เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ( กสม) รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนจังหวัดสตูล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงยุติธรรม และตัวแทนชาวเลจากพื้นที่ต่างเข้าร่วมประชุมด้วย
สำหรับประเด็นหลักในครั้งนี้ คณะกรรมการชาวเลมีความคืบหน้ากรณีการแก้ไขปัญหาชุมชนชาวเลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยพันตำรวจโทประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ดินที่กำลังเป็นข้อพิพาทระหว่างบริษัทบารอน เวิร์ลเทรด จำกัด และชุมชนชาวเลราไวย์นั้นล่าสุดทาง ดีเอสไอ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเพิ่มเติม แล้วอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศปี 2510 แล้วพบว่า เส้นทางเดินสู่ คลองหลาโอน และพื้นที่บาไลย์ ของชาวเลนั้นมีมาก่อนการออกโฉนด แต่ทางดีเอสไอต้องมีการสืบพยาน หลักฐานเพิ่มเติมว่า เส้นทางเดินดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์โดยชาวเลในอดีตมาก่อนการออกโฉนดหรือไม่ ซึ่งระหว่างการสอบสวน สืบสวน นั้นทางดีเอสไอจะขอสารระบบที่ดินมาเพิ่มเติม แต่เพื่อไม่ให้มีการปรับปรุงพื้นที่จากบริษัทฯ ทางดีเอสไอ จะเสนอตัวเป็นผู้เบิกความรายงานความคืบหน้าเพื่อคุ้มครองพื้นที่ทางเดินไว้ก่อน
ส่วนกรณีชาวเลหลายๆคนที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในแปลงที่ดิน19ไร่ ดีเอสไอยินดีเป็นผู้เบิกความถึงรายงานการพิสูจน์หลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งเชื่อว่าศาลจะพิจารณาอย่างมีเหตุผลและชาวเลรายใดที่อยู่ในแปลงซึ่งดีเอสไอพิสูจน์หลักฐานโบราณคดี มีโอกาสชนะคดีได้ แต่รายที่อยู่จากแปลงที่ดินที่ไม่มีการพบหลักฐานการมีอยู่มาก่อนของชุมชนนั้นยอมรับว่าเรื่องนี้ต้องแล้วแต่การไต่สวนของศาลและหลักฐานอื่นที่ชาวบ้านนำมาอ้างอิง
นายนิรันดร์ หยังปาน ตัวแทนชุมชนราไวย์ กล่าวว่า การฟ้องร้องที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ชาวเลเกิดความหวาดกลัว โดยเฉพาะรายล่าสุดที่แพ้คดีในชั้นศาลฎกา เมื่อวันที่10 พฤษภาคม 2559 ได้แก่นายอานัน บางจาก และนายมะเหร็น บางจาก นั้นขณะนี้ก็คิดหาทางออกโดยไม่รู้ว่าอนาคตจะทำอย่างไร
นายจำนง จิตนิรัตน์ อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า กรณีชาวเลทั้ง2 รายที่แพ้คดีนั้น ขณะนี้ถูกบังคับคดี แต่พบว่าปัญหาของชาวเลทั้ง2 รายคือ มีบริวารรวมกันมากถึง 20 คน มีลูกหลานหลายคน ดังนั้นการหาที่อยู่ใหม่สำหรับชาวเลที่แพ้คดีที่เคยอาศัยอยู่ในชุมชนราไวย์ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งหากแก้ปัญหาราไวย์ไม่ได้ เชื่อว่า ปัญหาอื่นๆของชาวเลในอันดามัน ก็จบยากเช่นกัน ดังนั้นต้องเร่งหาทางออกสำหรับชาวเลที่มีปัญหาในราไวย์โดยด่วน ซึ่งเบื้องต้นตัวแทนองค์การพัฒนาเอกชน นักวิชาการบางส่วนได้เสนอให้มีการประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรมชาติพันธุ์ขึ้นมา เพื่อคุ้มครองชาวเลที่ถูกดำเนินคดี
นางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ ประธานคณะกรรมการอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วงที่สุด คือ ชาวเลที่ถูกดำเนินคดีที่ราไวย์นับร้อย จะมีชีวิตอย่างไรต่อไป หากศาลตัดสินในภายหลังแล้วชาวเลแพ้คดี ส่วนตัวมองว่าเนื้อที่19ไร่ กว่า น่าจะได้รับการแก้ปัญหาแล้วเสร็จก่อน ส่วนของบารอนฯ ก็รอกระบวนการตรวจสอบต่อไป เพราะชาวเลพื้นเมืองก็เป็นชาติพันธุ์ที่อ่อนไหวมาก และประเทศไทยก็ถูกตั้งคำถามเรื่องสิทธิมนุษยชนมาหลายครั้ง ชาวเลเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่น่าเห็นใจ และควรได้รับการคุ้มครอง
นายไมตรี จงไกรจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน กล่าวว่า กรณีราไวย์ คือชาวบ้านตั้งใจจะฟ้องศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม ซึ่งตอนนี้ นักกฎหมายก็เร่งรวบรวมข้อมูลอยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ ซึ่งกรณีที่ดินเนื้อที่19ไร่ที่มีการพิสูจน์แล้วว่าออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายควรมีการเพิกถอนอย่างจริงจังเสียที
ทั้งนี้นอกจากความคืบหน้าและข้อเสนอทางออกกรณีชาวเลราไวย์แล้ว ที่ประชุมยังได้นำเสนอความคืบหน้าประเด็นชาวเลเกาะหลีเป๊ะ กับการปิดเส้นทางเข้าออก สู่หาดสาธารณะ และการบังคับคดีให้ไล่รื้อ
โดยนางแสงโสม หาญทะเล กล่าวว่า ช่วงนี้กรณีที่ดินหลีเป๊ะ เน้นที่การไกล่เกลี่ย ซึ่งพอจะช่วยให้ชุมชนมีเวลาในการรวบรวมเอกสาร หลักฐานเพื่อยืนยันการตั้งถิ่นฐานในอดีตบ้าง แต่หลายคนกังวลว่าจะแพ้คดีเช่นกัน เพราะการครอบครองที่ดินหลีเป๊ะมีความซับซ้อน
พันตำรวจโทประวุธ กล่าวว่า ในการตรวจสอบที่ดินเกาะหลีเป๊ะนั้นพบว่า มีการแจ้งครอบครองเกินกว่าเอกสารกำหนด และพบว่าบางแปลงที่มีคนอ้างครอบครองที่ดินงอกเข้าไปรวมอยู่ในเอกสารสิทธิ บางแปลงครอบครองซ้อนอยู่ในพื้นที่สีเขียวที่เป็นป่า จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากกรมอุทยานฯ เพื่อศึกษาแผนที่ของกรมฯ ว่ามีแปลงใดเป็นเขตของอุทยานฯเพิ่มเติม โดยหลังจากนี้ ดีเอสไอจะขอให้อุทยานฯ ส่งเอกสารเพื่อทำการพิสูจน์ต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า มีกรณีรุกป่าเยอะ โดยหากวันหนึ่งถ้าผลการพิสูจน์ชัดเจนแล้ว พื้นที่สีเขียวที่มีก็กลายเป็นที่ดินของรัฐ แต่หน่วยงานรัฐจะอนุมัติให้ชาวเลใช้ประโยชน์ต่อไป หรือให้ใครใช้ประโยชน์ก็แล้วแต่จะพิจารณา
ตัวแทนกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานอุทยานในพื้นที่ เคยแจ้งดำเนินคดีกับเอกชนที่ปล่อยที่ดินให้ต่างชาติเช่าเพื่อประกอบกิจการบนเกาะหลีเป๊ะแล้ว โดยเน้นที่ดินที่งอกออกมาจากทะเล รวมทั้งฟ้องศาลชั้นต้นจังหวัดสตูลแล้วแต่ศาลไม่รับฟ้อง ซึ่งหากดีเอสไอจะเข้ามาร่วมพิสูจน์เพิ่มเติมก็น่าจะเป็นผลดี เพราะเกาะหลีเป๊ะนั้นมีการทำรังวัดที่ซับซ้อน
/////////////////////////////////