Search

“มหาชัย”เตรียมการรับอองซานซูจีคึก เชื่อแรงงานข้ามชาติจำนวนมากรอพบ หวั่นสนามกีฬากลางจุได้ 1 หมื่นไม่พอ เสนอแก้ปัญหาสวัสดิการพื้นฐาน

ภาพโดย LPN
ภาพโดย LPN

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ แอลพีเอ็น (Labour Rights Promotion Network : LPN) เปิดเผยว่า ทางการพม่าได้แจ้งข่าวที่นางออง ซาน ซู จี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและผู้นำคนสำคัญในรัฐบาลพม่า มีแผนที่จะพบกับแรงงานข้ามชาติจากพม่าในพื้นที่ อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างการเยือนประเทศไทยในวันที่ 23-25 มิถุนายน นี้นั้น ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานงานเครือข่ายด้านต่าง ๆ เพื่อหารือร่วมกับจังหวัดสมุทรสาครในการเตรียมสถานที่รองรับแรงงานที่ต้องการจะต้อนรับนางออง ซาน ซู จี ซึ่งทางจังหวัดเองเตรียมความพร้อมหลายด้านทั้งเรื่องความปลอดภัย และพื้นที่อันเหมาะสม เบื้องต้นน่าจะเป็นสนามกีฬากลางในอำเภอมหาชัย โดยในส่วนของมูลนิธิฯ นั้นอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ แรงงานพม่าในไทยเพื่อเสนอต่อตัวแทนรัฐบาลพม่าที่จะมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางผนึกความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

นายสมพงค์ กล่าวว่า จากจำนวนแรงงานข้ามชาติราว 4 ล้านคนในประเทศไทย ส่วนมากเป็นแรงงานพม่า โดยในพื้นที่อำเภอมหาชัยมีประมาณ 4 แสนคน ทุกคนล้วนมีใจอยากจะต้อนรับนางออง ซาน ซู จี แต่สนามกีฬาที่เตรียมไว้บรรจุคนได้แค่ราว 1 หมื่นคน ส่วนที่เหลืออาจจะต้องรอรอบนอก อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางมูลนิธิฯ ได้ประชาสัมพันธ์ไปยังตัวแทนผู้ประกอบการหลายแห่งเพื่อให้รับทราบและให้โอกาสแรงงานได้เข้าพบตามวันและเวลาที่กำหนด ซึ่งยังไม่ยืนยันว่าจะเป็นวันที่ 23 หรือ 24 มิถุนายน แต่เบื้องต้นตัวแทนเครือข่ายแรงงานพม่าในไทยได้ออกความเห็นร่วมกันว่า ในการพบปะนางออง ซาน ซูจีและตัวแทนรัฐบาลครั้งนี้ จำเป็นต้องเร่งเสนอเรื่องการผลักดันให้มีการคุ้มครองแรงงานให้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการขั้นพื้นฐาน เช่น ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ค่าล่วงเวลา และสิทธิอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิรักษาสุขภาพ สิทธิการศึกษาทั้งในแรงงานผู้ใหญ่และเด็กลูกหลานแรงงาน นโยบายร่วมสองประเทศเกี่ยวกับการผลักดันการอบรมกฎหมายแรงงานข้ามชาติ

“เรื่องเร่งด่วนที่เรามองเห็น คือ ตอนนี้ลูกหลานแรงงานต้องซื้อประกันสุขภาพอยู่ เราอยากให้รัฐบาลไทยเปิดกว้างกว่านี้เพราะเขาเป็นเด็กไม่มีรายได้ และเมื่อเขาย้ายมาอยู่ชั่วคราวในประเทศไทยกับพ่อและแม่ ภาระใช้จ่ายสูงขึ้น ถ้าต้องจ่ายประกันสุขภาพให้ลูกหลานแรงงานด้วย ทำให้สิ้นเปลืองเงินไม่ใช่น้อย ดังนั้นถ้ามีแนวทางให้นายจ้างร่วมจ่าย ร่วมคุ้มครองด้วยน่าจะดี” นายสมพงค์ กล่าว

ผู้อำนวยการมูลนิธิแอลพีเอ็น กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์ทั่วไปของแรงงานพม่าในไทยทุกอย่างยังไม่มีอะไรเร่งด่วนมากนัก ยกเว้นเรื่องกรณีการเรียกส่วยจากแรงงาน เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยกำลังเร่งรัดนโยบายแรงงานถูกกฎหมายและประกาศให้นายจ้าง ดำเนินการพาแรงงานไปจดทะเบียนอย่างถูกต้อง แรงงานหลายคนต้องเดินทางไปดำเนินการตามจุดต่าง ๆ บางครั้งไปกับนายหน้า หรือตัวแทนบริษัท ยังพบว่าบางพื้นที่ตำรวจที่ตรวจเอกสารจะจับแรงงานเพื่อเรียกเก็บเงินนอกกฎหมาย แรงงานคนใดที่กลัวก็จะยอมจ่ายผ่านทางไป ทั้งที่เงินที่มีต้องจ่ายค่าจดทะเบียนใบอนุญาตทำงานประมาณรายละ 5,000-6,000 บาทเพื่อทำงานในไทยเป็นเวลา2ปี ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่อาจเป็นอดีตแรงงานไม่จดทะเบียน แต่มีหนังสือเดินทางและอยู่ระหว่างดำเนินการจึงตกเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเป็นผู้ถูกเรียกเก็บส่วย ทางมูลนิธิฯ จึงอยากขอความร่วมมือให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานต่างๆ ชะลอการดำเนินการจับกุมแรงงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจดทะเบียนด้วย เพื่อให้กระบวนการจัดระเบียบแรงงานเป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งหากมีโอกาสได้เจรจากับตัวแทนรัฐบาลพม่าอีกในโอกาสที่นางออง ซาน ซู จีมาเยือน ก็จะเสนอปัญหานี้ให้รับทราบด้วย เพื่อให้ไทยและพม่าร่วมมือกันจัดระบบแรงงานจากพม่าที่ทำงานในไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →