เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ตัวแทนเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ จำนวนประมาณ 100 คน เดินทางไปที่ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42(มทบ.42) เรียกร้องให้ทหารวางตัวเป็นกลางและยุติคุกคามกลุ่มผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยมี พันเอกวรพล วรพันธ์ รองผู้บัญชาการ มทบ.42 เป็นตัวแทนรับหนังสือ
นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า หลังจากได้เสนอข้อเรียกร้องของชาวบ้านต่อตัวแทน มทบ.42 ทางทหารได้กล่าวขอโทษต่อชาวบ้าน ที่การออกหนังสือฉบับที่ กห 0484.63/1113 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 ส่งถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อาจทำให้ชาวบ้านเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการห้าม ดร.สมพร ช่วยอารีย์อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยากรคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) ไม่ให้แสดงความคิดเห็นคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพียงเกรงว่าอาจเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่ได้เป็นการห้ามให้ความรู้ทางวิชาการแก่สังคม ซึ่งหากชาวบ้านต้องการให้มีการยกเลิกหนังสือฉบับนี้ ต้องนำเรื่องไปเรียนถึงผู้บัญชาการ มทบ.42 โดยตรง เพราะท่านเป็นผู้ออกคำสั่งลงนามหนังสือฉบับนี้
นายดิเรก กล่าวอีกว่า เมื่อชาวบ้านได้ถามถึงการออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฏหมายหรือไม่ ทางทหารชี้แจงว่า เรื่่องนี้เป็นสิทธิของชาวบ้านในการแสดงความคิดเห็น และอยากให้มีเวทีที่เปิดให้ผู้ที่คัดค้านและสนับสนุนได้มาขึ้นเวทีดีเบต ซึ่งชาวบ้านเองก็รู้สึกว่าตรงกับความคิดของชาวบ้าน ที่ต้องการให้ทหารวางตัวเป็นกลาง เพื่อที่จะได้ลบภาพของหทารที่ไปเคยไปร่วมจัดเวทีสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
“ประเด็นเรื่องการคุกคามพี่น้องในพื้นที่ ทหารบางคนมีพฤติกรรมข่มขู่ห้ามชาวบ้านไม่ให้จัดกิจกรรมต้านโรงไฟฟ้า และมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับชาวบ้าน ทหารรับปากจะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีทหารคนไหนที่ไปเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือเข้าไปข่มขู่ชาวบ้าน” นายดิเรก กล่าว
นายดิเรก กล่าวต่อว่า เมื่อชาวบ้านถามถึงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) พยายามเข้ามาสร้างความแตกแยกให้แก่พื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นที่กระทบต่อศาสนาความเชื่อของชาวบ้านมุสลิมนั้นทางทหารจะทำอย่างไร แต่ไม่ได้รับคำตอบในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังคงยืนยันว่าต้องการให้มีการยกเลิกหนังสือฉบับนี้อย่างเป็นทางการ หากยังไม่ได้รับคำตอบอาจจะเดินทางไปร้องต่อแม่ทัพภาคที่ 4 เพราะถ้าหนังสือนี้ยังคงอยู่ พฤติกรรมของทหารที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังคงอยู่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประชาชนที่ออกมาต่อสู้ปกป้องสิทธิของชุมชน
ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึก ถึงผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 สงขลา ระบุว่า การที่มณฑลทหารบกที่ 42 ออกหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในลักษณะที่คุกคามนักวิชาการที่ค้านถ่านหินนั้น นับเป็นฟางเส้นท้ายๆ ที่ทำให้กลุ่มองค์กรภาคประชาชนต้องมาแสดงออกเพื่อขอให้ทหารโดยเฉพาะ มทบ.42 ทบทวนจุดยืนของตนเอง ซึ่งได้มีท่าทีที่เข้าข้าง กฟผ.และทุนถ่านหินอย่างออกหน้าแทน จึงขอเรียกร้องต่อ มทบ.42 ดังนี้ 1.ขอให้ มทบ.42วางตัวเป็นกลางต่อประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2.ขอให้ยุติการคุกคามต่อนักวิชาการและภาคประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3.ขอให้ยกเลิกและเรียกคืนหนังสือฉบับที่ส่งถึงอธิการบดี มอ.หาดใหญ่ หาก มทบ. 42 ยืนยันว่านั่นไม่ใช่การคุกคาม ก็ควรถอนหนังสือกลับเสียเพื่อการแสดงความจริงใจ
วันเดียวกันเมื่อเวลา 13.00 น. ที่ศูนย์บัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ตัวแทนกลุ่มเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือ”วาย พี ดี “ ประมาณ10 คน (Young People for Social-Democracy Movement, Thailand (YPD.) ได้ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารบก เพื่อเรียกร้องให้ทหารหยุดคุกคามสิทธิชุมชน ด้วยการเปิดโอกาสให้นักวิชาการ ชาวบ้าน และบุคคลใดก็ตามสามารถแสดงออกในการนำเสนอข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่การ
ทั้งนี้ได้มีการอ่านแถลงการณ์คัดค้านการคุมคามนักวิชาการและต่อต้านความไร้ธรรมาภิบาล ทั้งทางสิ่งแวดล้อมและการบริหารราชการแผ่นดิน “กรณีผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ คุกคามอิสรภาพทางวิชาการและคุกคามสิทธิชุนชนของชาวบ้านในพื้นที่” โดยนายสุร แก้วเกาะสะบ้า เลขาธิการกลุ่มฯ กล่าวว่า ตามที่ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ได้ส่งหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อขอความร่วมมือในการทำความเข้าใจกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่เคลื่อนไหวและต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตยมีความเห็นคัดค้านต่อการกระทำดังกล่าว เนื่องจากการทำงานของนักวิชาการนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อการให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ นักวิชาการควรมีอิสระในการดำเนินการศึกษาผลกระทบ ให้เกิดความตระหนังถึงปัญหาที่จะตามมาของโครงการที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ไหนก็ตามทั่วประเทศไทย ตามหลักการของการมีธรรมภิบาลทางสิ่งแวดล้อมที่จะต้องที่เอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม การคานอำนาจ และการตรวจสอบจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นหากไร้ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการก็ไร้ซึ่งการมีส่วนร่วม นำไปสู่การขาดธรรมภิบาลทางสิ่งแวดล้อมในที่สุด
เลขาธิการ YPD กล่าวว่าขอเรียกร้องให้สังคมไทยติดตามและตรวจสอบเรื่องดังกล่าวในฐานะที่การกระทำของข้าราชการทหารข้างต้นสุ่มเสี่ยงต่อการไร้ธรรมภิบาลของการบริหารราชการแผ่นดินกล่าวคือ 1. การใช้บันทึกข้อความขอความร่วมมือข้ามหน่วยราชการในประเด็นที่ไม่ใช้หน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานตนเอง 2. เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งเมื่อดูสายการบังคับบัญชาและความทับซ้อนของผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวเพราะเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยที่ผู้ทำหนังสือขอความร่วมมือในพื้นที่คือ ผู้ใต้บังคับบัญชาและกำลังพลของกองทัพบก ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของกองทัพบกปัจจุบัน มีตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยถึง 2 ตำแหน่ง คือ รองผู้บัญชาการทหารบกและผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
“ด้วยเหตุผลเช่นนี้ พวกเราจึงขอเรียกร้องให้สังคมไทยเฝ้าจับตาการกระทำการกระทำดังกล่าว และขอให้กองทัพบกชี้แจงประชาชนในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งควรหยุดการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ ละเมิดสิทธิชุมชนของชาวบ้านทุกกรณี” เลขาธิการYPD กล่าว
——————-