เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ที่โรงแรมเซนทาราแม่สอดฮิลล์ รีสอร์ท อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก ในพื้นที่ 769 ไร่ ในตำบลท่าสายลวด โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) มอบหมายให้บริษัท เทคนิคสิ่งแวดล้อมไทย จำกัด เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเวทีประมาณ 300 คน
ทั้งนี้ บรรยากาศของเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยชาวบ้านส่วนใหญ่แสดงความเห็นคัดค้าน และภายหลังเวทีเสร็จสิ้น มีตัวแทนกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่นและชาวบ้าน ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ “ไม่เอานิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก” เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของประชาชนในพื้นที่
นางสาวชมพูนุช เครือคำวัง ผู้ประสานงานกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น ให้สัมภาษณ์ว่า แม้วันนี้ กนอ.จะพยายามชี้แจงว่าโครงการมีมาตรการอย่างดีในการป้องกันผลกระทบต่างๆ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มาร่วมเวทียังมีความกังวลในหลายประเด็น ซึ่ง กนอ.ยังไม่สามารถชี้แจงได้ โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อโบราณสถาน รวมทั้งปัญหาด้านแรงงาน ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงไม่เห็นด้วยที่ กนอ. เร่งกระบวนการจัดทำ อีไอเอ ให้เสร็จสิ้น เพื่อผลัดดันให้โครงการเกิดขึ้น อีกทั้งที่ดินโครงการฯ ยังมีข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับกรมธนารักษ์ และยังไม่มีการส่งมอบที่ดินให้กับ กนอ.
“การจัดทำอีไอเอในวันนี้ ขาดความชอบธรรมด้วยกฎหมาย เพราะยังไม่มีการส่งมอบที่ดินให้ กนอ. และคนในพื้นที่ก็ไม่ยอมรับการทำนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ หาก กนอ. พยายามเร่งทำอีไอเอจนออกมาผ่านได้ แสดงว่าต้องมีความผิดปกติของกระบวนการ เพราะชาวบ้านไม่เห็นด้วย อีไอเอจะผ่านได้อย่างไร” นางสาวชมพูนุช กล่าว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่นและตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อน ยื่นหนังสือคัดค้านการทำ อีไอเอ กรณีการประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากโดยเฉพาะพื้นที่ดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม ถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายอำเภอแม่สอด ผ่านศูนย์ดำรงธรรม โดยระบุว่า เนื่องจากที่ดินที่จะใช้ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับกำหนดเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมนั้น ยังมีปัญหาข้อพิพาทที่ดินระหว่างกรมธนารักษ์กับประชาชนในพื้นที่ และข้อเท็จจริงชัดเจนว่า กนอ. ยังมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนี้ เนื่องจากกรมธนารักษ์ยังมิได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับ กนอ. ดังนั้น กนอ. จึงไม่สามารถเข้ามาดำเนินการกิจกรรมใดๆ ได้ รวมทั้งการจัดทำ อีไอเอ และการจัดรับฟังความเห็นได้
หนังสือระบุอีกว่า อ้างถึงคำสั่ง คสช.ที่ 3/2559 ที่ระบุในข้อที่ 3 ให้กระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการออกกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอนเคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนการใช้อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยเร็ว ซึ่งในขณะนี้พบว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมโยธาและผังเมืองยังไม่มีการออกกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจตากออกมา ทำให้ยังไม่สามารถระบุขอบเขตที่ชัดเจนในการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะเขตนิคมอุตสาหกรรมเหมือนดังเช่นกรณีของจังหวัดสระแก้ว ที่มีการออกกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงมีการดำเนินการทำสัญญาเช่นระหว่างกรมธนารักษ์และ กนอ. เมื่อสัญญายังไม่เป็นที่เรียบร้อย คือ ยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่ให้กับ กนอ. จึงขัดต่อคำสั่งดังกล่าว
————-