เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 เวลา 14.00 น. ที่ศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก นายเบียะอ่อ และนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล บุคลากรสาธารณสุขท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง พร้อมด้วยพยานชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 6 คน และทีมคลินิกกฎหมายและคณะทำงานคณะนิติศาสตร์ บางกอกคลินิก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางมาให้ถ้อยคำต่อตุลาการศาลปกครองพิษณุโลกตามนัดไต่สวนคำฟ้องประกอบการพิจารณาการรับหรือไม่รับฟ้องคดี โดยใช้เวลา 40 นาที ซึ่งตุลาการศาลปกครองได้แจ้งให้ดำเนินการแก้ไขคำฟ้องให้ครบถ้วน เพื่อพิจารณาในนัดต่อไป
ทั้งนี้ นายเบียะอ่อและนายชนินทร์ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 เพื่อขอให้รัฐรับรองหนังสือการเกิดในประเทศไทย และแก้ไขทะเบียนประวัติเพื่อเข้าสู่สิทธิของรายการสัญชาติไทย ตาม ม.23 พ.ร.บ.สัญชาติฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 เนื่องจากเมื่อพ.ศ.2534 สำนักทะเบียนอำเภอท่าสองยาง ได้จัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนที่สูงซึ่งครอบครัวของทั้งสองคนได้เข้าบันทึกและจัดทำทะเบียนประวัติ แต่บุพการีของทั้งคู่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ จึงต้องใช้ล่ามและด้วยความเร่งรีบทำให้การบันทึกผิดพลาดจากข้อเท็จจริงคือ ทั้งคู่ถูกบันทึกว่าเกิดในประเทศพม่า ทั้งๆ ที่สองคนนี้เกิดในประเทศไทยโดยมีพยานยืนยันชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้มีความพยายามให้เจ้าหน้าที่รัฐแก้ไขข้อผิดพลาดแต่ได้รับการปฎิเสธมาโดยตลอด ทำให้ทั้งคู่ไม่สามารถมีบัตรประชาชนไทยได้
นางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายประจำคลินิกกฎหมายโครงการสี่หมอชายแดน ในฐานะผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดี กล่าวว่าจะต้องมีการศึกษาค้นคว้ากฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนของ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก และจะดำเนินการประชุมคดีกับคณะทำงานที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี โท และเอก ที่ทำหน้าที่สนับสนุนงานคลินิกกฎหมายโครงการสี่หมอชายแดน ศาลให้เวลาแก้ไขคำฟ้องภายใน 15 วัน เพื่อประกอบการพิจารณารับคำฟ้องต่อไป
ขณะเดียวกัน นายแพทย์ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง ในฐานะผู้บังคับบัญชาของนายชนินทร์ กล่าวว่า นายชนินทร์เล่าด้วยความตื้นตันว่า ศาลรับฟังเขาอย่างตั้งใจที่สุด ตนจึงขอขอบคุณศาลที่ฟังชาวบ้านด้วยความเข้าใจ ทั้งนี้นายชนินทร์ได้เข้ามาทำงานที่โรงพยาบาลแล้วกว่า 2 ปี โดยเป็นคนดีที่มีความตั้งใจทำงานในหน้าที่ที่มอบหมายให้เพราะคิดว่าตัวเขาเองคือคนไทยคนหนึ่ง
————-