ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 มิถุนายน 2559 เวลา 09.00 น.ชาวบ้านในชุมชนตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย หลายหมู่บ้านได้นัดรวมตัวกันที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย (มร.ชร.) เพื่อคัดค้านโครงการขนาดใหญ่มูลค่า 8,900 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า ตลาด อาคารพาณิชย์ อาคารที่พัก โดยมร.ชร.ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงกับบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเชื่อว่าโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านทั้ง 19 หมู่บ้าน
นายสายหยุด ดวงสนิท ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลบ้านดู่ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากประชาคมหมู่บ้านให้มาดูแลชาวบ้านที่คาดว่าจะได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากโครงการก่อสร้างดังกล่าวทำให้ได้รับผลกระทบทั้งชาวบ้านที่มีกิจการหอพัก รวมไปถึงร้านค้าโชห่วย ร้านค้าต่าง ๆ ร้านอาหาร ซึ่งมีรายได้เกี่ยวเนื่องจากมร.ชร. นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการแย่งใช้น้ำจากหนองบัว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำเก่าแก่ของชุมชนและมีได้ข้อพิพาทระหว่างมร.ชร.กับชุมชน
นายสายหยุดกล่าวว่า ที่ดินที่ใช้ก่อสร้างมร.ชร.เดิมทีเป็นที่ดินของชาวบ้านที่เข้าไปจับจองป่าเสื่อมโทรม ต่อมามีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในตอนนั้นต้องการสร้างศูนย์ฝึกหัดครู ชาวบ้านจึงยอมบริจาคที่ดินให้ และยังได้ช่วยกันลงแรงก่อสร้าง โดยมีข้อตกลงว่ามร.ชร.จะว่าจ้างชาวบ้านเข้าไปทำงาน รวมทั้งจะให้ทุนการศึกษากับชุมชนสำหรับเด็กที่เรียนดี แต่สุดท้ายข้อตกลงเหล่านี้หายไปหมด
นายสายหยุดกล่าวว่า ขณะเดียวกันในส่วนของหนองบัวซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ชาวบ้านหลายหมู่บ้านใช้น้ำร่วมกับมร.ชร. โดยในอดีตไม่เคยมีปัญหา แต่ต่อมาทางมร.ชร.ได้ขอปิดถนนรอบหนองน้ำในฝั่งที่ติดอยู่กับมร.ชร. ที่สำคัญในระยะหลัง เมื่อชาวบ้านไปหาปลาก็มีเจ้าหน้าที่มาขับไล่ นอกจากนี้ล่าสุดในปีนี้น้ำในหนองบัวก็ยังไม่พอใช้เนื่องจากมีการดึงน้ำไปทำโรงงานน้ำดื่มของมร.ชร. และเมื่อชาวบ้านขอคืนพื้นที่และให้ช่วยเปิดเส้นทางก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองทั้ง ๆ ที่เป็นเส้นทางสัญจรของ 3 หมู่บ้าน ดังนั้นชุมชนจึงหวั่นเกรงว่า ยิ่งมีการลงนามร่วมทุนกับธุรกิจเอกชนแล้ว ต่อไปการเจรจาคงยิ่งยากขึ้น
ด้านนางณัฐภัคพร คัมภีรนันทน์ ผู้ประกอบการหอพัก กล่าวว่า ในอดีตชาวบ้านเป็นผู้บริจาคที่ดินให้มร.ชร.แม้กระทั่งทางเข้า-ออกของมร.ชร. แต่พอจะสร้างโครงการขนาดใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบกับชาวบ้านกลับไม่เคยมีการปรึกษาชาวบ้านเลย ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ใด ๆ โดยที่ผ่านมาชาวบ้านต่างยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานต่าง ๆ แต่กลับไม่ได้รับทราบความคืบหน้าใด ๆ ดังนั้นจึงได้นัดกันที่หน้ามร.ชร.เพื่อทวงถาม รวมทั้งขับไล่อธิบการบดี
“แทนที่มร.ชร.จะตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ กลับมาทำธุรกิจร่วมกับบริษัทเอกชน และสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ถามว่า คุณมีความพร้อมแค่ไหนในการลงทุน 8 พันล้าน การที่ดึงเอกชนเข้ามา เขาก็แสวงหากำไรสูงสุด ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือนักศึกษาและชาวบ้าน 19 หมู่บ้าน” นางณัฐภัคพร กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ “เป็นข่าว” ซึ่งเป็นสื่อท้องถิ่นได้ลงข่าวการประชุมระหว่างจังหวัดเชียงราย ผู้บริหารมร.ชร.และชาวบ้าน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 กรณีคัดค้านโครงการ 8,900 ล้านบาท โดยผศ.ดร.ทศพล อารีนิจ อธิการบดีมร.ชร.ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า มร.ชร.ได้ลงนามกับซีพีออลล์จริง แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างใด ๆ เพียงแต่มีแนวคิดในการพัฒนามหาวิทยาลัยฯ โดยจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาเลือก การค้าขายสมัยใหม่ให้ทันต่อการเข้าสู่อาเซียน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว
————————-