เมื่อวันที่ 9พฤษภาคม 2559 ที่ อาคารเฉลิมราชกุมารรี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้มีเสวนาวิจัยวิเคราะห์ปัญหาแรงงานทาสและนโยบายด้านการประมงเพื่อเป็นบทเรียน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี ศ. สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพ และความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน โดยศ.สุริชัย กล่าวว่า กรณีข่าวคราวการใช้แรงงานทาสในเรือประมงพาณิชย์ของไทยที่น่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของโลกและ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้เริ่มให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการแก้ปัญหาแรงงานทาสมาโดยตลอด จึงจำเป็นจะต้องมีการถอดบทเรียนเพื่อศึกษาปัญหาอย่างจริงจังและหาทางออกร่วมกันในระดับภูมิภาคซึ่งวันนี้ทางศูนย์ศึกษาสันติภาพฯ ได้มีโอกาสจัดประชุมจึงได้เชิญตัวแทนแต่ละฝ่ายเข้าร่วมแสดงข้อมูลและรายงาน สถานการณ์รวมทั้งเชิญนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศเข้ามารายงานผลศึกษาและร่วมวิเคราะห์ปัญหาด้วยกัน เพื่อจะได้หาทางออกในการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายกับการใช้แรงงานทาสอย่างมีประสิทธิภาพ
นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานหรือแอลพีอ็น(LPN) กล่าวว่า นับตั้งแต่แอลพีเอ็นได้ปฏิบัติการสำรวจแรงงานประมงที่ทำงานในเรือประมงของไทยที่ เกาะตวน เกาะอัมบล เกาะเลนจิน่าประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี2557-2559 ทางมูลนิธิ ฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยเหลือลูกเรือประมงกลับประเทศต้นทางทั้งไทย พม่า กัมพูชาและลาวได้ทั้งหมด2,950คนโดยแรงงานกว่า 50% เป็นคนไทย จากการสัมภาษณ์เชิงลึก พบแรงงานกว่า80% ไม่เต็มใจทำงานบนเรือ ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบกับแรงงานอย่างมาก เพราะนอกจากบางรายจะทำงานไม่ได้รับค่าจ้างแล้ว บางรายยังถูกกดขี่ คุมขัง จนต้องหนีเอาตัวรอดและกลายเป็นคนตกเรือติดเกาะ จนต้องหาทางส่งตัวกลับประเทศและกลายเป็นข่าวต่อมา ซึ่งถ้าประเทศไทยและประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องไม่มีมาตรการในการจัดร่วมกัน ปัญหาก็จะใหญ่กว่าเดิม
ศ.เยกตี้ มอนนาตี้ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยแห่งชาติอินโดนีเซีย กล่าวว่า จากการวิจัยปี 2558-2559 ทางศูนย์วิจัยได้รวบรวมสถานการณ์แรงงานที่ถูกบังคับใช้แรงงานในเรือประมงที่จับสัตว์น้ำในอินโดนีเซีย พบว่ามีแรงงานที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีจำนวน 1,185 ราย โดยพบว่า หลายกรณีเป็นแรงงานที่ทำงานนานกว่า 10 ปี โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ศึกษาข่าวจากสื่อต่างๆและการรวบรวมข้อมูลจากองค์การพัฒนาเอกชนพบว่า แรงงานที่ถูกดำเนินคดีมีทั้งสัญชาติไทย พม่า กัมพูชา อินโดฯ ส่วนเรือประมงที่ไต๋เรือถูกดำเนินคดีนั้น มีทั้งจากประเทศจีน เวียดนาม มาเลเซีย ไทย ซึ่งขณะนี้พบเรือที่มาล่าสัตว์ในน่านน้ำอินโดนีเซียเฉลี่ยปีละ 5,000 -6,000 ลำ แต่มีเรือที่ลงทะเบียนเพียงแค่ ราว 2,000 ลำเท่านั้น
“ปัญหาการเรือประมงผิดกฎหมายในอินโดนีเซียเกิดขึ้นนานเพราะอินโดฯ มีเกาะจำนวนมาก และมีทะเลกว้างใหญ่ ต่างชาติจึงมาหาปลา หาสัตว์ทะเลกันเยอะ ประกอบนโยบายในการลงทะเบียนอย่างถูกกฎหมายนั้น มีหลักการที่ซับซ้อน เรือประมงพาณิชย์จึงไม่ต้องการจะรอเวลาในการจดทะเบียนที่ยาวนาน จึงก่อเกิดการทำประมงผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งจากการจับดำเนินคดีนั้นพบว่า ไต๋เรือบางคนมีการติดต่อสื่อสารกับข้าราชการอินโดฯ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน” ศ.เยกตี้ กล่าว
ศ.เยกตี้ กล่าวด้วยว่า การทำประมงผิดกฎหมายนั้น นอกจากจะส่งผลให้เกิดการใช้แรงงานทาส แล้ว ประชากรในอินโดฯ ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านราว 30 % ก็ได้รับผลกระทบจากการทำประมงของต่างชาติด้วย ดังนั้นอินโดนีเซียต้องปรับกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวกับการปราบปราม โดยเริ่มที่มาตรการคุมเรือและยิงเรือประมงผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมายิงไปแล้ว 200 ลำ จากนั้นรัฐบาลจะประสานให้ประเทศต้นทางมารับแรงงานประมงกลับ กรณีที่พบว่าเป็นแรงงานทาส แต่ถ้าเป็นแรงที่ถูกต้องมาทำงานในเรือที่ผิดกฎหมายทาง การจะต้องดำเนินคดีกับทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง มีทั้งโทษปรับและจำคุก ขณะที่โทษสำหรับเรือประมงที่ค้ามนุษย์นั้น ทั้งจำ ทั้งยึดทรัพย์ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทางการไทย พม่า ลาว อินโดนีเซีย และกัมพูชา จึงต้องเปิดเวทีคุยกันเพื่อสร้างนโยบายใหม่ในการทำประมง ซึ่งหากฝ่ายวิชาการได้ร่วมมือกันสำรวจข้อมูล วิเคราะห์ปัญหาด้วยกันก็เชื่อว่าจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้
/////////////////////