Search

ปิดตายหรือแกล้งตาย “เหมืองทอง”

received_1109457035764247

การประกาศปิดเหมืองทองคำของบริษัทอัครา รีสอร์สเซส ภายในสิ้นปี 2559 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา เรียกคะแนนนิยมจากประชาชนที่ต่อต้านการทำเหมืองจำนวนไม่น้อย แต่ต้องยอมรับว่า คำสั่งปิดเหมืองครั้งนี้มีความคลุมเครืออย่างมาก เพราะนอกจากไม่ประกาศยุติการทำเหมืองทันทีแล้ว ยังขยายเวลาใบอนุญาตไปจนถึงสิ้นปี 2559 ด้วย อีกทั้งในการแถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ยังไม่มีฝ่ายใดกล่าวถึงรายละเอียดเรื่องนโยบายการเดินหน้าเปิดสัมปทานแร่ในพื้นที่ใหม่และไม่มีการกล่าวถึงความคืบหน้าของ ร่าง พรบ.แร่ พ.ศ….ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไข ปรับปรุงเนื้อหาเพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งผลให้นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน และชาวบ้านหลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามกลับว่า เหตุใดรัฐบาลเลือกวิธีนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการประกาศเปิดสัมปทานรอบใหม่ถึง 300 แปลงใน อีก 12 จังหวัดของประเทศไทย ซึ่งนโยบายนี้เสนอโดยรัฐมนตรีในยุค คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ลาออกจากคณะกรรมการเหมืองแร่ได้เพียง 7 วัน มีบริษัทที่พร้อมจะลงทุนหลายบริษัทรวมทั้งบริษัทใหญ่อย่างบริษัททุ่งคำ ที่ประกอบกิจการเหมืองทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และบริษัท อัคราฯ ด้วย เป็นเหตุให้เกิดการเดินขบวนประท้วงของชาวบ้าน และนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการระดับชาติตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

received_1109457009097583

อีกตัวการหนึ่งทำหน้าที่ให้สิทธิเอกชนขุดแร่ทั่วไทยและผุดใหม่เต็มแผ่นดินอีสาน คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ “กพร.” ผู้มีอำนาจตัดสินใจรับผิดชอบการออกประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม เป็นหน่วยงานที่จะได้รับเงินอุดหนุนพิเศษตลอดอายุประทานบัตร ซึ่งภาพที่ฉายได้ชัดเจนถึงความไม่จริงจัง ไม่จริงใจของ กพร. คือ ช่วงที่สั่งหยุดการประกอบโลหะกรรมชั่วคราว หลังนักวิชาการตรวจพบโลหะหนักในร่างกายชาวบ้านรอบเหมืองอัคราฯ กพร.เองก็ตุกติกไม่น้อยในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อกรณีการเปิดเหมืองรอบใหม่ ซึ่งผลคือ สุดท้ายฝ่ายทุนชนะ ส่วนชาวบ้านเดินสายร้องขอชีวิตตั้งแต่หน่วยงานรับผิดชอบด้านสุขภาพ ยันหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม และยังต้องเดินหน้าค้านนโยบายสัมปทานรอบใหม่กันระลอกใหญ่ เพราะแว่วว่าหลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีสิทธิถูกเพิกถอน เอามาเป็นแหล่งขุดแร่ หากสำรวจพบแล้วมูลค่าทางเศรษฐกิจนั้นดูแล้วคุ้มค่า

ข่าวสั่งการปิดเหมืองอัคราฯ รอบนี้ “อารมณ์ คำจริง” ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มคัดค้านเหมืองทอง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก จึงมองว่า การกระทำของรัฐบาลชุดนี้เป็นเหมือนหมาแกล้งตาย ยังไม่ตายจริงๆ ต้องรอดูไปก่อนว่า การเมืองเปลี่ยน แล้วนโยบายเหมืองจะเปลี่ยนหรือไม่ เพราะครั้งนี้บริษัท อัคราฯ ก็มีเวลาไปอีกนานถึง สิ้นปีและเชื่อว่าการเดินหน้าของเอกชนทำเหมืองไม่ยุติเท่านี้

“เราขอบคุณรัฐบาลที่ยอมประกาศอย่างนั้น แต่เราไม่ได้ไว้ใจการตัดสินใจครั้งนี้เพราะ เรายังห่วงป่า ห่วงพื้นที่เกษตรอยู่ และห่วงเรื่อง พรบ.แร่อยู่ เราสงสัยมาตลอดว่าทำไมเขายังไม่ยอมแยกทองออกมาจากเหมืองอื่น คือนายกรัฐมนตรีพูดแบบนี้เราก็ชื่นชม แต่มันยังไม่แน่ใจไง ว่าเขาจะหยุดไหม เพราะเห็นเขาติดป้ายระเบิดอยู่เรื่อยๆ เราไม่รู้ไง ที่ผ่านมาเขาก็โดนสั่งปิดเพราะพบผักเปื้อนพิษ พบคนป่วย มีโลหะหนัก ก็ไม่เห็นเขาหยุดนะ แล้วจะให้เราตายใจเลยมันก็ไม่ได้ ” อารมณ์ แสดงความคลางแคลงใจต่อการประกาศหยุดเหมืองอัคราฯ ของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี

อารมณ์ ย้ำด้วยว่า ประเด็นที่ทางรัฐบาลสั่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ตนไม่มีความหวังใดๆ ทั้งสิ้น เพราะ บริษัทฯ พยายามรายงานว่า กระบวนการทำเหมืองปลอดภัย ไร้ผลกระทบ อีกทั้งยังจ้างนักวิจัยจากภายนอกเข้าไปตรวจหาสารพิษ เข้าไปวิเคราะห์ศึกษามาตรฐานการทำเหมืองด้วยทุนของบริษัทฯ เองด้วย ดังนั้นผลตรวจที่พบประชาชนก็แทบไม่ได้รับรายละเอียด และมีสิทธิตรวจสอบเลยด้วยซ้ำ ความเป็นไปได้ในการเยียวยาจึงยากมาก แต่ในเมื่อรัฐบาลกล้าประกาศออกมาแล้ว เครือข่ายชาวบ้านก็จะเดินหน้าคัดค้าน พรบ.แร่ และเคลื่อนไหวเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป

ไม่ใช่แค่ท่าทีของฝ่ายประชาชนเท่านั้นที่ยังไม่ไว้ใจรัฐบาล ฝ่ายเอกชนผู้ประกอบการเองก็ยังไม่เคยได้รับรู้ถึงสัญญาณการสั่งปิดเพราะบริษัทได้ส่งเอกสารให้ กพร.พิจารณา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ 2559 แล้วยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ แต่ยืนยันว่ายังอยู่ในอายุประทานบัตรอยู่ถึงปี 2571 เพราะมีการรายงานปริมาณแร่สำรองตั้งแต่ต้น ซึ่งหมายความว่ามีสิทธิขุดแร่ออกมาตามกำหนด อาจจะเสร็จก่อนหมดอายุกี่เดือนก็ได้ แต่ในส่วนของใบอนุญาตนั้นต้องต่อเพื่อการเปิดโรงถลุง หรือโรงประกอบโลหะกรรม ซึ่ง “นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ” ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัคราฯ ระบุว่า กรณีนี้ถ้าบริษัทฯ ได้พบว่ามีทอง มีสิทธิ์ในทองที่ขอประทานบัตรมา แล้วไม่มีโรงระถลุงแร่ จะให้เอาทองที่ขุดไปไว้ที่ใด ดังนั้นจึงยืนยันว่า คำสั่งจะมีผลต่อเมื่อ กพร.ทำหนังสือยืนยันรายละเอียดว่า คำขอต่อไปอนุญาตที่บริษัทส่งไป กพร.คิดเห็นอย่างไร โดยทางบริษัทฯ จะรอคำตอบ

received_1109457025764248

ขณะที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ( พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์) ลุ้นการปิดฉากของเหมืองทองอัคราฯ ชาวบ้านตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ยังคงต้องต่อสู้กับการปกป้องพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ป่าสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) ภายหลังบริษัททำเหมืองขอต่ออายุเพื่อกิจการเหมืองแร่ ซึ่งในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล( อบต.) เขาหลวง สมัยที่2ปี2559 นี้ มีวาระดังกล่าวเพื่อพิจารณาด้วย

การประชุมดังกล่าวนับเป็นชนวนก่อเหตุให้ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านเหมือง โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดในพื้นที่ตำบลเขาหลวง เกิดการปะทะกันส่งผลให้การประชุมสภา อบต.ต้องล่มอีกครั้ง โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยืนยันว่าเจตนารมณ์ของชาวบ้านที่ต่อต้านเหมือง คือ เสนอให้ปิดเหมืองฟื้นฟูและยืนยันไม่สนับสนุนการสัมปทานหรือการต่ออายุกิจการเหมืองทองในพื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่ สปก. และเรียกร้องให้บริษัททุ่งคำ พร้อมทั้งสมาชิก อบต.ยอมรับใน มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ให้ยุติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศเพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นี้

พรทิพย์ หงส์ชัย ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจกับพี่น้อง จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก มากที่รัฐบาลยอมประกาศให้บริษัทอัคราฯ ดำเนินการได้แค่ถึงสิ้นปี แต่ลึกๆ ในหัวใจมองว่า นั่นไม่ใช่สัจจะสัญญาที่ชาวบ้านควรไว้ใจ ทั้งนี้ตนไม่แน่ใจว่าคำว่าสั่งปิดเหมืองของรัฐบาลนั้นจริงจังแค่ไหน เพราะอย่างกรณีตำบลเขาหลวง นั้นหน่วยงานรัฐอ้างเสมอว่าเหมืองยุติการทำงาน แต่ชาวบ้านยังเห็นและได้ยินเครื่องจักรเข้าทำงานทุกคืน สังคมพยายามจะเชื่อว่าเหมืองหยุดทำงาน แต่คนในพื้นที่ยืนยันว่าการหยุดประกอบการไม่มีจริง

“พวกเราชาวเขาหลวง เราเจ็บปวดจากเหมืองทองไม่น้อยกว่าชาวบ้านที่พิจิตร ที่ชุมชนมีคนเจ็บ ป่วย ล้ม ตาย ดังนั้นความไม่ประมาทในหน้าที่ปกป้องชุมชนควรทำต่อไป เราวางมือแค่นี้ไม่ได้ คือไม่ให้เราตั้งคำถาม ไม่ให้เราระแวงได้ไง ในเมื่อสองสามวันที่แล้วประกาศหยุดเหมืองที่เหนือ แต่ที่เลยดันจะเอาพื้นที่ป่ามาใช้เพื่อสำรวจแร่เพื่อขุดแร่ต่อ มันยุติธรรมตรงไหน ถามว่าตอนนี้เราพึ่งอะไรรัฐได้บ้าง เราตอบไม่ได้ แต่เราต้องวิจารณ์กันตรงๆว่า กรณีจังหวัดเลยนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐไม่มีทางเลือกชาวบ้านหรอก ซึ่งเราภาวนาว่า กรณีพิจิตรนั้นชาวบ้านจะไม่ถูกหลอก ” พรทิพย์ แสดงความคิดเห็น

ไม่ใช่แค่ความพยายามในการต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนเท่านั้นที่ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต้องเตรียมความพร้อม และเตรียมรับมือกับท่าทีของ อบต.เขาหลวงในฐานะหน่วยงานของรัฐกับบริษัทประกอบกิจการเหมืองทอง แต่ยังมีอีกประเด็นที่น่าลุ้น เนื่องจากวันที่ 16 พฤษภาคม นี้ครบรอบ 2ปีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดถูกชายฉกรรจ์รุมทำร้าย และศาลจังหวัดเลยนัดพิพากษาคดีดังกล่าว โดยสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเตรียมจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญแก่สมาชิกที่เจ็บตัวกับเหตุการณ์รุนแรงในเช้าวันที่ 15 พฤษภาคม ส่วนวันที่16 พฤษภาคม ชาวบ้านจะร่วมเดินทางไปเป็นกำลังใจแก่กันที่ศาลจังหวัดเลย

กรณีเหมืองทองทั้งสองพื้นที่ของบริษัทเอกชนรายใหญ่ นับเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างทุนกับชุมชนอย่างมาก ดังนั้นสังคมต้องจับตาดูว่า สัจจะที่รัฐออกคำสั่งปิดเหมืองอัคราฯภายในสิ้นปีจะเป็นอย่างไร ส่วนกรณีจังหวัดเลยคงต้องลุ้นว่า ศักยภาพของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
——————

โดย จารยา บุญมาก
///////////////////////////////////////

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →