เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ที่แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ นายสมชาย อามีน ทนายความจากสภาทนายความ พร้อมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ จังหวัดพิจิตร และ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 30 คนได้ยื่นฟ้องบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย เรื่องละเมิด ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เพื่อเรียกค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วยมีสารพิษในร่างกาย, ค่าเสื่อมสุขภาพอนามัย, ค่าใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพในครัวเรือน, ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยผู้เสียหายเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ประกอบอาชีพทำนาได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องคดีแบบกลุ่ม โดยยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,588,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันถัดฟ้อง (27 พ.ค. 2559) และค่าเสียหายที่ชาวบ้านแต่ละรายได้รับผลกระทบ
นายสมชาย อามีน ทีมทนายความ กล่าวภายหลังการยื่นเอกสารว่า เป็นที่ทราบกันดีว่ามติคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ระบุให้ระงับการต่ออนุญาตสัมปทานภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งสัญญาสิ้นสุดสัมปทานการแต่งแร่ของบริษัทได้หมดอายุในวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ซึ่งได้มีการต่ออายุออกไปอีก 7 เดือน จึงเกรงว่าอาจจะมีการเร่งการทำเหมืองทองมากกว่าปกติและเกิดผลกระทบ และหากมีสถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นและมีข้อเท็จจริง เราอาจจะมีการขอศาลให้คุ้มครองชั่วคราวเพื่อป้องกันการได้รับผลกระทบดังกล่าว ในส่วนผู้เสียหายที่มาเรียกร้องในวันนี้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการทำเหมืองทอง มีผลการตรวจเลือดพบว่ามีโลหะในเลือดมากเกินปกติกว่า 400 คน
“ในการฟ้องคดีในวันนี้ เราไม่ได้ไปกล่าวหาว่าเหมืองทองดังกล่าวมีการปล่อยสารพิษเป็นอันตรายต่อชาวบ้าน แต่เราจะนำสืบถึงผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับให้ศาลเห็น และในท้ายฟ้องเราได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทอัคราฯ จ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจำนวน 50 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งในคดีที่มีลักษณะคล้ายกัน ศาลได้เคยมีคำพิพากษาสั่งให้มีการจ่ายเงินในลักษณะนี้มาก่อนแล้วด้วย ดังนั้นก็ลองมาฟ้องดูอีกทีว่าศาลจะพิจารณาอย่างไรต่อไป” นายสมชาย กล่าว
ด้านนางสาวธัญญารัศมิ์ สินทรธรรมทัช (ชื่อเดิม สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง) ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ในการฟ้องครั้งนี้ไม่ได้ตั้งความหวังสูงมาก แต่เชื่อว่าศาลคือที่พึ่งที่อย่างน้อยช่วยให้ชาวบ้านได้รับค่าเสียหายที่พวกเราบาดเจ็บ ป่วย และมีบางส่วนเสียชีวิตลงไปบ้าง เพราะที่ผ่านมาแทบจะไม่มีใครออกมารับผิดชอบต่อสุขภาพ เราต้องรวบรวมผลตรวจหลายอย่างเพื่อให้ศาลนำสืบ อย่างน้อยให้ชาวบ้านได้รับความยุติธรรมบ้าง
วันเดียวกันเวลาประมาณ1 4.00น. ตัวแทนชาวบ้านทั้ง 30 คนเดินทางไปพบตัวแทนองค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อร้องเรียนให้ยูเอ็นมีการดำเนินการประสานให้หน่วยงานด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้มีมาตรการช่วยเหลือชาวบ้านและสื่อมวลชน ภายหลังชาวบ้านและสื่อมวลชนได้พบกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวน 6-7 คน พร้อมด้วยวัตถุคล้ายอาวุธปืน จะเข้าทำร้ายและ ข่มขู่ ระหว่างเดินทางพาผู้สื่อข่าวสำนักหนึ่ง สำรวจพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำบริษัทอัครา ฯ ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตรช่วงที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงพื้นที่เมื่อวันที่21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
นางสาวชัชฎาพร หล่อทรัพย์ หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกล่าวว่า ความไม่มั่นคงในพื้นที่รอบเหมืองทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ประกาศหยุดทำเหมือง โดยเหมืองทองยังคงติดป้ายระเบิดหินอยู่แทบทุกวัน ภายหลังประกาศของ ครม. และล่าสุดชาวบ้านก็พบเจอกับความไม่มั่นคงทางชีวิตอีกครั้งเมื่อสื่อมวลชนหลายสำนักลงพื้นที่และมีสำนักหนึ่งพบว่ามีชายขับรถกระบะติดโลโก้เหมือง ทำท่าไม่ชอบมาพากล และมีอุปกรณ์คล้ายปืน เฝ้าพื้นที่ ชาวบ้านจึงตัดสินใจมาร้องเรียนยูเอ็น และได้รับคำแนะนำว่า ให้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และดีเอสไอ เพื่อร้องเรียนเรื่องราวต่างๆ แล้วทางยูเอ็นจะส่งเอกสารเพื่อประสานงานให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของไทยทำหน้าที่ต่อไปตามคำร้อง โดยเครือข่ายจะปรึกษากันอีกทีถึงวันและเวลาที่จะยื่นร้องเรียน อาจจะเป็นวันที่ 30 พฤษภาคม นี้
นางสาวชัชฏาพร กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวแล้ว ชาวบ้านรอบเหมืองมีข้อกังขากรณีรัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่และบริษัทอัคราฯ ได้นำผลตรวจพืชผักมารายงาน โดยในผลตรวจนั้นไม่พบความผิดปกติหรือสารปนเปื้อน ชาวบ้านอยากร้องเรียนให้บริษัทฯ เปิดเผยแหล่งที่มา และขอให้กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจใหม่ โดยมาเก็บพืชผักจากชาวบ้านรอบเหมืองและเรียกตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมช่วงทีมีการเก็บตัวอย่างด้วย เนื่องจากผลตรวจที่บริษัทฯ นำมาเสนอนั้น ชาวบ้านและนักวิชาการที่เคยตรวจสภาพแวดล้อมรอบเหมืองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ เกรงว่าการตรวจไม่โปร่งใส
/////////////////////