ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พายุฝนฟ้าคะนองในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้แก่หลายชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี รวมไปถึงทำให้ต้นพิกุลขนาดใหญ่ที่ยืนต้นอยู่ภายในบริเวณกุโบร์หรือสุสานราชินี(รายาฮิเยา บีรู และอูงอ ธิดาทั้ง 3 พระองค์ของพญาอินทิรา อดีตเจ้าเมืองฟาฎอนีในอดีต หักโค่นลงมา โดยสุสานแห่งนี้ถือเป็นเป็นหนึ่งในสุสานหลวงที่อยู่ในเขตเมืองเก่าของอาณาจักรปัตตานี
กระทั่งเฟซบุ๊กชื่อ Mahamayakee Waesoo ได้เผยแพร่ภาพต้นพิกุลที่หักโค่นและเรื่องราวของสุสานแห่งนี้ จนทำให้มีผู้สนใจจำนวนหนึ่งเข้าไปแลกเปลี่ยนความเห็นที่ต้องการฟื้นฟูต้นพิกุล โดยนายมาหามะยากี แวซู นักถ่ายภาพอิสระกลุ่มช่างภาพเพื่อสันติชายแดนใต้ เปิดเผยว่า หลังจากพายุฝนถล่มชุมชนตันหยงลุโล๊ะเมื่อวันอังคาร(24 พ.ค.) ได้ทราบข่าวจากชาวบ้านว่า ต้นพิกุลโบราณในสุสานาชินี ซึ่งเหลืออยู่เพียงต้นเดียวถูกพายุพัดจนหักโค่นลงมา จึงตัดสินใจเข้าไปถ่ายภาพเและนำมาโพสต์บนเฟซบุ๊ก เพราะถือเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของชุมชนตันหยงลุโล๊ะและเมืองปัตตานี
“เดิมทีมีต้นพิกุลอยู่ 3 ต้น แต่ปีก่อนๆ ก็ถูกพายุพัดล้มไปจนเหลืออยู่ต้นเดียวที่เพิ่งถูกพายุพักหักลงมา คนแก่เคยเล่าให้ฟังว่าในบันทึกประวัติศาสตร์ของชาวต่างประเทศ มีการเขียนถึงสุสานแห่งนี้ว่าต้นพิกุลทั้ง 3 ต้นนี้ถูกปลูกไว้เป็นอนุสรณ์แก่ราชินีทั้งสามพระองค์” นายมาหามะยากี กล่าว
นายมาหามะยากี กล่าวต่อว่า ความตั้งใจแรกคือต้องการขอข้อมูลต้นพิกุล และหาต้นกล้ามาปลูกทดแทน แต่ได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือเพื่อนๆ หลายคน โดยเฉพาะพี่นก-นิรมล เมธีสุวกุล ผู้ผลิตรายการทุ่งแสงตะวัน แนะนำให้รู้จักครูต้อ-ธราดล ทันด่วน ผู้เชี่ยวชาญการดูแลต้นไม้ ที่ได้ให้คำปรึกษาและหาทางฟื้นฟูต้นพิกุล จนนำมาสู่การวางแผนปฏิบัติการกู้ชีพต้นพิกุลประวัติศาสตร์
“หมอต้นไม้วิเคราะห์จากสภาพต้นไม้ที่เหลืออยู่ บอกว่าน่าจะมีโอกาสรอด 70 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็ให้นำกระสอบหรือผ้ามาคลุมตอไม้และรดน้ำเพื่อรักษาอุณหภูมิไม่ให้ร้อนจนตาย และภายใน 2-3 วันจะส่งทีมงานเข้ามาดำเนินการฟื้นฟูต้นไม้” นายมาหามะยากี กล่าว
นายมะหามะยากี กล่าวอีกว่า รู้สึกเสียดายต้นพิกุลที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของชุมชน ไม่อยากให้เลือนหายไปพร้อมกับการหักโค่น จึงพยายามรักษาชีวิตของต้นพิกุลไว้ให้ได้ แต่หากการช่วยเหลือไม่สำเร็จ คงต้องหาต้นกล้ามาปลูกทดแทนในจุดเดิม
อนึ่ง สุสานราชินี (รายาฮิเยา รายาบีรู รายาอูงู ทั้ง 3 เป็นธิดาของพญาอินทิรา กษัตริย์พระองค์แรกที่เข้ารับอิสลาม และเปลี่ยนพระนามเป็นสุลต่านอิสมาแอล ชาห์) ตั้งอยู่ที่บ้านปาเระ ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี รายาทั้ง 3 พระองค์เป็นพี่น้องกัน ตามลำดับและมีหลานชื่อรายากูนิงเป็นพระธิดาของรายาอูงู ทั้ง 4 พระองค์เคยปกครองเมืองปัตตานีให้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2127 – 2194 ขณะนั้นเมืองปัตตานีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในฐานะเมืองท่าค้าขาย และเมืองที่ปกครองโดยราชินี มีการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับนานาชาติ เช่น ญี่ปุ่น ฮอลันดา สเปน อังกฤษ เป็นต้น