Search

ตั้งวงถกปัญหาธรรมาภิบาลด้านพลังงานไทย พบยังล้าหลัง นักวิจัยชี้ไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ ด้านนักวิชาการย้ำระบบผูกขาดทำลายความยั่งยืน

13340633_561337390693826_1013366017_o (1)
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม2559 ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี60พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเวทีเสวนาเรื่อง”บนเส้นทางสู่ความยั่งยืน: การลงทุนพลังงานและธรรมาภิบาลเพื่อการเปลี่ยนผ่าน” โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานว่า ในฐานะมหาวิทยาลัยนั้น เรื่องการศึกษาสถานการณ์ให้เท่ากันสังคมเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก กรณีพลังงานนั้นที่ผ่านมาประเทศไทยถกเถียงกันตลอดถึงทิศทางการวางแผนจัดการพลังงานซึ่งมีหลายข้อเสนอจากแต่ละภาคส่วน จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเองในฐานะสถาบันการศึกษา ไม่ควรละเลยประเด็นนี้เพราะการศึกษาพลังงานในแง่วิชาการนั้นสร้างประโยชน์แก่สังคม ความร่วมมือจากหลายองค์กรในการจัดการเสวนาครั้งนี้จึงน่าสนับสนุน เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีข้อมูลมากมายแลกเปลี่ยนกัน เพื่อการพัฒนาด้านพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป

นางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระนโยบายและการวางแผนพลังงาน กล่าวว่าปัจจุบัน ประเทศไทยมีการวางแผนระบบพลังงานแบบผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เกื้อหนุนต่อการขยายการลงทุนที่เกินความจำเป็น การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริง เพื่อนำไปสู่การวางแผนและลงทุนขยายระบบไฟฟ้าและการใช้ก๊าซฯที่อิงตัวเลขพยากรณ์และเน้นรูปแบบการลงทุนที่ใช้งบประมาณสูง แล้วกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่สามารถผลักภาระมาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าหรือประชาชนเป็นผู้จ่าย ดังเช่น การคิดอัตราค่าไฟฟ้าที่ใช้ผลตอบแทนจากเงินลงทุน (Return on Invested Capital – ROIC) เป็นเกณฑ์หลักในการกำหนดค่าไฟฟ้า ทำให้นำมาซึ่งการลงทุนที่มากเกินความเป็นจริง เพราะยิ่งลงทุนมาก ยิ่งได้กำไรมาก ซึ่งปัจจุบันนี้ มีการประกันรายได้ให้กับกฟผ. สูงถึง 8.4% ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในช่วงที่จะนำ กฟผ.เข้าตลาดหุ้น เพื่อทำให้หุ้นกฟผ.จูงใจสำหรับนักลงทุน เวลานี้กฟผ.ไม่ได้เข้าตลาดหุ้นแล้วแต่เกณฑ์ดังกล่าวก็ยังไม่เปลี่ยน

นางชื่นชม กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นแล้วสิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยยังหนีไม่พ้นคือ การที่ประชาชนแบกรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ค่าเอฟที ซึ่ง กฟผ. เคยให้ข้อมูลว่า เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมการควบคุมของการไฟฟ้า คำอธิบายนี้แปลความได้ว่า ค่าเอฟทีเป็นเครื่องมือในการส่งผ่านต้นทุนต่างๆ ให้แก่ผู้บริโภคโดยอัตโนมัติ เช่น 1.ค่าเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซฯ ถ่านหินนำเข้า เป็นต้น 2. ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนและต่างประเทศ ซึ่งรวมค่าประกันกำไร การชดเชยเงินเฟ้อ ชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน 3. การส่งผ่านค่าใช้จ่ายตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด เช่น เงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า, ค่าส่วนต่างราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น และ 4. การชดเชยกรณีหน่วยขายต่ำกว่าประมาณการ (หรือลงทุนเกิน) การลงทุนด้านพลังงานของไทยจึงเน้นที่การลงทุนมาก คุณภาพต่ำ แต่กำไรสูง ดังนั้นแผนจัดการพลังงานในประเทศไทยจึงไม่เคยเปลี่ยนแปลงเพราะรัฐวิสาหกิจกลัวเสียรายได้

“จริงแล้ว ต้องบอกตรงๆ ว่า วิธีสร้างแผนพลังงานที่ยั่งยืนในภาคผู้บริโภค คือ การลดการใช้พลังงานในต้นทาง เช่น มีแอร์ ถ้าเปิดแอร์ทั้งวันก็ใช้ไฟฟ้ามาก ค่าไฟก็สูงไปด้วย กฟผ.ก็นำมาอ้างได้เรื่อยๆ ว่าครัวเรือนไทยใช้ไฟสูง ต้องการใช้กันมาก ซึ่งถ้าผู้บริโภคไม่เปลี่ยนพฤติกรรมก็ต้องจำเป็นใช้ แต่ถ้าผู้บริโภคอยากจะช่วยกัน อาจจะเปลี่ยนมาเป็นซื้อ หรือลงทุนด้านแผ่นกันความร้อน เพื่อลดพลังงานความร้อน ความต้องการใช้แอร์จะน้อยลง ซึ่งประเทศที่ร้อนมากๆ นั้นรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจก็มีระบบผลิตแผ่นกันร้อนเพื่อกระจายสู่ผู้บริโภค เป็นการประหยัดพลังงาน โดยที่ไม่ต้องหาไฟฟ้ามาเยอะ จากวิธีการผลิตที่สกปรกและมีการผลิตสำรองที่เกินจริง ซึ่งส่วนนี้กระทรวงพลังงานน่าจะต้องมีบทบาทบ้าง แต่ก็ไม่ทำ ขณะที่พลังงานหมุนเวียนในไทยก็มีการใช้น้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ” นางชื่นชม กล่าว

ด้านดร. ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาหลังสถานการณ์โลกร้อนสร้างปัญหาทั่วโลก ทำให้ระดับโลกมีการประชุมใหญ่รวมทั้งลงนามข้อตกลงปารีสในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยเป้าหมายหลัก คือ ให้ทุกประเทศลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อนหลังปี2020 ซึ่งตอนนี้ อังกฤษ และเยอรมันมีการจัดวันปลอดถ่านหินโดยการกำหนดวันปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศหลายชั่วโมงเพื่อลดการผลิตคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ ขณะที่ประเทศไทยก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก นอกจากมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าข้อตกลงดังกล่าวยากจะปฏิบัติในหลายประเทศ ดังนั้นถ้าจะให้ดีและทุกประเทศอยากมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน ลดใช้พลังงาน ทางออกที่ดี คือ การจัดการพลังงานอย่างมีมาตรฐาน เน้นการใช้พลังงานฟอสซิล และเน้นการลงทุนระยะสั้นเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายโดยอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งไทยเองอาจจะต้องออกกฎมาคุมธุรกิจพลังงานที่เข้มงวด

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด กล่าวในการเปิดเผยผลวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทพลังงานในประเทศไทย10แห่งว่า ในขณะที่ทั่วโลกมีการกล่าวถึงความยั่งยืนของพลังงานแต่ในทางปฏิบัติก็ยากจะดำเนินการเพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้การพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ทางทีมนักวิจัยก็พยายามศึกษาข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ไปเรื่อยๆ อย่างข้อมูลของบริษัทพลังงานนั้นที่จะนำเสนอนั้นฉบับสมบูรณ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3เดือนข้างหน้า แต่การค้นพบเบื้องต้นนั้นก็พอจะสรุปสาระสำคัญของบริษัทพลังงานได้หลายด้านและมีการวิจารณ์บางส่วนจากทีมวิจัย เช่น กรณีตัวชี้วัดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลบริษัทพลังงานพบว่า บริษัทส่วนใหญ่มีการเปิดเผยข้อมูลด้านเดียว คือ ข้อมูลด้านดีในการลงทุนด้านพลังงานเท่านั้น ความถูกต้อง ความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ มีข้อดีเดินจริง มีการเน้นข่าวและข้อมูลประชาสัมพันธ์ถึงความยั่งยืนด้านพลังงานเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ในส่วนของหน่วยงานและกระบวนการตรวจสอบรับรองข้อมูลนั้นก็พบว่าไม่มีแบบแผนและไม่เป็นสากล ไม่มีการประเมินผลกระทบด้านลบ

นางสาวสฤณี กล่าวด้วยว่า จากการสุ่มสัมภาษณ์กลุ่มในผู้มีส่วนได้-เสีย รู้สึกว่าข้อมูลที่บริษัทนำมารายงานรวมทั้งข้อมูลหรือรายงานจากหน่วยงานด้านทรัพยากรเกี่ยวกับพลังงานนั้น นำไปใช้ในการวิเคราะห์ไม่ได้ หรือไม่สมบูรณ์และบางส่วนมีความไม่ทันสมัย ทำให้ผู้มีส่วนได้-เสีย ต้องหาข้อมูลอื่นมาศึกษาประกอบด้วยตนเอง ในส่วนของธรรมาภิบาลนั้นผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า กิจการใดก็ตามที่รัฐเป็นเจ้าของควรเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และว่าในบริษัทพลังงานทั้ง10แห่งไม่มี ทั้งเรื่องมาตรฐานโรงไฟฟ้าพร้อมที่มาของการกำหนดมาตรฐานก็ไม่มีใครเปิดเผย ขณะที่กำลังผลิตที่ผลิตได้แต่ละวัน ของแต่ละโรง รวมทั้งปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ไม่เฉพาะไฟฟ้าที่ผลิตก็ไม่มีการเปิดเผยเช่นกัน ราคาก๊าซ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตแยกตามแหล่งที่มา ทั้งของ ปตท.และ กฟผ.ก็ไม่มีการรายงาน งบ กำไร ขาดทุน ด้านธุรกิจ เช่น กรณีสายส่งก็ไม่นำเสนอ คำอธิบายชัดเจนต่อสาธารณะและความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้า ความจำเป็นในการผลิต แผนพัฒนาการผลิตก็ไม่ทันสมัย และพบว่าแต่ละบริษัทไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
//////////////////////////////////

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →