เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 เวลา 09 .00 น. ที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ตัวแทนแรงงานข้ามชาติชาวพม่า มอญ ที่ทำงานในพื้นที่เมืองมหาชัยราว 100 คน เดินทางมายังสำนักงานแอลพีเอ็น เพื่อเขียนข้อความลงบนแผ่นกระดาษขนาดใหญ่สื่อสารถึงนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐบาลและรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างประเทศพม่า ภายหลังทราบข่าวว่าแรงงานนับหมื่นคนจะไม่มีโอกาสได้เข้าพบนางอองซาน ซูจี ในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ โดยแรงงานหลายคนสวมเสื้อยืดสกรีนรูปนางออง ซาน ซูจี บางคนถือกรอบรูป เพื่อแสดงความเคารพ
ทั้งนี้ข้อความที่ผู้ใช้แรงงานเขียนลงแผ่นกระดาษนั้น ส่วนมากจะขึ้นต้นด้วยคำว่า “ถึงแม่ที่รัก” จากนั้นจะตามด้วยข้อความต้อนรับ ข้อความร้องเรียนถึงประเด็นปัญหาของแรงงานที่รับจ้างในประเทศไทย เช่น พวกเราดีใจที่แม่มาหา และพวกเราอยากให้ประเทศพม่าเจริญโดยเร็ว เพราะเราอยากกลับบ้าน , แม่ครับพวกเราอยู่ทางนี้ถูกคุกคาม ละเมิดสิทธิหลายอย่าง , แม่คือความหวังของเรา, เรารักแม่ ฯลฯ ขณะที่ในช่วงเช้าก่อนการแถลงข่าว มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดและร่วมรับฟังการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย
นายโมตู แรงงานชายวัย 25 ปี จากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า กล่าวว่า ตนมาทำงานที่ประเทศไทยได้นานราว 3 ปีแล้ว เมื่อครั้งทำนา ทำไร่อยู่ที่พม่า ตนหวังอยากนางอองซาน ซูจีมาก และเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งก็ลาออกไปใช้สิทธิ์เลือกพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซูจี และเมื่อผลการเลือกตั้งเป็นที่สำเร็จหลายคนในหมู่บ้านร่วมเฉลิมฉลองกก้าวแรกของรัฐบาลแบบปกติที่ไม่ใช่ทหาร ครั้งนี้ในขณะที่ตนทำงานในประเทศไทย เพื่อนแรงงานพูดว่าช่วงหนึ่งที่นางออง ซาน ซูจี มาพบคนพม่าเมื่อปี 2555 โดยพยายามพบปะ พูดคุยกับแรงงานหลายกลุ่ม และให้คำสัญญาว่าจะพาแรงงานกลับบ้าน พอมาถึงวันนี้เมื่อรู้ข่าวว่าจะนางอองซาน ซูจี จะมาเมืองไทยอีกครั้ง ตนรีบโทรไปอวดกับทางบ้านและบอกกับทางบ้านว่ารัฐบาลนางอองซาน ซู จี จะพาแรงงานหลายคนที่ทำงานในไทยกลับไปทำงานที่บ้านเกิดเพื่อจะได้อยู่กับครอบครัว แต่ว่าตอนนี้เริ่มผิดหวังแล้วเพราะทราบข่าวว่าทางการไทยไม่ให้โอกาสแรงงานที่มีปัญหาด้านการรับจ้างในไทยเข้าพบ
“ ผมเขียนบอกว่า แม่ครับพวกเราดีใจและรักแม่ เรารักพม่าและเราก็อยากกลับบ้าน แต่ถ้าแม่ไม่ได้รับจดหมายหรือไม่ได้อ่านข้อความของเรา ก็ไม่เป็นไร ผมแค่หวังว่าแม่จะช่วยเราได้และเราจะได้อยู่ในประเทศของเรา เราจะไม่เป็นภาระคนไทย เพราะผมเองก็ไม่ได้อยากอยู่ที่นี่ แต่ผมจน พี่น้องพม่าก็จน ไม่มีทางเลือกต้องเข้ามาทำงานในไทย รายได้วันละ 300 บาท ” นายโมตู กล่าว
นางสาว ตู ตู วาย แรงงานสาชาวมอญววัย 23 ปี ที่มาจากเมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ ประเทศพม่า กล่าวว่าตนเข้ามาในแอลพีเอ็นหลายครั้งเพื่อมาร้องเรียนเรื่องแม่และน้องสาวที่ถูกนายหน้าหลอกเอาเงินสด30,000 บาท ไป และครั้งนี้เข้ามาเขียนข้อความถึงนางอองซาน ซูจี ถึงปัญหานายหน้าที่เข้ามาล่อลวงให้จ่ายเงินทำบัตรสีชมพูและโกหกว่าจะดำเนินการด้านเอกสารให้ แต่แล้วก็ถูกหลอกให้รอทั้งวัน เวลาผ่านไป 1 เดือนแล้ว แม่และน้องกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายรอเวลาการลงทะเบียนที่ถูกต้องอยู่
“เขานัดเราให้ไปตรวจสุขภาพรับรองที่โรงพยาบาล แม่กับน้องก็ไปรอทั้งวัน เขาเข้ามารับเงิน แล้วก็หนีหายไปเลย เราติดต่อเขาไม่ได้แล้ว เราไม่รู้จะทำไงก็มาบอกคนที่แอลพีเอ็น ตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งช่วยแม่กับน้องให้ได้บัตรอยู่ค่ะ เรากลัวมากว่าวันข้างหน้าเราจะเจอเรื่องแบบนี้อีก เราอยากให้รัฐบาลพม่า กับไทยแก้ปัญหาเรื่องนี้ เราอยากให้นายจ้างช่วยเรา อยากให้ตำรวจช่วยเรา ให้เราได้เข้ามาทำงานที่ไทยแบบถูกต้อง เพราะเรากลัวโดนจับ ทุกวันนี้แม่กับน้องต้องอยู่ในห้องออกไปไหนไม่ได้ กลัวโดนตำรวจจับ” นางสาวตูตู กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังกิจกรรมเขียนข้อเรียกร้องจากแรงงานพม่าแล้วเสร็จ ทางมูลนิธิฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ ฮิวแมนไรต์ วอตช์ และเครือข่ายแรงงานข้ามชาติจิตอาสา ร่วมกันแถลงข่าวนำเสนอประเด็นข้อเรียกร้องถึงนาง ออง ซาน ซู จี และรัฐบาลพม่า
นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการแอลพีเอ็น กล่าวว่าข้อเรียกร้องที่เตรียมไว้ยื่นต่อนางอองซานนั้นเดิมทีมี 5 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลพม่าร่วมกับรัฐบาลไทยเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามรอบใหม่ เนื่องจากขณะนี้ยังมีแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายและลักลอบทำงานในไทยประมาณ 1-2 ล้านคน รวมทั้งขอให้รัฐบาลพม่าจัดส่งทีมเจ้าหน้าที่และจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าร่วมกับทางการไทยเพื่อให้สามารถออกเอกสารรับรองสถานะและสัญชาติเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยออกเป็นหนังสือแสดงตัวบุคคล ซึ่งไม่ใช่หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ก่อน และออกเป็นพาสปอร์ตภายหลัง ทั้งกลุ่มแรงงานที่จดทะเบียนใหม่และกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติ 2.ขอให้ประสานกับทางการไทยติดตามและบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างไทยจ่ายค่าจ้างตามข้อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เนื่องจากขณะนี้นายจ้างบางส่วนยังจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าวันละ 300 บาท 3.ประสานงานกับทางการไทย เพื่อให้สิทธิแรงงานข้ามชาติที่มีบัตรสีชมพูสามารถเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ โดยไม่ถูกจำกัดการเดินทางอยู่ในจังหวัดที่ทำงานเท่านั้น 4.ขอให้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างทางการไทยกับพม่าในการนำเข้าแรงงานมาทำงานในไทย โดยผ่านระบบรัฐต่อรัฐ ไม่มีกระบวนการนายหน้าเข้ามาเกี่ยวข้อง และ5.ขอให้ทางการไทยดูแลบุตรหลานแรงงานพม่า มอญ ให้ได้รับการศึกษาและสาธารณสุข รวมทั้งสามารถเทียบโอนวุฒิการศึกษาระหว่างไทยพม่าได้
“อนาคตแรงงานในภูมิภาคอาเซียนต้องย้ายไป ย้ายมาเป็นแรงงานเคลื่อนย้ายอยู่แล้ว เราไม่รู้ว่าอนาคตพม่าจะโตกว่าเราไหม ลาวจะเป็นแบบใด อาจมีบางช่วงที่ไทยต้องเข้าประเทศเหล่านี้ก็ได้ ดังนั้นกฎหมายแรงงานต้องครอบคลุม เป็นธรรมกับทุกประเทศ” นายสมพงค์ กล่าว
ขณะที่นายโก โก นาย ตัวแทนเครือข่ายแรงงานข้ามชาติจิตอาสา กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าปัญหาของแรงงานที่มีความเดือดร้อนจริงๆนั้นจะถึงมือของนางอองซาน ซูจีหรือไม่ เพราะเดิมทีทางเครือข่ายฯ ได้ร่วมกับแอลพีเอ็น ประชุมกับสถานทูตพม่าและตัวแทนแรงานได้เร่งสรุปปัญหาการคุกคาม ละเมิดสิทธิ และความไม่เป็นธรรมด้านต่าง เพื่อเตรียมยื่นต่อตัวแทนรัฐบาลพม่า โดยสถานทูตได้มอบบัตรอนุญาตเข้าพบนางอองซาน ซูจีให้แก่ตัวแทนที่เดือดร้อนราว 60 คน แต่ต่อมาทราบว่าทางการไทยจะไม่อนุญาตแล้ว จะอนุญาตแค่แรงงานจากตัวแทนบริษัทที่มีการคัดเลือกไว้ 500 กว่าคนเท่านั้น ดังนั้นต้องรอลุ้นว่าจะได้เข้าพบหรือไม่ ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าการเข้มงวดแบบนี้จะส่งผลแบบใดต่อแรงงานซึ่งมีความทุกข์ ความไม่สบายใจเกี่ยวกับการรับจ้างในไทย แต่หวังอย่างยิ่งว่าทางการไทยจะมอบความเป็นธรรมแก่แรงงานทุกคนและนำข้อเสนอของชาวบ้านธรรมดาๆ ที่เข้ามารับจ้างไม่ใช่แค่ตัวแทนของบริษัทใหญ่เท่านั้น
ด้านนายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียของ ฮิวแมนไรต์ วอตช์ กล่าวว่า ส่วนตัวอยากฝากให้ตัวแทนรัฐบาลพม่าที่จะพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นในโซนอุตสาหกรรมมหาชัย ได้ให้ความสำคัญกับการออกมาตรการปราบการรีดไถเงิน จากแรงงานที่เดินทางไปมาในประเทศไทย ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศ ทางฮิวแมนไรท์ วอช กังวลว่า หากพม่าไม่ร่วมมือกับไทยเรื่องนี้ จะส่งผลกระทบระยะยาวเพราะมีการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเช่นกัน
//////////////////////////////////////////////