เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2559 พลเอก สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ว่า ที่ประชุมได้มีข้อเสนอหลายด้านเกี่ยวกับปัญหาชาวเลใน 5 จังหวัดอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล) โดยภาพรวมนั้น ทางคณะกรรมการฯ ขอเบิกข้อมูลกับสำนักงานที่ดินของแต่ละจังหวัดเพื่อขอตรวจสอบโฉนดที่ดิน นส.3 ที่ออกทับที่สุสานและพื้นที่จิตวิญญาณทุกแห่งทั้ง 5 จังหวัด เพื่อตรวจสอบระยะเวลาว่าออกเอกสารนานกี่ปีแล้ว เนื่องจากปัจจุบันชาวเลหลายชุมชนร้องเรียนว่ามีความลำบากในการจัดหาสุสานเพื่อฝังศพ
พลเอก สุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเร่งด่วนอย่างที่ดิน 19 ไร่ในชุมชนหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ตนั้น เนื่องจากทางคณะกรรมการฯ และกรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบพบมาเป็นปีแล้วว่า ออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบธรรม จึงเสนอให้กรมที่ดินเพิกถอน แต่กรมที่ดินยังไม่กล้าจะปฏิบัติตาม ที่ประชุมจึงมีมติให้จังหวัดภูเก็ตขอข้อมูลอายุ กับรายละเอียดเอกสารวันที่จดทะเบียนจาก สค.1 มาเป็นโฉนดที่ดินหรือ นส.3 ในเอกชนรายใหญ่ที่อ้างครอบครองที่ดินมายาวนาน เพื่อจะตรวจสอบว่า มีความสอดคล้องกันหรือไม่ รวมทั้งส่งรายชื่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงมาด้วย เพื่อจะศึกษาสาระบบของพยานแต่ละช่วง หากพบความผิดปกติอาจจะมีประโยชน์แก่ชาวเลราไวย์ เพื่อใช้ในการฟ้องศาลต่อไป หากกรมที่ดินยังเพิกเฉยต่อการถอนเอกสารสิทธิ์
“สำหรับที่ของบริษัทบารอนฯ ที่ชาวเลร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องบริษัทสร้างกำแพงกั้นน้ำทะเลและปิดทางสาธารณะนั้น ทางชาวเลเขาฟ้องศาลจังหวัดแล้ว ต้องรอหมายศาลออกมาคุ้มครองทางเดินสาธารณะต่อไป แต่ทางคณะกรรมการฯ ประชุมวันนี้มีมติเพิ่มเติมคือ ขอให้กรมเจ้าท่าส่งรายงานมาว่า บริษัทมีใบอนุญาตสร้างกำแพงกั้นน้ำทะเลหรือไม่ แล้วขอตามกระบวนการอย่างไรบ้าง” พลเอกสุรินทร์ กล่าว
ประธานคณะกรรมการชาวเลฯ กล่าวด้วยว่า กรณีปัญหาชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูลที่ตนได้รับร้องเรียนว่าถูกเอกชนถมคลอง ถมที่สาธารณะตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ทางคณะกรรมการฯ มอบหมายให้สำนักงานอุทยานแห่งชาติตะรุเตาส่งแผนที่ทางอากาศในปี 2493 พร้อมทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่ออธิบายรายละเอียดของเส้นทางคลอง ถนนเชื่อมสู่หาด สู่ทะเล และถนนในชุมชนเพื่อจะได้ตรวจสอบภายหลังว่าถนน คลอง บ่อน้ำ ที่ชาวบ้านเคยใช้ร่วมกัน ถูกปิดไปกี่จุดเพราะชาวบ้านยืนยันว่าบ่อโบราณ ทางเดินเก่าแก่ในชุมชนนั้น ชาวบ้านไม่เคยมีการครอบครองเป็นการส่วนตัว ซึ่งข้อเสนอและมติทั้งหมดในการประชุมวันนี้ ทางคณะกรรมการฯ จะใช้เวลาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและจัดประชุมอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม อย่างน้อยกรณีชาวเลราไวย์ต้องมีความคืบหน้า เพราะกรมที่ดินไม่ยอมรับว่าตนผิดพลาด
///////////////////