เมื่อเร็วๆนี้ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และภาคีเครือข่าย จัดเสวนาเรื่อง “คน ป่า ช้าง…ความอยู่รอดท่ามกลางภัยแล้ง” เพื่อนำเสนอข้อมูลและขยายผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า โดยมี ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. นักวิจัยชาวบ้าน และนักวิชาการ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้นประเทศมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเกิดขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้หลายภาคส่วนได้พยายามหาวิธีในการแก้ปัญหา สกว. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา “คน ช้าง ป่า” ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงสนับสนุนโครงการ “การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายผลงานวิจัยเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างราษฎรกับช้างป่า” ขึ้น ซึ่งเป็นการยกระดับงานวิจัยและขยายผลการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง รวมทั้งเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาคนกับช้างและป่าร่วมกันในหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ด้านนายชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม และศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ภาคตะวันออก ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ซึ่งแกนนำชุมชนได้ดำเนินการวิจัย เพื่อค้นหาแนวทางการลดผลกระทบจากช้างกินพืชไร่ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยได้ดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งโครงการได้ข้อค้นพบแนวทางในการลดผลกระทบจากช้างกินพืชไร่ของตนเอง โดยในเบื้องต้นทางได้ทำการเก็บข้อมูลของพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนและช้าง นำข้อมูลความรู้มาวิเคราะห์และวางแผนทดลองปฏิบัติการและการหาข้อสรุปเพิ่มเติมต่อเนื่องจนเกิดแนวทางการจัดการปัญหาช้างป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม กระทั้งขยายผลการวิจัย นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยกระดับการแก้ปัญหาทั้งในระดับพื้นที่ ต่างพื้นที่ และในระดับนโยบาย รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของชุมชนเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการ เช่น กรมอุทยานฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด โรงเรียน และสื่อมวลชน ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ขณะที่นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงสถานการณ์ป่าไม้กับปริมาณช้างในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า)อยู่ประมาณ ร้อยละ 20 ของพื้นที่ประเทศ (84.57 ล้านไร่) แต่ในจำนวนนี้มีพื้นที่ประชาชนกว่า 5 แสนครอบครัว และมีพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในป่าอนุรักษ์มากกว่า 8 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ9 ของจำนวนป่าอนุรักษ์ ดังนั้นถ้ามีการทวงคืนป่าอนุรักษ์ คืนมาได้มากเท่าใด ก็เท่ากับมาเรามีพื้นที่ให้สัตว์ป่าได้อาศัยหากินมากขึ้นเท่านั้น
ดร.สุชาติ โภชฌงค์ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การบริหารจัดการช้างป่าอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยข้อมูลและหลักวิชาการที่ถูกต้องแม่นยำ ทันต่อเหตุการณ์ อีกทั้งยังต้องคาดการณ์แนวโน้มทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการช้างในอนาคต เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการวางแผนดำเนินการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการป้องกันและการจัดการทรัพยากรช้างป่าอันมีความสำคัญยิ่งส่วนแนวทางการนำไปสู่ความยั่งยืนในการแก้ปัญหาช้างป่า
ดร.ชุติอร ซาวีนี วิทยาลัยนานาชาติเพื่อศึกษาความยั่งยืน กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหา คือ การให้ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เช่น การร่วมเก็บข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่ช้างป่าออกมาทำลายพืชไร่ของชาวบ้าน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ทั้งในส่วนที่เป็นความคิดของตนเองและภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชนแม้จะต้องใช้เวลาในการกระตุ่นและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในพื้นที่ และสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันของคนกับช้างป่าได้อย่างสันติและยั่งยืน
นสพ.ฉัตรโชติ ทิตาราม คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอแนวทางในการจัดการช้างป่าว่า ควรมีการรักษาพื้นที่อาศัยหากินของช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพราะยิ่งหากมีการบุรุกช้างก็จะออกจากป่ามาหาคน ที่สำคัญควรมีการควบคุมปริมาณช้างในบางพื้นที่ให้เหมาะกับปริมาณป่าและแหล่งอาหาร ซึ่งตน ยืนยันว่าการย้ายไม่ช่วยลดปัญหาระหว่างช้างและคน เพราะที่ผ่านมาเคยมีการแก้ปัญหาด้วยวิธีดังกล่าว แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล จนนำมาสู่ปัญหาในเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์