สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

นักวิชาการ-ชาวบ้านยังไม่มั่นใจรัฐบาลปิดเหมืองทองสิ้นปีจริง ท้าประกาศระงับร่างพรบ.แร่ฉบับแก้ไข แนะตั้งกก.ฟื้นฟู-ดึงภาคประชาชนเข้าร่วม หวั่นเร่งมือระเบิดแร่มากขึ้น

received_1107174475992503
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ปิดเหมืองภายในสิ้นปี 2559 ว่า ประเด็นการพิจารณาน่าจะเป็นแค่กรณีของเหมืองทองของบริษัทอัคราไมนิ่ง รีสอร์สเซส เท่านั้น ไม่ได้แปลว่าจะปิดทั้งหมด แต่การพิจารณาของ ครม.ก็น่าสงสัยว่า การขยายเวลาให้เหมืองทองดำเนินการถึงสิ้นปีนั้น ให้เหมืองดำเนินการได้แค่ไหน จะมีการอนุญาตให้ทำทั้งระเบิดภูเขา ถลุงแร่ และขนแร่เลยหรือเปล่า แต่ข้อเท็จจริงคือเหมืองทองเองก็ยอมรับว่ารายได้ระยะหลังไม่คุ้มค่า ดังนั้นมติ ครม.ครั้งนี้จึงไม่ได้ชัดเจนว่าเหมืองจะไม่ส่งผลกระทบต่อไป ดังนั้นถ้า รัฐบาลจริงใจต้องระงับร่างพรบ.แร่ทันที จึงจะแสดงความมั่นใจให้ประชาชนว่าประเทศไทยจะไม่มีเหมืองต่อไป

received_1107174509325833

“เรื่องที่นายกให้สัมภาษณ์ว่าจะเยียวยาประชาชน และจะเร่งรัดให้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับความเสียหายนั้นคำถามคือ ใครละจะเป็นเจ้าภาพ แต่ที่รู้คือ ภาระค่าใช้จ่ายคงสูงมาก แค่บ่อเก็บกากแร่อย่างเดียวก็แพงมาก ส่วนการรักษา ดูแลสุขภาพประชาชนที่ผ่านมาก็เรียกร้องกันเสมอ แต่กลับดูแลได้ไม่ทั่วถึง แล้วครั้งนี้หากรัฐบาลจะดูแล เยียวยาชาวบ้านที่เจ็บป่วยจริง มันต้องหมายถึงร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย” ดร.อาภากล่าว

received_1107174825992468
อาจารย์คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมยังกล่าวด้วยว่า กรณีการดูแลคนงานเหมืองที่ตกงาน หากมีการปิดเหมืองนั้น มองว่าจริงๆ แล้วเหมืองอัคราฯ เองเคยให้สัมภาษณ์ว่า การทำทองในพื้นที่ระยะหลังไม่คุ้มค่า ดังนั้นการจ้างงานในช่วงหนึ่งเมื่อสิ้นสุดใบอนุญาตหรือหมดคนงานต้องแยกย้ายกันอยู่แล้ว แต่หากรัฐบาลจะรับดูแลเป็นเรื่องดี ถ้าจะให้ดีและยั่งยืนได้ใจประชาชนเลยต้องยกเลิก พรบ.แร่

ด้านดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Chainarong Sretthachau เรื่องมติ ครม.เรื่องเหมืองทอง ว่า “ผมบอกไม่ถูกว่าควรดีใจหรือเสียใจที่ ครม.มีมติปิดเหมืองทองพิจิตร ขณะที่ชาวบ้านรอบเหมืองต้องอดทนถึงสิ้นปี สิ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือ มันเป็นก้าวเล็กๆ ของชัยชนะหลังจากพี่น้องได้ต่อสู้มายาวนานกว่า 10 ปี และนี่คือพลังของนักสู้ผู้ไม่แพ้ในชนบทซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการ แพทย์ นักพัฒนา สื่อมวลชน และพวกเราทุกคนในสังคมที่อาสาช่วยชาวบ้านในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการสนับสนุนทุนในการต่อสู้”

ดร.ไชยณรงค์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาของพี่น้องไม่ใช่แค่เหมืองปิดในสิ้นปีแล้วจบ เพราะหนทางในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะการฟื้นฟูสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชาวบ้านในชุมชนรอบเหมืองยังอีกยาวไกล ข้อเสนอของตนก็คือ จำเป็นอย่างเร่งด่วนในการทำแผนการฟื้นฟูสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม โดยรัฐต้องเป็นแกนนำและมีตัวแทนจากชาวบ้านและทุกภาคส่วน และจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ ขณะเดียวกันต้องไม่ปล่อยให้ทุนข้ามชาติลอยนวลแค่ฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมือง แต่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดตามหลัก

“ใครเป็นผู้ก่อมลพิษ ผู้นั้นต้องจ่าย ที่สำคัญอีกประการ สังคมต้องช่วยกันยันให้มีการปิดเหมืองในสิ้นปีจริงๆ ไม่มีบิดพลิ้ว” ดร.ไชยณรงค์ กล่าว

ด้านนายณัฐพล แก้วนวล ตัวแทนชาวบ้านที่ต่อต้านเหมืองทอง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การให้สัมภาษณ์จากนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า มั่นใจว่าจะฟื้นฟูเหมืองทองได้ และจะไม่มีเหมืองทองต่อไป ตนและเครือข่ายอยากให้รัฐบาลประกาศชัดเจนว่า จะไม่มีแผนสัมปทานอีกแล้ว และต้องประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร เพื่อไม่ให้ธุรกิจที่ทำอุตสาหกรรมอันส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในพื้นที่คุ้มครองดังกล่าวด้วย

“ผมไม่เข้าใจความหมายของการขยายใบอนุญาต แต่ผมมองว่า นี่เป็นเพียงบทยื้อการทำงานของเหมืองเท่านั้น ส่วนตัวผมเชื่อว่า รัฐบาลจะเยียวยาคนป่วยไม่ได้ เพราะหากรัฐบาลจริงใจที่ผ่านมาตั้ง15 ปี เขาถลุงทองไปตั้งเท่าไหร่แล้ว คนล้มป่วย ตายตั้งเท่าไหร่ ไม่เห็นมีใครลงมาดู เพิ่งมาดูสองสามปีหลัง ผมอยากให้รัฐมีนโยบายที่ชัดเจนกว่านี้ คือสั่งปิดทันที ไม่ใช่สิ้นปี เพราะระยะเวลาที่เหลือหลายเดือน ผมไม่เชื่อว่าเขาจะหยุดระเบิดหิน ผมว่าเขาจะเร่งมือ เร่งรัดทำแร่เพิ่มเติมมากกว่า ทีนี้พิษก็จะหนักกว่าเดิม” นายณัฐพล กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 14.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อใบอนุญาตการทำเหมืองแร่ทองคำหรือไม่ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่ได้พิจารณาต่อใบอนุญาต โดยได้สั่งการไปว่า ภายในสิ้นปีนี้ไม่มีการทำเหมืองแร่ทองอีกต่อไป และในระหว่างนี้จะต้องแก้ปัญหาการปรับพื้นที่คืนสภาพ เตรียมหางานให้คนงานอีกว่าพันคน สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนก็จะได้รับการเยียวยา โดยให้กระทรวงสาธารณสุขไปดูแลรักษา ซึ่งยังไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร เพราะทุกพื้นที่มีมากมีน้อยอยู่

“แบบนี้ใครจะมาร่วมรับผิดชอบกับผม ไม่ใช่ว่าสั่งโครมๆ ว่าเลิกไม่เลิก สร้างกันมากี่ปีแล้วปัญหาเกิดมาจากใคร ต้องแก้แบบนี้ แต่สิ้นเดือนธันวาคมนี้จะต้องไม่มีเหมืองทองอีกต่อไปจนกว่าจะชัดเจน เขามีการตรวจสอบ 5 หน่วยงาน 4 กระทรวง กรรมการ 5 ฝ่ายลงไป ซึ่งก็มีผล เดี๋ยวจะออกทีวีให้เขาดูก็ไปพิจารณาเอาเอง ใช้สติปัญญาคิดเอา จะให้ผมแก้ปัญหาอะไรก็กรุณาคิดปัญหาอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่แก้อันนี้ไปเจออันโน้นอีก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้มันยังไม่ชัดเจน ถ้าท่านไม่เชื่อหน่วยงาน เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ แล้วจะเชื่อใคร ก็ไม่ต้องเชื่อใครหรืออย่างไร ใครจะพูดอะไรก็เชื่อตามคนพูด ซึ่งต้องฟังทั้งสองฝ่าย เพื่อมาช่วยกันคิด เรื่องผลประโยชน์ที่ผ่านมาก็ต้องดูว่ามีการส่งค่าภาคหลวงเท่าไหร่ เกิดการจ้างงานอีกเท่าไหร่ ที่ผ่านมาพอเพียงหรือยัง กับผลเสียที่เกิดขึ้นมาทั้งเรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องสารหนัก บางค่าก็สูง บางค่าก็ต่ำ เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรกับมัน ก็ต้องให้เวลาเขาปรับสภาพตรงนี้ ที่จะให้กลับไปสู่ธรรมชาติเหมือนเดิม ซึ่งระหว่างนี้ต้องหางานให้คนงานอีกเป็นพันคน คนที่เสนอโน่นนี่มา จะรับคนงานไปดูแลให้หรือไม่ คนเจ็บคนป่วยก็ดูแล

/////////////////

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →