถึงการต่อใบอนุญาตหรือปล่อยสัมปทานเหมืองทองทั้งสิ้น ทางเดียวจะรักษาชีวิตประชาชนคือ การพักการประกอบโลหะกรรม เพราะแม้ว่าเหมืองทองจะเกิดขึ้นในประเทศไทยมานานกว่า10ปี แล้ว แต่ยังพบว่า เมื่อมีปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพยังไม่เคยมีบริษัทใดยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและเสนอตัวรับผิดชอบ หรือกล่าวง่ายๆ คือ ไม่มีฝ่ายใดฟันธงว่าเหมืองทองเป็นตัวการกระทำให้เกิดผลกระทบ ดังนั้นหากยังหาผู้รับผิดชอบและเยียวยาประชาชนไม่ได้ โครงการหรือการดำเนินการใดๆที่เสี่ยงต่อการสร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ก็ควรระงับก่อน
“ที่ผ่านมาประเทศแบกรับค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยเรื้องรังเช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงมาตั้งเท่าไหร่ ฝ่ายวิชาการต้องหางบมาวิจัยผลกระทบตั้งเท่าไหร่ งบประมาณแต่ละด้านไม่เคยมีสักครั้งที่เหมืองร่วมจ่าย แม้ว่าจะมีกองทุนประกันความเสี่ยงก็ตาม และการของบก็ยังยากแล้วพอชาวบ้านป่วยขึ้นมาจริงๆ มีสารโลหะหนักในเลือดจริงๆ เหมืองกลับปฏิเสธแบบนี้จะต่ออนุญาตไปทำไมกัน เพราะถึงเวลาร่วมรับผิดชอบบริษัทไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง” นักวิจัยผู้นี้กล่าว
นางสาวสมพรกล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องน้ำ ดิน พืชผลการเกษตรเสียหาย กระทรวงอื่นต้องฟื้นฟูสภาพแวดล้อมมากตั้งเท่าไหร่ มาตรการตรงนี้ของประเทศไทยยังไม่เสถียร ดังนั้นคิดว่าก่อนการเปิดต่อใบอนุญาตใดๆ ไทยต้องวางระบบประเมินผลทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และเปิดช่องในการศึกษาอย่างละเอียดก่อน ซึ่งที่ผ่านมากรณีเหมืองทองมีแค่ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน ภาควิชาการจากมหาวิทยาลัยบางแห่งเท่านั้นที่เข้าไปศึกษาอย่างอิสระแล้วนำข้อมูลมาเผยแพร่เพื่อเตือนประชาชน แต่องค์กรของรัฐนั้นยังทำงานแบบครึ่งๆ กลางๆ อยู่ ไม่มีฝ่ายใดออกแบบกรอบการปกป้อง และแก้ปัญหาสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
นางสาวสมพร กล่าวต่อว่า ตัวอย่างการทำวิจัยด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐานในประเทศไทย คือ กรณีการศึกษาปริมาณแคดเมียมจากเหมืองสังกะสีที่แม่ตาว จังหวัดตากโดยทีมวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ซึ่งมีการให้ข้อมูลที่ชัดเจน โดยอ้างหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก แต่กรณีเหมืองทองนั้นยังไม่มีความชัดเจน แต่รัฐบาลกลับเลือกจะเดินหน้าเปิดสัมปทานและเปิดช่องในผู้ประกอบการดำเนินการต่อไป ซึ่งส่วนตัวกังวลว่าจะเกิดผลกระทบระยะยาว จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ
////////////////////////////////////////////////////////