เมื่อวันที่ 16 มิถุนาย 2559 ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด ถนนรัชดาฯ กทม. ได้มีการเสวนา สกว.-ทีดีอาร์ไอ เรื่อง “การฟ้องหมิ่นประมาท:จุดสมดุลระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา นางสาวรสนา โตสิตระกูล ผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายไพโรจน์ พลเพชร ผู้แทนสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
นางสาวสุภิญญากล่าวว่า ตนโดนฟ้องมาแล้ว 2 กรณี 3 คดี โดยคดีแรกถูกบริษัทชินวัตรฟ้อง โดนทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งที่ถูกเรียกค่าเสียหายสูงถึง 400 ล้านบาท โดยขณะนั้นได้มีการพูดกันมากกรณีถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทเพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือ และคดีหมิ่นประมาทควรเป็นคดีอาญาหรือไม่ ซึ่งตอนนั้นตนพยายามพิสูจน์ว่าสิ่งที่ได้พูดไปเป็นจริงในที่สุดศาลชั้นต้นได้ยกฟ้อง
“ทุกวันนี้ในชีวิตการทำงานยังพูดทุกวัน มีคนเตือนว่ายิ่งพูดมากก็เสี่ยงมาก แต่คิดว่าทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง พยายามไม่ฟันธง หากลงลึกหรือใส่อารมณ์มากไปก็เสี่ยงถูกฟ้อง เราต้องชั่งน้ำหนักว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมและจำเป็นต่องานก็ต้องพูด”นางสาวสุภิญญา กล่าว
นายประสงค์กล่าวว่า อาชีพของนักข่าวและสื่อมวลชนถูกฟ้องเป็นเรื่องปกติ ลำพังตนเคยโดนแล้วประมาณ 10 คดี แต่ส่วนใหญ่ถอนฟ้องก่อน และคดีใหญ่มักไม่มีปัญหา เช่น กรณีซุกหุ้น แต่ที่มีปัญหาคือคดีเล็ก สิ่งที่ตนเรียนรู้คือเมื่ออยู่ในวงการนี้ก็ต้องรับสภาพให้ได้ อันไหนยอมได้ก็ยอมไป อันไหนเจรจาได้ก็เจรจาไป การฟ้องเรียกค่าเสียหายสูงเป็นแค่จิตวิทยา เพราะทราบดีว่าศาลไทยนั้นมักจะให้จ่ายตามความเป็นจริง อย่างไรก็ตามเราต้องเรียนรู้ว่าพูดหรือเขียนอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้อง
นายประสงค์กล่าวว่า การใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ถูกนำมาใช้เยอะมาก โดยเฉพาะมาตรา 14 เพราะโทษหนักและดูง่ายดี ที่น่ากลัวคือการเอาความผิดอื่นๆมาโยงใช้กับกฎหมายคอมพิวเตอร์ด้วย ขณะที่คดีหมิ่นประมาทเป็นคดีส่วนตัวแต่ต้องเป็นภาระของรัฐ โดยเฉพาะนักการเมืองด่ากันมากแล้วก็ฟ้องกัน ขณะเดียวกันทำอย่างไรให้กระบวนการไต่สวนมีความชัดเจน
นางสาวรสนา กล่าวว่าตนทำงานภาคประชาสังคมและถูกฟ้องมาตั้งแต่ปี 2541 กรณีทุจริตยา เพราะออกมารณรงค์จึงถูกแจ้งความ 4 คดี โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขแต่ศาลยกฟ้อง และรัฐมนตรีฟ้อง 4 จังหวัด แต่ในที่สุดต่างคนต่างถอน เหลือเพียงคดีทุจริตยาซึ่งใช้เวลา 6 ปี จนรัฐมนตรีติดคุก แต่ภายหลังก็ได้อโหสิกรรมกัน ทั้งนี้ด้านหนึ่งกฎหมายเป็นเครื่องมือ แต่อีกด้านหนึ่งกฎหมายเป็นทรัพยากรที่ทุกคนควรได้ใช้ แต่ที่ผ่านมาการมีแต่เพียงคนใหญ่คนโตในบ้านเมืองที่ใช้กฎหมาย แต่คนเล็กคนน้อยไม่ได้ใช้ แต่ตนใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ จริงๆแล้วกฎหมายเป็นทรัพยากรของเรา การฟ้องปิดปากนั้น เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง
“การที่ผู้มีอำนาจรัฐต้องการสกัดประชาชนที่ตรวจสอบ ไม่ใช่แค่เรื่องฟ้องคดีเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายวิธี อย่างดิฉันถูกตำรวจให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ดิฉันก็ไม่ไป แม้กระทั่งส่งหมายมาเป็นครั้งที่ 4 ถือว่าเป็นการคุกคามดิฉันหรือไม่ เพราะคู่กรณีต้องการทำลายให้ดิฉันไปอยู่ในสาระบบอาชญากร”นางสาวรสนากล่าว
นายไพโรจน์ กล่าวว่า เราพัฒนาประชาธิปไตยให้ประชาชนมีสิทธิเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบมากขึ้น ทำให้มีการฟ้องร้องมากขึ้น ประชาชนไม่นิ่งเฉยต่องานสาธารณะจึงเกิดการฟ้องปิดปาก ถามว่าคนฟ้องส่วนใหญ่เป็นใคร ส่วนใหญ่ก็เป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540และปี 2550 ได้พูดไว้ชัด ว่าหากเพื่อประโยชน์สาธารณะทำได้ จึงมีคำถามว่าบุคคลสาธารณะเป็นใคร การฟ้องส่วนใหญ่เกิดจากผู้มีอำนาจในงานสาธารณะ ดังนั้นจึงต้องเชื่อมให้ได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
นายไพโรจน์กล่าวว่า ถ้าไม่ยอมให้ประชาชนตรวจสอบเท่ากับบ้านเมืองนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย หรืออย่างกรณีบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐถือว่าเป็นสาธารณะหรือไม่ ตนคิดว่าใช่ ดังนั้นประชาชนจึงตรวจสอบกิจการสาธารณะได้ ที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากโดยใช้ทั้งตำรวจและอัยการเพื่อเอาผิดต่ออีกฝ่าย เมื่อมีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ขึ้นมา เป็นปัญหาใหญ่ เพราะรุนแรงกว่าหมิ่นประมาท จึงถูกนำมาใช้คู่กัน และใช้เครื่องมือนี้สกัดไม่ให้มีการตรวจสอบ ยิ่งในบรรยากาศไม่ปกติเช่นนี้
“การใช้กฎหมายไม่มีคุณธรรมเป็นเรื่องสำคัญ หากมีการหมิ่นประมาทบุคคลควร ไม่ควรใช้อัยการ หรือกลไกรัฐ เพราะเป็นการใช้เครื่องมือของรัฐแบบไม่เท่าเทียมกัน และต้องทำให้ประโยชน์สาธารณะยอมความกันได้เพื่อประโยชน์แท้จริง เราจำเป็นต้องเพิ่มแนวทางอย่างไร เช่น ถ้าติชมเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ควรทำได้ ผมเชื่อว่าหากพิสูจน์ได้ว่าทำเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ไม่ต้องกลัวการปิดปาก”นายไพโรจน์ กล่าว
————————-