Search

เสียงตะโกน “แม่ซู”กระหึ่มมหาชัย และเสียงเงียบที่ไม่ได้ยิน เสียงของแรงงานข้ามชาติ

13518296_1136002589776358_1833895947_o
ต้องยอมรับว่าการเยือนไทยของนางออง ซาน ซู จี ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐบาลพม่า และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศครั้งนี้ มีความแตกต่างไปจากเดิมมาก เพราะเธอมาในนามรัฐบาล ไม่ใช่มาในนามฝ่ายคัดค้านรัฐบาลทหารพม่าเหมือนเมื่อปี 2555 ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD )

ครั้งนี้การปฏิบัติภารกิจใด ๆ จึงต้องเกรงใจเจ้าบ้านเพื่อรักษาความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศไว้ จึงไม่ได้มีโอกาสในการปราศรัยหรือพบปะกับแรงงานโดยรวม แต่ภารกิจเป็นไปอย่างลับ ๆ ในห้องประชุมที่ทางการไทยเตรียมไว้ โดยมีตัวแทนแรงงานบางส่วนราว 300 คนเข้ารับฟัง

หลายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายแรงงานข้ามชาติจากพม่า มีการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้ามานานถึงแผนการจัดพื้นที่ให้แรงงานที่ศรัทธานางออง ซาน ซู จี อย่างกรณีของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ แอลพีเอ็น ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับแรงงานข้ามชาติ เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายได้ระดมความคิดจากแรงงานตามโรงงานต่างและนำมาประมวลผลเป็นสรุปข้อเสนอเพื่อการคุ้มครอง พัฒนาแรงงานข้ามชาติในไทย และป้องกันการทุจริตในระบบแรงงาน ซึ่งหลายประเด็นนั้น แอลพีเอ็นและตัวแทนแรงงานได้นำเข้าเจรจากับสถานทูตพม่าหลายครั้ง กระทั่งได้คำตอบว่ามีตัวแทนแรงงานและตัวแทนนักสิทธิด้านแรงงานข้ามชาติในหลายจังหวัดที่ได้สำรวจสถานการณ์ปัญหาแรงงาน เตรียมเข้าพบนางออง ซาน ซูจี ราว 60 คน
13523661_1136002726443011_1594767375_o
แต่แล้วก็ต้องผิดหวังเพราะทางการไทยมีคำสั่งอย่างเป็นทางการว่าไม่อนุญาตให้ตัวแทนที่ไม่ผ่านการพิจารณาโดยรัฐบาลไทยเข้าพบ ซึ่งประเด็นดังกล่าวไม่มีใครทราบได้ว่า รัฐบาลไทยมีเกณฑ์การเลือกอย่างไร ทว่า แรงงานหลายส่วนที่เคยหวังว่าจะได้ฟังนางออง ซาน ซู จี ปราศรัยก็ยังไม่ยอมแพ้ ยังจัดกลุ่มเดินทางไปยังตลาดทะเลไทย พร้อมป้ายสัญลักษณ์แสดงความรัก ความเคารพต่อ “แม่ซู” ของพวกเขาด้วยใจจดใจจ่อ แรงงานบางรายถึงกับน้ำตาซึมเพราะในชีวิตไม่เคยได้เห็นหน้าอองซาน ซู จีตัวจริงสักครั้ง

บรรยากาศช่วงเช้าวันที่นางออง ซาน ซู จีจะเดินทางมาถึง แรงงานหลายพันคนจัดขบวนพาเหรด จัดเตรียมการแสดง บ้างเตรียมดอก ไม้ กรอบรูป “อู วิน” เป็นหนึ่งในแรงงานจากรัฐฉาน ที่เคยทำงานในล้งกุ้ง สมุทรสาครประมาณ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเวลา 3 ปี ครั้งที่ 2 เป็นเวลา 2 ปี ก่อนกลับไปพักงานประมาณ 5 ปีที่พม่า และเข้ามาทำงานใหม่อีกครั้งในร้านอาหารกรุงเทพ ฯ ได้ 2 ปี

เขาปรากฏตัวในผ้าโพกหัวรูป “ซูจี” และติดสติกเกอร์ข้างแก้มเป็นธงชาติไทย เช่นเดียวกับเพื่อน ๆ อีกหลายคนที่ทำงานในร้านอาหารกรุงเทพฯ เช่นกัน บางคนแต่งตัวด้วยชุดขาว ถือถุงขยะ เดินเก็บขยะทั่วงาน บางคนเดินแจกน้ำดื่ม แก่สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนเพื่อนบางกลุ่มก็รวมตัวประท้วงเจ้าหน้าที่เพื่อขอเข้าพบออง ซาน ซู จี
13518052_1136002869776330_1577103308_o

อู วิน (นามสมมติ) ย้อนอดีตให้ฟังว่า ครั้งแรกที่เข้ามาเมืองไทยนั้นเขาเจอปัญหานายหน้าเรียกเก็บเงินหลายครั้งรวมประมาณ 20,000 บาท เขาต้องทนทำงานในล้งเพื่อใช้หนี้นายหน้านานมาก และได้รับค่าตอบแทนแค่วันละ 200 บาท รวมค่าล่วงเวลาก็ประมาณ 300 บาทต่อวัน เหลือเก็บเองไม่ถึง 60 บาท นอกนั้นใช้หนี้หมด โดยนายจ้างระบุว่า เขาจำเป็นต้องหักเงินค่าแรง เพราะจ่ายเงินไปให้นายหน้าสูง กระทั่งอู วิน พยายามหาทางออก หาทางหนี และเปลี่ยนนายจ้าง เพราะรู้สึกได้ถึงความไม่ยุติธรรม กระทั่งเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจค้นตัวครั้งหนึ่ง และแจ้งว่า เขาไม่มีเอกสารใบอนุญาตทำงาน แต่ขณะนั้นเขามีเงินติดตัวไม่มาก จึงบอกกับตำรวจไปตรง ๆ ก่อนจะถูกส่งตัวไปพิสูจน์สัญชาติและลงทะเบียน ทำบัตรใหม่ ซึ่งเขามองว่า ครั้งนั้นเขาโชคดีที่เจอตำรวจดี ไม่เอาเปรียบ

“คนที่เขาพาผมมา เขาบอกว่าเขาจัดการทุกอย่างแล้ว ให้ผมทำงานเลย ผมก็โทรไปบอกแม่ว่า ผมได้งานแล้ว แต่เวลาเขาจ่ายเงิน เขาจ่ายมานิดเดียว ผมก็รวมกลุ่มกับเพื่อนจะลาออก เขาไม่ให้ลาออก ถ้าไม่เจอตำรวจผมก็ไม่ได้ออกจากที่นั่น ผมเลยไม่กลับมามหาชัยอีก และเลือกอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำงานล้างจานกับเก็บกวาดร้านต่อไป” อู วิน กล่าว

การกลับมามหาชัยของอู วิน และเพื่อน ๆ ครั้งนี้จึงมีเพียงจุดประสงค์เดียว คือ การมารอพบหน้า “ซูจี” สตรีผู้ยิ่งใหญ่ของเขา โดยเชื่อว่า นางจะนำพาประเทศไปสู่สันติภาพ

ส้ม (นามสมมติ) อายุ 20 ปี เพื่อนร่วมชะตากรรมกับอู วิน เล่าในระหว่างเดินเสิร์ฟน้ำดื่มว่า เขาเลือกมาทำงานบริการในตลาดทะเลไทยเพราะอยากรณรงค์ให้เมืองไทยปลอดจากนายหน้าค้ามนุษย์ น้ำดื่มที่มีในวันนี้เป็นน้ำดื่มที่พวกเขาร่วมออกเงินกันเอง หลังได้รับอิสรภาพในการทำงาน ตลอดเวลาการทำงานที่กรุงเทพฯ เขามีความสุขดี และอยากตอบแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งที่เคยช่วยเหลือให้พ้นจากกระบวนการเอารัด เอาเปรียบ เขาไม่รู้ว่า ถ้าไม่เจอคนไทยกลุ่มนั้น ชีวิตจะเป็นอย่างไร

13523752_1136002973109653_188038978_o

“ผมเคยได้ยินว่า คนไทยเขาว่า เราสกปรก ผมไม่โกรธนะ เพราะมันมีคนแบบนั้นจริง ๆ ที่ผมอยากกลับพม่าไม่ใช่เพราะผมไม่ชอบเมืองไทย แต่บ้านของผม เรามีแม่ มีน้อง ผมก็อยากไปเรียน อยู่ที่นี่ผมไม่ได้เรียนเต็มที่ แต่นายของผมเขาก็ให้พวกเราหยุดเสาร์ อาทิตย์ ไปเรียนภาษาไทยกับคนพม่าในกรุงเทพฯ นะ เขาก็ใจดี วันนี้เขาก็พาผมมาส่งที่นี่ด้วย พวกเรามารับแม่ซูวันนี้ ผมทำหน้าที่แบ่งน้ำดื่มให้ทุกคน และเพื่อน ๆ ก็เก็บขยะ ผมแค่อยากให้แม่เห็นว่า เราทำดีแล้ว เราทำดีเพื่อแม่แล้ว มันสนุกดีนะ ที่เรามีเวลามาเจอกันที่มหาชัย ถ้าเรากลับพม่าเราอาจจะเจอแม่ที่พม่าก็ได้ ตอนนี้ยังกลับไม่ได้ ไม่มีเงินเลย” ส้ม เล่าอย่างภูมิใจ

เวลาผ่านไป กระทั่งถึงเวลาของนางออง ซาน ซู จี เข้ามายังบริเวณตลาดทะเลไทย แรงงานจากพม่ารวมตัวกันร้องเพลงต้อนรับ และตะโกนเรียกชื่อดังทั่วตลาดทะเลไทย พวกเขายืนตากแดดด้วยความหวังอยากจะพบ “แม่ซู” จนนาทีสุดท้าย ที่ฝนตกลงมาอย่างหนัก เขาก็ยังรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น แทบทุกสายตามองหา “ซูจี” ตลอดเวลา แม้ในช่วงที่แกนนำและเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้อยู่ในความสงบก็ตาม

บรรยากาศการต้อนรับนางออง ซาน ซูจี เป็นไปอย่างลำบากยากเย็น และไม่ใครรู้คำตอบว่า นางพูดอะไรบ้างในห้องประชุม แม้แต่เสียงพูดคุยกับแรงงานกลุ่มหนึ่งที่รัฐบาลคัดเลือกเข้าไป ก็ไม่มีการเผยแพร่ให้คนนับพันที่รอด้านนอกได้ฟัง

แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่มีสิทธิแม้แต่จะได้สัมผัสเสียงของ “แม่ซู” ที่พวกเขาเคารพเชิดชู หลายคนบอกว่า แค่ได้แสดงออกมองอยู่ห่าง ๆ ก็มีความสุขแล้ว แต่สำหรับบางคนนั้นมองว่า ความเข้มงวดและข้อจำกัดของการมาเยือนไทยครั้งนี้ สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ที่รักและเทิดทูนนางออง ซาน ซูจีอย่างมาก
โก โก นาย ตัวแทนเครือข่ายแรงงานข้ามชาติจิตอาสา กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนและอาสาสมัครหลายมีเอกสาร หลักฐาน ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานที่ได้รับความลำบากจากการรับจ้างในประเทศไทย เพื่อเตรียมเสนอให้นางออง ซาน ซู จีและตัวแทนรัฐบาลพม่า รับทราบสภาพปัญหา อาทิ ภาพแรงงานที่เจ็บ ป่วย จากอุบัติเหตุ ภาพบุตรหลานแรงงานที่อยู่อย่างไร้การศึกษา ภาพแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในการลงเรือทำประมง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นภาพด้านลบที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทยควรมีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่ประเด็นดังกล่าวกลับถูกนำเสนอแค่ในส่วนของสื่อมวลชน

โก โก นาย กล่าวว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่ได้รับร้องเรียนมาหลายปี ไม่ถูกส่งต่อถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจทางนโยบายในสองประเทศ ปัญหาจึงไม่ถูกแก้ไข โดยเฉพาะปัญหานายหน้า และปัญหาการคุกคามสิทธิทางกาย ทางทรัพย์สินของเหล่าแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งหากไทยและพม่าไม่ร่วมมือกัน ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายก็จะยิ่งบานปลายและควบคุมยาก โดยเฉพาะเรื่องนายจ้างที่ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ใส่ใจในกระบวนการทำเอกสาร และมอบสวัสดิการแก่แรงงานกลุ่มนี้ ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีการจัดระบบอย่างดี แรงงานข้ามชาติก็จะมีส่วนร่วมจ่ายทั้งภาคการศึกษา การบริการสาธารณะสุขที่มั่นคงและพร้อมจะเป็นลูกจ้างเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย เพราะพวกเขาอยู่อย่างปลอดภัยไม่ถูกเอาเปรียบ

วันนี้นางออง ซาน ซูจี กลับประเทศพม่าไปแล้ว ขณะที่แรงงานจากประเทศพม่าก็กลับสู่การทำงานเช่นเดิม คนที่ได้นายจ้างที่มีคุณธรรมก็พอได้ยิ้มอยู่บ้าง แต่คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบก็ก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมกันต่อไป

สิ่งที่พวกเขายังหวังอยู่เสมอคือ สักวันหนึ่ง “แม่ซู”จะแก้ปัญหาให้พวกเขาได้

โดย จารยา บุญมาก

///////////

On Key

Related Posts

นายจ้างสีขาว-ลูกจ้างต่างด้าวหวั่นข้อมูลลงทะเบียนแรงงานหลุดถึงมือรัฐบาลพม่า-เชื่อถูกนำไปเช็คบิลแน่หลังรัฐบาลทหารพม่าถังแตกสั่งเรียกเก็บภาษี 25% ชาวมอญตื่นสั่งลูกเลิกเรียนแห่กันเข้ามาขุดทองในไทย

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 นางนิลุบล พงษ์พะยอม ตัวRead More →

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →