เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีการสัมมนาสรุปบทเรียน “กำหนดแนวทางความร่วมมือขับเคลื่อนและยกร่างแผนแม่บทการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน” เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นจากตัวแทนในพื้นที่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีตัวแทนชาวบ้านซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนจากพื้นที่พัฒนาทั้ง 10 จังหวัด กว่า 50 คนเข้าร่วม
นายมูนิ เจมิ ชาวบ้านจากอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้ต่อต้านโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพียงแต่กังวลการกำหนดพื้นที่เป้าหมายและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากขณะนี้อำเภอแว้ง เป็นเขตรอยต่อป่าเขาบูโด ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และแหล่งต้นน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ที่จะไหลไปเป็นแม่น้ำโกลกที่เป็นพรมแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยไหลผ่านอำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ กำลังถูกผลักดันให้เป็นเขตอุตสาหกรรม ดังนั้นย่อมได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะต้องดึงน้ำจำนวนมหาศาลจากแม่น้ำโกลกเข้าสู่ระบบ ก่อนปล่อยน้ำเสียกลับลงสู่แม่น้ำ ส่วนอำเภอโคกเคียนและอำเภอระหาร ที่เป็นพื้นที่ติดต่อกัน ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับศูนย์กลางการขนส่ง ชาวบ้านกังวลว่าในอนาคตอาจจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก เนื่องจากหากดูจากสภาพภูมิประเทศที่ติดทะเลลึก มีสนามบินบ้านทอน และอยู่ติดชายแดน จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เหมาะสมมากที่สุดของไทยในการทำท่าเรือน้ำลึกเชื่อมต่อกับนิคมอุสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น
นายมูนิ กล่าวต่อว่า ชาวบ้านยังขาดความรู้ ความเข้าใจ แต่ไม่กลัวการใช้อำนาจ ม.44 เพราะชาวบ้านเจอกฎหมายพิเศษมากว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้นจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าไปให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านทั้งผลดีและผลเสียของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อที่ชาวบ้านจะได้นำเสนอให้รัฐพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมใหม่ เพราะชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา เพียงแต่เห็นว่าการกำหนดพื้นที่พัฒนานี้ยังไม่เหมาะสม อาจกระทบต่อวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และสังคม รวมถึงการจ้างงานที่ควรต้องเน้นประโยชน์แก่คนในพื้นที่เป็นอันดับแรก
ด้านดร.เขมิกา ทองเรือง ตัวแทนจากจังหวัดนครพนม กล่าวว่า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นนโยบายส่งเสริมที่เอื้อต่อนักลงทุน ที่ขาดการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ เช่น การไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินสาธารณะประโยชน์โคกภูกระแต เพื่อเรียกคืนที่ดินกว่า 1,800 ไร่ จนเกิดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย และวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่จังหวัดเป็นพื้นที่ความหลากหลายมีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ถึง 7 ชาติพันธุ์ และจังหวัดมุกดาหาร มีการเข้าไปตัดโค่นต้นยางของชาวบ้าน เพื่อนำที่ดินสาธารณะไปพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนเกิดความขัดแย้ง ทั้งที่ชาวบ้านพยายามหาทางออกขอเช่าที่ดินจากรัฐ
ขณะที่นายุชาติ เครือเขื่อนเพชร ชาวบ้านจากจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ในขณะที่ชุมชนยังขาดข้อมูลข่าวสารต่อโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และยังไม่เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจ แต่รัฐกำลังเร่งผลักดันนโยบายนี้ ซึ่งมีผลให้หน่วยงานท้องถิ่นต้องเร่งกระบวนการในพื้นที่ จนเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ และเกิดความกังวลต่อสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าขยะที่ตำบลโพนสว่างและตำบลสระใคร นอกจากนี้ความพยายามเร่งโครงการของรัฐบาลยังอาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริต โดยเฉพาะในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
นายอรัฐ กำเหน็จผล ชาวบ้านจากจังหวัดสงขลา กล่าวว่า พื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลาถูกกำหนดให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำกว่า 1,200 ไร่ของคลองอู่ตะเภา ดังนั้นนิคมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำประปาที่หล่อเลี้ยงคนหาดใหญ่และอำเภอใกล้เคียง รวมทั้งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่กรมธนารักษ์ ที่ยังไม่มีมาตรการว่าจะรองรับชาวบ้านเหล่านี้อย่างไร ขณะที่หน่วยงานในท้องถิ่นและหน่วยงานวิชาการก็ไม่เคยลงไปช่วยแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านต้องดิ้นรนหาข้อมูลและต่อสู้กันเอง ซึ่งล่าสุดทหารได้เข้ามาไล่ชาวบ้าน 20 ครัวเรือนให้ย้ายออกไป และยังเหลืออีกหลายร้อยครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่มานานแล้ว ควรจะมีทางออกให้ชาวบ้านได้ เช่น การให้ชาวบ้านเช่าที่ดิน และย้ายพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษไปยังพื้นที่มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา ซึ่งเป็นพื้นที่เก่าที่มีการสำรวจไว้เพื่อเตรียมสร้างนิคมอุสาหกรรมมาก่อน
ทั้งนี้ในวงสัมมนายังได้มีการแสดงความคิดเห็นของชาวบ้านซึ่งต่างมีข้อกังวลหลัก ๆ คือ เรื่องที่รัฐเลือกนำที่ดินสาธารณะประโยชน์มาใช้ในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นการผลักภาระให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากเป็นการเลี่ยงจ่ายค่าเวนคืนและค่าชดเชยแก่ชาวบ้าน เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน เรื่องแรงงานที่โรงงานอุตสาหกรรมย้ายไปในพื้นที่ชายแดนเพื่อรองรับแรงงานราคาถูกและวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ชาวบ้านจึงแทบไม่ได้ประโยชน์จากการจ้างงาน รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการนำที่ดินสาธารณะที่ชาวบ้านอาศัยและทำกินมานาน รวมถึงที่ดินป่าชุมชน เป็นต้น
ทั้งนี้ในวันที่ 17 มิถุนายน จะมีการประชุมต่อเพื่อสรุปแนวทางกลไกความร่วมมือของกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน
—————