ภายหลังประเทศไทยประสบภัยสึนามิ ข่าวคราวชาวเลจำนวนไม่น้อย ปรากฏขึ้นในสังคมไทยทั้งในแง่วัฒนธรรม ภูมิปัญญาและความเชื่อ กระทั่งกลายเป็นชาติพันธุ์ที่สื่อทั่วโลกให้การยอมรับว่าสามารถรอดชีวิตจากคลื่นยักษ์ได้มากที่สุด แต่ต่อมาเรื่องราวความประทับใจของชาวเลค่อยๆจางหายไป ข่าวคราววัฒนธรรมประเพณีที่เคยปรากฏในสื่อลดลงไปตามกาลเวลา เหลือเพียงข่าวคราวความขื่นขม ความเจ็บปวดของชาวเลที่เกิดขึ้นในชุมชนชาวเลเท่านั้น เช่น กรณีชาวเลไร้ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ไร้ที่ทำกิน และสูญเสียพื้นที่ทางจิตวิญญาณ อันเกิดขึ้นเนื่องจากข้อพิพาทที่ดินในพื้นที่ 5 จังหวัดอันดามัน ได้แก่ พังงา ระนอง สตูล ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งชุมชนชาวเลแทบทุกพื้นที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามสารพัดอาทิ อาชญากรรมจากบุคคลนิรนามที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดยเอกชนและรัฐ ซึ่งส่วนมากคู่กรณีแทบจะไม่ปรากฏตัวเพื่อไกล่เกลี่ยเอง แต่จะส่งตัวแทนพนักงานหรือ ทนาย รวมถึงเจ้าหน้าที่บังคับคดีเข้ามาเจรจาแทน
บัญชา หาดทรายทอง หนึ่งในชาวเลอูรักลาโว้ย จังหวัดภูเก็ต ให้ความเห็นต่อกรณีตัวตนและความสำคัญของชาวเลว่า เมื่อไม่นานมานี้เขาและสมาชิกชาวเลหลายคนตั้งวงประชุมกันเพื่อหารือแนวทางการต่อสู้ของชาวเล กรณีบริษัทเอกชนพยายามปิดทางเข้าออกหาดสาธารณะและการก่อสร้างทับบาไล พื้นที่จิตวิญญาณอันสำคัญของชาวเลที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต นับเป็นการทำซ้ำๆ เพื่อเคลื่อนไหวประเด็นชาวเลสู่สังคม ทุกครั้งที่มีการร้องเรียนปัญหาเครือข่ายชาวเล จะนำมติคณะรัฐมนตรี เมื่อมิถุนายน 2553 ที่ประกาศให้มีเขตวัฒนธรรมพิเศษชาวเลเพื่อคุ้มครองชุมชน แต่มติดังกล่าวกลับไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะสิ่งที่ชาวเลเผชิญ คือ การขับไล่จากนายทุนรายใหญ่ประจำเกาะแต่ละแห่ง
“สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ คือ เดินหน้าแสดงร็องเง็ง ต่อไป ทำพิธีแบบความเชื่อดั่งเดิมของชาวเลต่อไป มีงานลอยเรือทุกๆปี เพื่อประกาศว่าเรายังมีตัวตนกันอยู่เหมือนเดิม แต่ว่าทุนเขาไม่เอาเรา รัฐก็ไม่จริงจังกับการช่วยเหลือเรา แต่เราไม่หยุด เรายังประกาศให้สังคมรู้ต่อไปว่า ชาวเลมีอยู่จริงและเราขอสงวนพื้นที่เพื่อชาติพันธุ์เราบ้าง เราอยากให้รู้ว่าหลังประเทศไทยเกิดคลื่นสึนามิมานานกว่า11ปีแล้ว ปีแรกๆ หลังสึนามิสงบเราเป็นฮีโร่ ทุกคนเชิดชูภูมิปัญญาเรา พูดถึงเรา แต่พอนานไป ก็ลืมเรา ขอแค่นโยบายเล็กๆที่จะคุ้มครองชุมชนให้ยั่งยืนเรื่องที่อยู่ ที่ทำกินยังขอแสนยากลำบาก เหมือนทุกๆวันนี้ เราเข้าถึงสิทธิพลเมืองไทยน้อยลงทุกที” บัญชาเปรียบเทียบถึงความเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคม
ปัญหาสิทธิด้านที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและสิทธิอื่นๆของชาวเล ถูกทุนรุกคืบเอาเปรียบทุกมิติส่งผลให้ชีวิตของชาวเลไม่สุขสงบเหมือนอดีต ซึ่งบัญชามองว่า กรณีข้อพิพาทที่ดินที่เกิดขึ้นมายาวนาน หลายฝ่ายให้ความสำคัญกับเอกสารสิทธิ์และไม่มองความมีตัวตนของชาวเล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในอดีตคนมีการศึกษารู้และเข้าใจภาษาไทยทั้งในท้องถิ่น ต่างถิ่นล้วนให้ความสำคัญกับการสร้างหลักฐานเพื่อครอบครอบครองที่ดิน แล้วใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกให้ชาวเลยอมลงนามมอบให้ การสื่อสารในอดีตค่อนข้างยากเพราะชาวเลไม่ได้มองใครเป็นศัตรูและไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นชาติพันธุ์ที่ถูกลืม
หลายครั้งที่เราได้ยินเรื่องการเรียน การสอนแบบบูรณาการระหว่างเรื่องราวท้องถิ่นกับหลักสูตรการศึกษาสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยซึ่งหนึ่งในรูปแบบการสอนดังกล่าวนั้น “ครูแสงโสม หาญทะเล” แม่พิมพ์ชาวอูรักลาโว้ย แห่งโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง-หลีเป๊ะ จังหวัดสตูล มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี และพยายามผลักดันอัตลักษณ์ของกลุ่มอูรักลาโว้ยสู่สาธารณะ รวมทั้งรักษาไว้ซึ่งภาษา วัฒนธรรม ความเป็นคนไทยอูรักลาโว้ยให้ยั่งยืนนั่นเพราะครูสาวคนนี้เล็งเห็นว่า การศึกษาทั้งรากเหง้าของชาติพันธุ์จะช่วยให้คนรุ่นใหม่มีความรัก ความหวงแหนในท้องถิ่นมากขึ้น ส่วนการศึกษาสมัยใหม่ช่วยส่งเสริมให้เยาวชนรู้เท่าทันสังคม และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกขณะ เพราะในอดีตชาวเลเชื่อคนง่ายเนื่องจากอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่มีความรู้ พอมีใครบอกอะไรก็จะเชื่อ ส่งผลให้ปัญหาต่างๆ เข้ามารุมเร้าโดยเฉพาะเรื่องที่ดินซึ่งถูกรุกล้ำจากนายทุน นักธุรกิจด้านการท่องเที่ยว แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงชาวเลก็ต้องปรับตัว
ปัจจุบันนี้เกาะหลีเป๊ะ กลายเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น ชายหาดที่เคยนิ่ง สงบ และเป็นพื้นที่หากินของชาวเลอูรักลาโว้ย เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างที่ผู้ประกอบการสรรหามาเพื่อสนองตอบต่อผู้มาเยือน จนแทบไม่มีใครนึกถึงกลุ่มชาวเลผู้บุกเบิกที่อาศัยอยู่บนเกาะกว่า1,300 ชีวิต แต่ท่ามกลางความเจริญที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่องราวดีๆของชาวเลก็ยังมีให้พบเห็น เช่น บรรยากาศในโรงเรียนบ้านอาดัง ฯ ยังมีกลิ่นอายการเรียน การสอน “วิชาอัตลักษณ์ชาวเล” เป็นวิชาเพิ่มเติมเปิดสอนนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งเปิดสอนทั้งความรู้ด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ต้นกำเนิด การตั้งหลักแหล่งของชาวเลอูรักลาโว้ยและเหตุการณ์สำคัญในยุคสมัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวเล รวมทั้งสอนทักษะชีวิตความเป็นอยู่และภาษาของชาวเลอูรักลาโว้ย ประเพณีวัฒนธรรม เช่น รองเง็ง ของชาวเลในอดีตจนถึงปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการประกอบอาหารพื้นบ้านของชาวเลในอดีตจนถึงปัจจุบันทางโรงเรียนก็ยังเปิดสอนเป็นประจำเพื่อให้เยาวชนนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งแต่ละครั้งที่มีโอกาสในนำเสนอเรื่องราวของชาวเล ครูแสงโสมมักย้ำเสมอว่า การเรียนการสอนที่เป็นอยู่ช่วยให้ลูกหลานชาวเล มีโอกาสได้เรียนรู้โลกกว้างและอาจส่งเสริมให้มีคนรุ่นใหม่ร่วมเติบโตมาพัฒนาท้องถิ่นให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
“ทุกวันนี้การแสดงของเด็กๆ นอกจากจะแสดงตามงานเทศกาลสำคัญต่างๆของเกาะแล้ว ยังมีการแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยวตามโรงแรม ที่พักหลายแห่งด้วย อย่างน้อยก็ช่วยบอกคนมาเที่ยวว่า ที่นี่คือชุมชนชาวเล ที่นี่มีร็องเง็ง” ครูแสงโสม กล่าว
นอกจากความตั้งใจพัฒนาด้านการศึกษาและมุ่งเผยแพร่วัฒนธรรมชาติพันธุ์โดยเครือข่ายชาวเลแต่ละพื้นที่แล้วบนเกาะหลีเป๊ะ ยังมีความร่วมมือพัฒนาโครงการ “อูลักลาโว้ย” หรือ “Project Uraklwoi” ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างตัวแทนชาวเลโดยครูแสงโสม , นิวัฒน์ ลีกัง ผู้ประกอบการซานอม บีช และนายเฮ๊ยะจัน ไพรเดอร์ หรือสมชาย (Geertjan Preyde ) อาสาสมัครชาวเนเธอแลนด์
สมชาย เล่าว่า โครงการอูลักลาโว้ย เป็นโครงการเล็กๆในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเลบนเกาะ โดยการรวมตัวของผู้ประกอบการที่พัก ร้านอาหาร หรือธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวเช่น เรือดำน้ำ เรือประมง ฯลฯ ที่เป็นชาวเลเข้ามาเป็นเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม รวมทั้งมีการเปิดขายโปสการ์ด ของที่ระลึก ซึ่งผลิตโดยชาวเลบนเกาะเพื่อสมทบทุนให้กลับคืนสู่ชาวเล อย่างน้อยรายได้ก็ไม่ไหลไปสู่คนภายนอกฝ่ายเดียว
“คือผมรู้จักเกาะหลีเป๊ะมานานว่า 30 ปีแล้วแรกๆผมมา ชาวเลเขามาต้อนรับผมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ผมจะให้เงินเขาก็ไม่มีใครเอา แต่ช่วงแรกที่ผมมาก็มาอยู่นานมากราว 3เดือนก่อนกลับเนเธอแลนด์ผมก็เลยจ่ายเงินให้พวกเขาจำได้ว่าตอนนั้นจ่ายไปราว 20 ยูโร (800 บาท) แต่ชาวบ้านก็เอามาคืนผม น้ำใจจากชาวเลตอนนั้นผมยังจำได้ดี และสัญญากับตัวเองว่าจะมีน้ำใจต่อพวกเขาให้เหมือนที่เขาแสดงต่อผม เขาเรียกผมว่าสมชายเพราะมันง่าย ผมก็ได้ชื่อนี้มานานแล้ว ผมชอบชื่อนี้เพราะชาวเลเรียกผมแบบนี้ จากนั้นทุกๆปีผมกลับมาที่นี่เพื่อช่วยก็เคยคุยกับชาวเลเสมอว่า ที่ดินคือสิ่งมีค่า ต้องรักษาไว้ ชาวเลเขาก็ขำๆตอนนั้น บอกว่าผมพูดตลกไป ที่ดินเป็นของชาวเลใครจะมาเอา มาแบกไปได้ ผมก็ดีใจที่ได้ยินแบบนั้น แต่แล้ววันนี้ก็มาถึง วันที่ชาวเลไม่มีที่อยู่ ผมคิดช้าไปหน่อยเรื่องโครงการอูรักลาโว้ย แต่แล้วมันก็เกิดขึ้น ครูแสงโสมช่วยได้เยอะมาก เธอคิดเสมอว่าชาวเลควรรวมตัวกันทำโฮมสเตย์ในทุกๆครัวเรือน ทำอาหารพื้นบ้านรับแขกที่มา และนำเสนอความรู้เกี่ยวกับชาวเลบ้าง พวกเราจึงทำโครงการร่วมกันแน่นอนว่ามันเพิ่งเปิดได้ไม่ถึง 1ปี แต่จะพัฒนาต่อไป เพราะผมเชื่อว่าถ้าชาวเลเข้มแข็ง หลีเป๊ะก็เข้มแข็ง” สมชาย อธิบายที่มา
นิวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการฯ ย้อนอดีตว่า แต่เดิมชาวลูรักลาโว้ยมีเรือเชียงที่ใช้สัญจรไปมา เป็นเรือที่มีไม้พายสองข้าง ชาวเลที่ออกเดินทางเป็นครอบครัวบางคนจะใช้เรือลำนี้เพื่อไปเยี่ยมญาติ แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว ทางโปรเจคอูรักลาโว้ยจึงสร้างเรือจำลอง ขึ้นมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวอย่างน้อยก็เป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มอูรักลาโว้ย
“ของมอแกนเขามีพื้นที่แสดงเรือก่าบาง ใช่ไหมของอูรักลาโว้ยก็มีเรือเชียง เรายังไม่มีพิพิธภัณฑ์หรอก แต่วันนี้เรามีพื้นที่เล็กๆ ไว้เป็นคล้ายๆ สหกรณ์ของชาวเลหลีเป๊ะก่อนก็ดีแล้ว ไม่งั้นนะทั้งเกาะจะเป็นของคนอื่นถ้าเราไม่มีแผนรุกเพื่อปรับตัวกับยุคสมัยบ้าง เพราะธรรมชาติของนายทุนเมื่อเขาเห็นเราล้มเหลว เราไม่เข้มแข็งเขาก็จะเข้ามาซื้อกิจการเราแล้วยึดของเราทันที อย่างที่พักของผม ซานอมบีชนี้ หลายคนจ้องจะซื้อขู่ว่ารัฐจะมายึดบ้าง อ้างเหตุผลการลงทุนบ้าง ผมก็ไม่สนยังตั้งใจจะทำเอง มีเงินแค่ไหนก็บริการนักท่องเที่ยวแค่นั้น เดิมทีผมอยู่บ้านเป็นกระท่อมเล็กๆ แขกมาขอพักก็แบ่งห้องเล็กๆให้พัก ไม่มีพัดลม ไม่มีอะไรเลย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้เราต้องมีอินเตอร์เน็ต มีนั่น นี่ให้ แต่ถามว่าคนที่มาเกาะไม่อยากสะดวกมีไหม มีนะเขาแค่อยากมาดำน้ำ มานอนหาดเราก็มีห้องแบบนั้นบริการให้ แต่บริการในรูปแบบโฮมสเตย์ ซึ่งผมอยากบอกว่า ชาวเลไม่ว่าใครก็ตามมีอะไรเอามาเถอะ เอามาอวดกันมาเดินโครงการพร้อมกัน มีห้องเปิดห้อง มีเรือก็ทำเรือรับจ้าง ซึ่งพอมีศูนย์กลางเป็นปึกแผ่นแบบนี้จะทำงานง่ายขึ้น เรากระจายลูกค้าให้กันและกันได้ แล้วต่อไปหากมีเรื่องทุกข์ร้อนอะไรเราก็มีกองทุนสำรองที่ไว้ดำเนินการได้ ” นิวัฒน์ กล่าว
ไม่ว่าในอนาคต การพัฒนาบนเกาะหลีเป๊ะจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่วันนี้พัฒนาการของชาวเลมีอีกหนึ่งโครงการดีๆ เพื่อท้องถิ่นให้เห็นแล้ว อย่างน้อยการรวมตัวของชาวเลแต่ละที่ก็ช่วยสร้างศูนย์รวมองค์ความรู้เกี่ยวกับชาวเลที่สามารถเผยแพร่สู่สาธารณะได้ โดยไม่ต้องพึ่งพานโยบายจากภาครัฐ และนี่อาจเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษชาวเลเล็กๆ ที่เกิดขึ้นแล้วและจะพัฒนาต่อไป
*****
อนึ่ง สนใจเยี่ยมชมโครงการอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะสามารถเข้าไปชมได้ที่ http://www.sanombeachlipe.com/#!project-urak-lawoi/c1vds และเฟสบุ๊ค Project Urak Lawoi – Koh Lipe’s Heritage : https://www.facebook.com/Project-Urak-Lawoi-Koh-Lipes-Heritage-402392326476605/?fref=ts สำหรับผู้ที่สนใจสมทบทุนเพื่อการต่อสู้ทางที่ดิน ที่ทำกินเพื่อชาวเลเกาะหลีเป๊ะ สามารถสมทุบทุนได้ที่ บัญชี “ชมรมอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ ธนาคารออมสินสาขาจังหวัดสตูล เลขที่บัญชี 02-01264-26152