เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ที่โรงแรมรอยัลเบญจา กรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “1 ปี วิกฤตผู้อพยพชาวโรฮิงญา : การอพยพย้ายถิ่นอย่างไม่ปกติในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน” โดยนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวเปิดงานว่า ชาติพันธุ์โรฮิงญาเป็นชาติพันธุ์ที่ถูกปฏิเสธความเป็นพลเมืองในบางประเทศ การโยกย้ายถิ่นฐานยังไม่ปกติจึงเกิดขึ้นในกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาที่พยายามอพยพข้ามถิ่นฐานข้ามทะเลเพื่อผ่านประเทศไทยไปยังประเทศที่ยอมรับการมีอยู่ของโรฮิงญา เนื่องจากเผชิญกับปัญหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดังนั้นพวกเขาเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยข้ามแดนที่แสวงหาความปลอดภัยในชีวิต แต่ปรากฏว่า ช่วงที่ผ่านมา มีขบวนการค้ามนุษย์ที่มีในหน้า มีนักการเมือง มีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง และเมื่อมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของประเทศไทยพบเจอ ส่วนมากไทยจะพยายามที่จะบ่งชี้ว่า โรฮิงญาคือบุคคลลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายบ้าง แรงงานต่างด้าวบ้าง โรฮิงญาจึงมักถูกดำเนินคดีและถูกปฏิบัติแตกต่างจากผู้ลี้ภัย เช่น ถูกกักขังไว้ในค่ายอย่างแออัดจนทำให้ชาวโรฮิงญาต้องเจ็บป่วย
“อุปสรรคอีกอย่างที่ทำให้ประเทศไทยแก้ปัญหาโรฮิงญาได้ไม่สมบูรณ์คือ อุปสรรคทางกฎหมายที่มีข้อจำกัดและไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิด้านต่าง ๆ เช่น สิทธิเด็กทั้งในแง่สิทธิการศึกษา สิทธิการมีสุขภาพที่ดีหรือแม้แต่สิทธิความเป็นมนุษย์ทั้งเด็ก สตรีและกลุ่มผู้อ่อนแอของชาวโรฮิงญาก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในประเทศไทยและประเทศอาเซียนจึงยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ดังนั้นเมื่อครบ 1 ปีที่ปีแล้วประเทศไทยพบเรือผู้อพยพ พบศพชาวโรฮิงญาที่ถูกฝังในภาคใต้จำนวนหนึ่ง นำมาสู่การเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์มากมาย พบคนโรฮิงญาบางส่วนถูกกักขังจนต้องหนีค่าย หนีห้องขัง แต่ข่าวที่ออกไป คนไทยไม่น้อยมองว่าโรฮิงญาคือภาระ ทัศนคติดังกล่าวก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมค่อนข้างลำบาก” นางอังคณา กล่าว
ด้านนายศิวงศ์ สุขทวี ผู้แทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวว่า ในวาระที่ครบระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 นั้น เราพบว่า กรณีการพบหลุมศพของชาวโรฮิงญา/บังกลาเทศมากกว่า 30 หลุม ในตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จนนำไปสู่การออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องกว่า 150 คน ทั้งชาวโรฮิงญา ผู้มีอิทธิพล นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการตำรวจและนายทหารระดับสูงในพื้นที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็จริง แต่ปัญหาโรฮิงญาใช่จะจบลงแค่นั้น เพราะปัญหาโรฮิงญามีมานาน อย่างที่เป็นประเด็นก่อนหน้านั้นก็คือนับตั้งแต่ปี 2549 มาถึงตอนนี้ประมาณ 10 ปีแล้ว แต่ประเทศไทยยังมีความล้มเหลวในการแก้ปัญหาอยู่ ทั้งนี้เพราะคนไทยมีอคติทางชาติพันธุ์โรฮิงญา เช่น ในโลกออนไลน์มีการแสดงความคิดเห็นมากมายว่า โรฮิงญาต้องมาเป็นภาระให้ไทย พอพบชาวโรฮิงญาหนีก็มีการประนามว่าไม่สำนึกบุญคุณ ทำลายภาพลักษณ์ประเทศไทย และไม่ทำงาน ทั้งที่จริงคือโรฮิงญาเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยที่เผชิญปัญหาหลายด้าน อาทิ คนที่ถูกกักขังในค่ายซึ่งทางองค์กรเคยพบว่า พวกเขาอยู่ในค่ายที่แออัดและเป็นค่ายลี้ภัยที่ไม่ได้มาตรฐาน จนต้องหนี บางคนถูกคุกคามทางเพศ ละเมิดสิทธิหลายด้าน บางคนถูกแยกจากครอบครัว ส่วนปัญหาที่คนไทยมองแง่ลบว่าพวกเขาไม่ทำงาน เพราะรัฐไทยไม่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มดังกล่าวทำงาน เนื่องจากพวกเขาไม่มีเอกสารแสดงการมีอยู่ของประเทศต้นทางและเขาพัฒนามาเป็นแรงงานข้ามชาติยาก เพราะการพิสูจน์หลักฐานการเป็นพลเมือง โดยเฉพาะในกลุ่มโรฮิงญา ที่พม่านั้น ประเทศต้นทางไม่ยอมรับว่าเขาคือพลเมือง
“ถ้าการเมืองเปลี่ยน ไทยอาจจะลองเจรจาดูกับประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ แต่ยังไม่มีสัญญาณนั้น มีแต่ข่าวเคลื่อนไหวต่อต้าน ดังนั้นไทยต้องปรับรูปแบบดูแลคนลี้ภัยใหม่ให้เหมาะสม เช่น พัฒนาค่ายกักกันและปราบปรามค้ามนุษย์อย่างจริงจัง” นายศิวงศ์ กล่าว
ขณะที่ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี นักวิชาการจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รัฐบาลอาเซียนที่จะเข้าร่วมการประชุมในวันที่ 9 มิถุนายน ควรจะพิจารณาคัดแยกและกำหนดสถานะของชาวโรฮิงญาที่อพยพออกมาจากประเทศพม่า ทั้งนี้เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพียงอย่างเดียว หากแต่โดยแท้ที่จริงแล้วมีสถานะต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพหนีภัย เหยื่อการค้ามนุษย์ ผู้ลักลอบเข้าเมือง และอื่น ๆ
ดร.ศรีประภากล่าวว่า ที่ผ่านมาก็พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลอาเซียนมี status determination เช่นการให้มีสถานะผู้ลี้ภัยได้ เพื่ออย่างน้อยที่สุดจะสามารถไปตั้งหลักปักฐานในประเทศที่สามได้ ฉะนั้นต้องให้มีการระบุสถานะให้ชัดว่าเป็นอะไร เพราะแต่ละสถานะจะได้มีแนวทางแก้ ถ้าไม่ทำ ปัญหาชาวโรฮิงญาก็จะพูดไปรวม ๆ หมดเลย อยากให้ทุกประเทศทำ แต่ถ้าไม่ทำก็ควรให้ UNHCR เข้าช่วยระบุสถานะโดยลงทะเบียนที่ถูกต้องจากนั้นมีการดูแลเรื่องแรงงาน เช่น แรงงานไร้มือเช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติ สำหรับกลไกอาเซียนอย่างคณะทำงานระหว่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ไทย ประเทศเหล่านี้ควรมีการแต่งตั้งคณะทำงานอย่างจริงจัง เพราะเรื่องนี้ในประเด็นสิทธิมนุษยชน ร่วมกันในภูมิภาค
“กรณีประเทศต้นทางไม่ยอมรับ แต่ไทยต้องผลักดันออกไป โดยการส่งกลับประเทศอย่างไม่เป็นทางการ เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น ยังเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเขาหนีตายมา ถ้าส่งกลับแบบนั้น ดูไม่มีมนุษยธรรม ทุกองค์กรที่มาร่วมกันในวันนี้จึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายนี้ และเยียวยาผู้ที่เสียหายจากกระบวนการค้ามนุษย์ที่มีความเป็นธรรม”ดร.ศรีประภากล่าว
นายปภพ เสียมหาญ ตัวแทนจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า การดำเนินคดีกับขบวนการนำพาและค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทย จะทำให้ชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศถูกนำพาเข้ามาในประเทศมีจำนวนลดลงอย่างชัดเจน จากจำนวนเกือบ 25,000 คน ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 เหลือ 6,000 คนในเดือนเมษายน –พฤษภาคม 2558 แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดขบวนการนำพาและค้ามนุษย์ภายในประเทศไทยได้อย่างสิ้นเชิง ผู้ต้องหาจำนวนเกือบครึ่งยังลอยนวล การดำเนินกระบวนการยุติธรรมยังคงมีความท้าทาย ส่วนการดูแลผู้เสียหายและพยานในคดีค้ามนุษย์ยังคงล้มเหลว จากการถูกข่มขู่ ถูกชักจูงให้หลบหนีจากคนในขบวนการที่ยังคงลอยนวล ขณะที่อีกหลายร้อยคนยังคงได้รับการปฏิบัติในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ถูกกักขังภายในห้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่อรอการผลักดันออกนอกประเทศอย่างไม่มีกำหนด ที่นำไปสู่ความพยายามของผู้ต้องกักชาวโรฮิงญา 21 คน ที่หลบหนีจากห้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดพังงา และการวิสามัญชาวโรฮิงญาจนเสียชีวิต 1 คน
นายปภพ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอในวาระครบรอบ 1 ปี คือ อยากเสนอให้กระบวนการศาลและการใช้กฎหมายในประเทศไทยมีการช่วยเหลือผู้เสียหายมากกว่านี้ เช่นเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายและทนายความ พยานทุกคนเข้าให้ปากคำพร้อมกัน เนื่องจากที่ผ่านมานั้นผู้เสียหายบางคนมีฐานะแค่พยานและผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์ โดยศาลมักลงตัดสินลงโทษคนโรฮิงญาด้วยกฎหมายเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ใช่ช่วยเหลือคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยที่ได้รับความเสียหาย
“คือแนวทางที่ดีที่สุด กรณีพบพยานที่ช่วยให้ข้อมูลเรื่องค้ามนุษย์นั้น ศาลน่าจะต้องมีการคุ้มครองด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่า พยานหลายคนถูกขุ่มขู่ คุกคาม ทำให้ต้องหนีและการปราบค้ามนุษย์ไม่เป็นผล ปัญหาจึงยังมีอยู่ในประเทศไทย” นายปภพ กล่าว
นางสาวพุทธณี กางกั้น นักวิจัยจากแทนองค์กร Fortify Right กล่าวว่า ปัญหาหลักของโรฮิงญา คือ ไม่ประเทศไทยยอมรับ ดังนั้นกรณี UNCH พยายามจะส่งไปอยู่ประเทศที่ 3 แต่คนโรฮิงญาไม่ต้องการจะไป เช่นในไทยบางกลุ่มอยากอยู่ก็มีถิ่นฐาน อาศัยยาวนาน ส่วนนี้ไทยน่าจะจดทะเบียนบันทึกข้อมูลและมอบบัตรประจำตัวให้ เช่น บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งขณะนี้มีชาวโรฮิงญากว่า 3,000 คนได้บัตรดังกล่าวแล้ว ในจำนวนนี้มีบางคนเลือกจะเป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศอื่น โดยเสี่ยงเดินทางไปพิสูจน์เชื้อชาติ สัญชาติที่ประเทศอื่น เช่น บังกลาเทศ ส่วนพม่านั้นยังยากกับการทำกระบวนการดังกล่าว
“คือถ้าไม่ลงทะเบียนมันจะวุ่นวายมาก เพราะเมื่อเขากลายมาเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ค่าตัวต่อหนึ่งคนอยู่ที่ 60,000-100,000 บาท นายหน้าได้ไปเยอะเลย ดังนั้นถ้าไทยรับผู้ลี้ภัย ไทยก็บริหารค่ายดูแลอย่างเหมาะสมไม่แออัดเกินไป เพราะกลุ่มนี้บางคนนั่งเรือค้ามนุษย์มา ถึงกับกล้ามเนื้ออ่อนแรงก็มี บางคนเป็นอัมพฤกษ์ ถ้าค่ายมาแย่อีกก็จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตพวกเขามาก ดังนั้นไทยและประเทศอื่นที่ยอมรับโรฮิงญาให้อาศัยชั่วคราว ควรจะพัฒนาระบบใหม่ นำมาลงทะเบียนทำข้อมูลจะดีกว่าปล่อยเขากลับประเทศที่ตามทำร้ายเขา หรือผลักเรือออกไปจนเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์อีกครั้ง มันดูโหดร้ายเกินไป” นางสาวพุทธณี กล่าว
ด้านนายอาลี ตัวแทนโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยกว่า 30 ปี และถือบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน กล่าวว่า จากข่าวกรณีนางออง ซาน ซู จี จะเข้ามาเยี่ยมชาวพม่าที่ประเทศไทยและอาจมีการพบปะตัวแทนประเทศไทยทั้งรัฐ และองค์การพัฒนาเอกชนนั้น ตนอยากให้รัฐบาลไทยเอาวาระนี้ไปบอกกล่าวนางซู จี ด้วย เพราะขณะนี้โรฮิงญาหลายคนมีความต้องการกลับพม่าแต่ไม่สามารถกลับได้ เพราะนโยบายในประเทศไม่มีพื้นที่ให้คนโรฮิงญาได้เป็นพลเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ
/////////////////