เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกา จังหวัดภูเก็ต ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้นายอานัน บางจาก และนายมะเหร็น บางจาก ชาวเลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ย้ายออกจากที่ดินในกรรมสิทธิ์ของนายสะเทือน มุขดี เอกชนที่เป็นโจทก์ที่ฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวเลทั้ง2รายตั้งแต่ปี 2552
นายพสิษฐ์ ถาวรล้ำเลิศ ทนายความที่ติดตามคดีด้านที่ดินของชาวเลราไวย์ กล่าวว่า กรณีของทั้ง2รายนี้เป็นกรณีที่มีเอกสารแสดงสัญญาซื้อขาย และไม่สามารถนำผลการพิสูจน์หลักฐานการตั้งถิ่นฐานของบรรพบุรุษ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาประกอบการต่อสู้คดีได้ เพราะที่ดินที่อยู่นั้นเป็นแปลงแยกออกมาต่างหาก ในการพิจารณาของศาลจึงเป็นไปตามเอกสารแต่ละแปลง ทั้งนี้ชาวเลราไวย์ ถือเป็นกลุ่มชาวเลที่ถูกเอกชนฟ้องร้องดำเนินคดีมากที่สุด ถ้าเปรียบเทียบจากกลุ่มชาวเลในพื้นที่อื่น แต่หลังจากดีเอสไอ และหลายฝ่ายเข้ามาตรวจสอบแล้วนั้น ทำให้การต่อสู้คดีมีการไกล่เกลี่ยกันมากขึ้น โดยขณะนี้มีผู้ถูกฟ้องร้องเดิมประมาณ100 คดี มีการฟ้องร้องใหม่ 9 ราย บางรายมีการไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี แต่บางรายก็ไกล่เกลี่ยในชั้นศาล
ด้านนายโชคดี สมพรหม ตัวแทนนักพัฒนาเอกชนในพื้นที่หาดราไวย์ และเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต กล่าวว่า เบื้องต้นทางนายอานัน และมะเหร็น อาจจะต้องเตรียมตัวย้ายที่อยู่จากหาดราไวย์ไปยังเกาะอื่น ซึ่งน่าจะไปอยู่กับญาติที่เกาะสิเหร่ แม้ศาลฎีกาจะพิพากษาให้ทั้งสองแพ้คดีนายทุนเพราะมีเอกสารสัญญาซื้อขายชัดเจนก็ตาม แต่ว่าเบื้องหลังการได้มาของเอกสารสิทธิ์ของทั้งสองคนนั้นค่อนข้างซับซ้อน เพราะทั้งสองไม่ได้รู้หนังสือมากนัก ดังนั้นการแพ้คดีของทั้งสองคนจึงส่งผลต่อความกังวลแก่ชาวเลหลายรายที่ถูกดำเนินคดี แต่เชื่อว่า หากในอนาคตการเคลื่อนไหวของชาวเลเข้มแข็ง อาจจะส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ อย่างไรก็ตามการต่อสู้เพื่อชาวลาที่ถูกดำเนินคดีที่เหลือนั้นโชคดีที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ดินเนื้อที่19ไร่ซึ่งดีเอสไอและคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ได้รายงานผลการตรวจสอบกระบวนการได้มาของเอกสารสิทธ์แล้วว่าออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ชาวเลจึงมีขวัญและกำลังใจมากขึ้น
วันเดียวกันที่ สำนักงานสมัชชาสุขภพแห่งชาติ (สช.) มีเวทีประชุมเสวนาทางวิชาการ กรณีปัญหาชาวเลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ โดยมติที่ประชุมลงความเห็นร่วมกันว่า จะร่างข้อเสนอเรื่องการสร้างเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม ให้ชาติพันธุ์ชาวเล เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนในด้านสิทธิที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ไม่ให้มีการคุกคามจากการพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง กระทั่งมีปัญหาข้อพิพาทที่ดิน และเกิดการคุกคามพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเลในแถบอันดามัน
พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล กล่าวในระหว่างการประชุมว่า คือ เรื่องที่ดินทำกินและอยู่อาศัยของชาวเลนั้น แทบไม่มีกฎหมายให้การคุ้มครองที่ชัดเจน มีเพียงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้นที่ประกาศเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษขึ้นมา แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ดังนั้นก้าวต่อไปของการแก้ปัญหา คือ การสร้างพื้นที่คุ้มครองอย่างจริงจังและผลักดันกฎหมายที่เอื้อต่อการแบ่งปันทรัพยากรเพื่อชนเผ่าพื้นเมืองที่มีบุญคุณต่อประเทศ เช่นกรณีที่เวียดนามนั้นมีกฎหมายที่ดีในการรองรับชนพื้นเมือง แม้ว่าที่ดินที่ชนพื้นเมืองอยู่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ตาม แต่ที่รัฐก็กันเขตให้ชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการชาวเลร่วมกับ สำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่12 พฤษภาคม นี้ตนจะเสนอที่ประชุมพิจารณาเรื่องพื้นที่คุ้มครองชาวเล
นาย ไมตรี จงไกรจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาชาวเลได้ยืดเยื้อมานาน ดังนั้นเมื่อเขตวัฒนธรรมพิเศษ ยังไม่เกิดขึ้นจริงสังคมไทยน่าจะมีการประกาศเขตคุ้มครองชาวเลชั่วคราวไปก่อน แล้วนำร่องขยายขอบเขตคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ
ขณะที่น.ส.กรรณิการ์ บันเทิงจิตร ตัวแทนจากสำนักงานสมัชชาสุขภาพ (สช.) กล่าวว่า ในการร่างข้อเสนอนี้เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อบรรเทาปัญหาการคุกคามชาวเลในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านชาวเลได้รับความเดือดร้อนหลายอย่าง อย่างกรณีหาดราไวย์ นั้นเจอทั้งทำร้ายร่างกาย ส่งผลกระทบทั้งทางกาย ทั้งใจ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ชาวเลในฐานะพลเมืองไทยต้องได้รับการคุ้มครอง แต่ในกฎหมายไม่มีการประกาศชัด ส่วนกฎหมายชนเผ่าพื้นเมืองก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นชนเผ่าที่ถูกคุกคามอย่างหนักต้องได้รับการแก้ปัญหาเร่งด่วน จึงเป็นการหาทางออกที่ดีในการประกาศเขตคุ้มครองฯ เพื่อปกป้องชาวเลจากภัยคุกคามจากภายนอก
ด้านดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ อาจารย์ประจำวิชาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องคติทางชาติพันธุ์ อยู่มาก ดังนั้นชาติพันธุ์ต้องพัฒนาท้องถิ่นหรือชุมชนให้มีมุมมองด้านบวกเพื่อเผยแพร่สู่สังคมมากขึ้น เช่น กรณีชาวปกาเกอะญอ ห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงปาเป้า จังหวัดเชียงราย นั้นมีการรูปแบบการจัดการป่าต้นน้ำและบริหารชุมชนเพื่อเป็นที่พักผ่อนจนมีชื่อเสียง ทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับจากสังคม และทุกคนก็เห็นป่าที่สมบูรณ์แบบชัดเจน แบบนี้สังคมจะยอมรับได้ ดังนั้นกรณีชาวเลส่วนตัวมองว่า ระหว่างการต่อสู้เรื่องที่ดินซึ่งหากข้อยุติยาก ชาวเลน่าจะต้องหาทางเผยแพร่วัฒนธรรม ทุกรูปแบบเพื่อบอกเล่าให้สังคมภายนอกรับทราบ อคติทางชาติพันธุ์ก็จะค่อยๆลดลงไปจากนั้นค่อยพัฒนากฎหมายเพื่อมาคุ้มครองดูแลต่อไป
ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิจัยจากสถาบันสังคมวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ชาวเลทั้งอันดามัน สามารถรักษาพื้นที่ทางวัฒนธรรมได้ คือ นโยบายท่องเที่ยว หากรัฐบาลไทยทบทวนใหม่ไม่มองแค่รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ไม่มองแค่ความคุ้มค่าเรื่องการประกอบการแต่หันมามองความยั่งยืนเช่น มองคุณค่าของสิ่งแวดล้อม กับคุณภาพชีวิตของชาวเลบ้าง จะช่วยบรรเทาปัญหาการคุกคามชาวเลมากขึ้น
“เรื่องที่ดินเราก็ต้องแก้ แต่เรื่องการท่องเที่ยวต้องไม่ลืม อย่างหลีเป๊ะ กับราไวย์ ชัดเจนมากว่า การท่องเที่ยวที่มีภาพ ผับ บาร์ สังคมตะวันตกที่มาเที่ยวเมืองไทยนั้น จะมีผลต่อการเลียนแบบของเยาวชนชาวเลอย่างไร พวกเขาต้องโตมากับอบายมุขใดบ้าง และถูกสังคมภายนอกกลืนกินวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง แทบไม่มีใครสนใจ ทุกคนมุ่งแต่นับเงินจากธุรกิจเที่ยว แบบนี้วัฒนธรรมชาวเลก็จะจางหายไป ถ้าวันนี้ไม่มีชุมชนที่คอยสอนภาษา วัฒนธรรมให้พวกเขา ไม่แน่ในอนาคตอาจไม่มีคนรู้จักชาวเลเลย” ดร.นฤมล กล่าว
ด้านนางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า เรื่องการแก้ปัญหานโยบายการท่องเที่ยว อาจจะร่างรายงานสภาพปัญหาแล้วเสนอต่อกระทรวงการท่องเที่ยวต่อไป แต่จะต้องผ่านการหารือกับสำนักนายกรัฐมนตรีก่อน โดยเบื้องต้นทางที่ประชุมในวันนี้จะสรุปข้อเสนอของที่ประชุมในการประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรม เพื่อเสนอต่อหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ที่จะเป็นประธานการประชุมในวันที่12พฤษภาคม นี้ให้ทางที่ประชุมใหญ่ได้รับทราบแล้วค่อยขับเคลื่อนนโยบายต่อไป