เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 นาวาตรี วีรพงษ์ นาคประสิทธิ์ ผู้บังคับหน่วยปฏิบัติการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (นป.สอรฝ.)ที่ 491 ทัพเรือภาคที่ 3 เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ชี้แจงกรณีจัดระเบียบเรือที่เกาะหลีเป๊ะ โดยกล่าวว่า ที่ปฏิบัติดำเนินการ เป็นผลจาก มติที่ประชุม โดยผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล นป.สอ.รฝ 491 กองทัพเรือภาค 3 อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ปลัดอำเภอเมืองสตูล ปลัดองค์การบริหารสาวนตำบลเกาะสาหร่าย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ตัวแทนชาวเล ผู้ประกอบการ รีสอร์ท ร้านค้าบนเกาะหลีเป๊ะ พร้อมด้วยประธานชมรมเรือหางยาง เกาะหลีเป๊ะ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 หน่วยงานราชทุกภาคส่วน
“ขอทำความเข้าใจ ไม่ให้เข้าใจคลาดเคลื่อน เป็นแผนมาจากมติที่ประชุมทุกฝ่าย ในวันนั้น โดยมีมติเลือก พื้นทางทะเลที่เหมาะสม ปลอดภัย และอนุรักษ์ปะการัง ไม่ทับร่องน้ำในการจอดเรือ จึงออกมาเป็นแผนด้วยกัน 3 จุด ไม่ได้อิงผลประโยชน์ผู้ประกอบการ เพื่อการจัดระเบียบ จุดจอดเรือตามร่องน้ำ ชายหาด อนุรักษ์ปะการัง และ พื้นที่ว่ายน้ำของนักท่องเที่ยว เพื่อความปลอดและความเชื่อมั่น เพราะหน้าโลซีซั่น นักท่องเที่ยวจะย้ายฝั่งมาเล่นน้ำฝั่งนี้ทั้งหมด อุทยานแห่งชาติก็ประกาศปิดเกาะทั้งหมด ยกเว้นเกาะหลีเป๊ะ เพียงเกาะเดียว นี่คือทางออกของนักท่องเที่ยว ผมไม่อยากเห็นนักท่องเที่ยวโดนใบจักรเรือตาย จาการเล่นน้ำ จากเรือที่เกาะหลีเป๊ะ ที่มีจำนวนมหาศาล เหมือนเกาะอื่นๆ ที่เคยออกข่าวดังทั่วประเทศ ลองคิดดูทหารเรือมีส่วนได้เสียกับเขาหรือไม่ และทำเพื่อใคร ถ้าไม่ใช่พี่น้องประชาชน ผมยืนยัน ในฐานะ ผู้บังคับหน่วยทหารเรือที่เกาะหลีเป๊ะ กระผมทำตามหน้าที่ ตามคำสั่งและ นโยบาย หน.คสช.”นาวาตรีวีรพงษ์ กล่าว
ด้านนายวีระ เกิดศิริมงคล ปลัดจังหวัดสตูล เปิดเผยถึงกรณีการจัดระเบียบที่จอดเรือบนเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่า นโยบายการจอดเรือเป็นนโยบายส่วนรวม ซึ่งทางจังหวัดต้องการให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวตลอดทั้งปีได้รับความปลอดภัยและมีการจัดพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ดี เพื่อให้เกาะมีความสวยงามต่อไป โดยเรื่องการเร่งจัดระเบียบเรือนั้น เป็นเรื่องที่ชาวเลและหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับรู้และเข้าใจในการทำงานด้วยกัน แต่ยังมีผู้ไม่หวังดี เข้าใจเจตนาของคณะทำงานผิดไป จึงพยายามสร้างความปั่นป่วน ทั้งนี้ยืนยันว่าการปฏิบัติงานเรื่องเรือทหารแจ้งชาวเลมาโดยตลอด และทุกคนรับรู้ ซึ่งทหารแจ้งให้ชาวเลเอาเรือออกจากพื้นที่ๆกำหนดหลายครั้งแล้ว แต่ยังพบว่ามีเรือจอดอยู่เต็มเกาะจึงต้องเร่งจัดระเบียบ อย่างไรก็ตามเรื่องการตัดเชือกผูกเรือ ยืนยันว่ายังไม่มีการตัดเชือก แต่แค่เตือนให้มีเจ้าของเรือนำเรือออกจากพื้นที่ต้องห้ามเท่านั้น โดยในเรื่องของการจัดหาพื้นที่จอดนั้นคาดว่าจะเป็นหน้าที่ของทหารที่จะเข้ามาดำเนินการ
ด้านตัวแทนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่า ขณะนี้ตัวแทนชาวเลได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขอให้เร่งช่วยเหลือกรณีที่ทหารจัดระเบียบการจอดเรือและขอข้อเสนอทางออกที่เป็นธรรมกับชาวเลด้วย โดยยืนยันว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีการประชุมหลายครั้งเรื่องการจัดระเบียบที่จอดเรือ แต่ยังไม่เคยมีฝ่ายใดแจ้งชัดเจนว่าจะให้ชาวเลไปจอดที่ใหม่ที่ไหน อีกอย่างกรณีในที่ประชุมที่รับทราบจากกรมเจ้าท่าระบุพื้นที่อนุรักษ์ปะการัง 3 จุด ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนมากก็จะดำน้ำบริเวณนั้นที่หาดด้านตะวันออก ซึ่งใกล้ๆกับอันดามันรีสอร์ท วาริน และวาปี รีสอร์ท ส่วนหน้าหลีเป๊ะบีช ใกล้กับโรงเรียนบ้านอาดังซึ่งเป็นบริเวณที่ทหารมาผูกทุ่นกันแนวเขตเมื่อสองวันที่แล้วและให้ชาวเลเร่งตัดเชือกออกนั้น ไม่มีในกำหนดแผนที่ ที่เคยประชุม แสดงว่าข้อมูลการจัดระเบียบยังไม่ลงตัว ชาวเลจึงต้องเร่งร้องเรียน กสม.ให้คุ้มครองสิทธิด้วยเพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ชาวเลจอดมานาน
“ชายหาดตั้งกว้างไกล ใครจะมาว่ายน้ำทั้งหาดตลอดแนวแบบนั้น หลายจุดที่ห้ามก็มีอยู่แล้ว เชื่อว่านักท่องเที่ยวแยกแยะออก แต่บริเวณล่าสุดที่มาผูกทุ่น เป็นบริเวณที่ไม่เคยมีการพูดถึง ชาวเลเพิ่งมารู้เมื่อทหารมาบอกว่า จะนำทุ่นมาผูก ถ้าไม่ตัดเชือกผูกเรือออก อาจจะมาตัดเอง” ตัวแทนชาวเล กล่าว
ตัวแทนชาวเลกล่าวด้วยว่า ได้มีการประชุมเรื่องจัดระเบียบหลีเป๊ะร่วมกันแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกประชุมที่ในเมืองสตูล และครั้ง 2 ประชุมที่หลีเป๊ะ โดยตกลงกันว่าจะมีการประชุมครั้งที่ 3 อีกครั้งเพื่อหารือในรายละเอียดก่อนจะมีการลงมือแก้ไขปัญหา แต่ครั้งนี้ทหารเรือกลับลงมือในทันทีโดยที่ชาวเลเองไม่ได้ทราบล่วงหน้ามาก่อน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน
ด้านนางแสงโสม หาญทะเล ครูโรงเรียนบ้านอาดังซึ่งเป็นชาวอูรักลาโว้ย กล่าวว่า ในช่วงสายวันเดียวกันตนได้เดินทางเข้าพบนาวาตรี วีรพงษ์ ซึ่งจากการหารือเกี่ยวกับจุดจอดเรือของชาวบ้านที่ขณะนี้ผูกเชือกเรือร้อยกันเป็นพวงอยู่หน้าโรงเรียนอาดัง 2 เส้น ได้ข้อยุติว่า 1.เชือกเส้นแรก ที่มีเรือผูกโยงกันอยู่ราว 4-5 ลำบริเวณหน้าโรงเรียนอาดัง ยังคงอยู่ในที่เดิม แต่ทหารเรือจะเข้ามาผูกทุ่นเพื่อเป็นแนวให้ทราบถึงเขตดูปะการัง ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกเรือหางยาวชน 2.แนวผูกเรืออีกจุดหนึ่งของชาวบ้าน จะขยับออกไปเพื่อให้พ้นแนวดำน้ำดูปะการัง แต่บริเวณหน้าหาดที่ย้ายไปดังกล่าว ผู้ประกอบการที่พักแห่งหนึ่งไม่ยอมให้ชาวเลไปผูกเรือ ดังนั้นทหารเรือจะเข้าไปคุยกับผู้ประกอบการเพื่อป้องกันมิให้มีการตัดเชือกเรือชาวเล เพราะในอดีตเคยมีผู้ประกอบการบางรายตัดเชือกผูกเรือของชาวเลมาแล้ว
“ในตอนท้ายดิฉันได้ขอหารือเรื่องที่เส้นทางสาธารณะบนเกาะที่เดินไปโรงเรียนถูกปิดกั้นโดยเอกชน เราอยากให้ทหารเรือช่วย ซึ่งท่านก็รับปากว่าจะประสานกับผู้ประกอบการให้ โดยจะมีการจัดประชุมหารือร่วมกัน”นางแสงโสม กล่าว
——————-