Search

กสม.ตั้งวงถกเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ยาสูบจวกจังหวัดมีเบื้องหลัง เผยส่วนกลางไม่เคยรับรู้หรืออนุญาตให้ใช้ที่ดิน ชาวบ้านทุ่งงิ้วยันไม่ยอมให้ป่าชุมชน ระบุเป็นแหล่งนิเวศที่สำคัญที่บรรพบุรุษสั่งให้รักษาไว้

13517846_1137248932985057_580564039_o
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 ที่โรงแรมริมกก รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดประชุมเรื่อง ผลกระทบจากการประกาศเขตเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้แทนภาครัฐนำโดยนายประจญ ปรัชญ์สกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายอำเภอต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนหน่วยงาน และตัวแทนชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับผลกระทบมาร่วมชี้แจงข้อเท็จจริง
นายประชัน จันระวังยศ ชาวบ้านทุ่งงิ้วกล่าวว่า บ้านทุ่งงิ้วเป็นชุมชนเก่าแก่นับร้อยปี และบรรพบุรุษได้กันพื้นที่ป่าชุมชนเอาไว้ 531 ไร่ โดยสั่งเสียให้ชาวบ้านช่วยกันรักษาและใช้เป็นที่ยังชีพเพราะยังมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งสร้างสมดุลทางธรรมชาติ เมื่อทราบว่าจะมีการนำป่าผืนนี้ไปใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้มีการถกเถียงกันเยอะมาก แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือควรให้ และไม่ควรให้ สุดท้ายได้ข้อสรุปตรงกันว่า ควรรักษาป่าไว้เพราะในชุมชนซึ่งมี 3 หมู่บ้าน โดยชาวบ้าน 1 ใน 3 ไม่มีที่ดินทำกินโดยต้องเช่านายทุน ขณะที่ชาวบ้านที่พอจะมีที่ทำกินก็ยากจน ซึ่งคนเหล่านี้ใช้ป่าผืนนี้เป็นที่ยังชีพ ยิ่งช่วงนี้มีมูลค่ามากเพราะหน่อไผ่กำลังออก ถือว่าเป็นแหล่งหากินของชาวบ้าน และไม่ใช่เฉพาะบ้านทุ่งงิ้วเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ หมู่บ้านใกล้เคียงก็ใช้ประโยชน์เช่นกัน

13535956_1137248082985142_218815297_n
ชาวบ้านทุ่งงิ้วกำลังสำรวจพื้นที่ป่าชุมชนที่กำลังจะถูกกันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

“สรุปคือ ป่าผืนนี้ให้ประโยชน์กับชุมชนอย่างมาก เราเห็นว่าดีมั้ย หากจะพัฒนาเมืองเชียงของโดยกำหนดให้ผืนป่านี้ไว้สำหรับเลี้ยงชีพประชาชน และเราช่วยกันหาผืนที่อื่นที่เหมาะสมเป็นแหล่งลงทุน ตอนนี้ชาวบ้านก็ถามว่า ทำไมพื้นที่หน้าสะพานที่เวนคืนไป 800 กว่าไร่ ถ้าเป็นโฉนด รัฐจ่ายไร่ละ 2.5 ล้านกว่าบาท ถ้าเป็นสปก.จ่ายไร่ละ 1.5 ล้าน แต่ในความเป็นจริงชาวบ้านขายไม่ถึง 1 ล้าน ชาวบ้านเปรียบเทียบว่า ทำไมต้องมาเอาพื้นที่ที่เป็นสายเลือดของพวกเรา และพวกเราตกลงเป็นเสียงเดียวกันว่า ขอรักษาป่าผืนนี้ไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน” นายประชัน กล่าว

นายวิทูรย์ จำปาคำ ชาวบ้านทุ่งงิ้วหมู่ 2 กล่าวว่า ป่าแห่งนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยมีแหล่งน้ำอยู่ 4-5 บ่อ เป็นแหล่งวางไข่ของปลาแม่น้ำโขงและแม่น้ำอิง พวกเราได้ร่วมกันศึกษาป่าแห่งนี้ ซึ่งได้มีการสำรวจและสุ่มตรวจตามหลักวิชาการพบว่า ป่าแห่งนี้มีความหลากหลายของต้นไม้ 23 ชนิด มีความหนาแน่นของต้นไม้โดยรวม 89 ต้นต่อไร่ ถือว่ามีความสมบูรณ์มาก มีความหนาแน่นของต้นไม้ใหญ่มากกว่านิยามถึง 4 เท่า รวมทั้งความหนาแน่นของต้นไม้ขนาดกลางและไม้เลื้อยอยู่มาก ดังนั้นจึงเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนเป็นอย่างดี

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกล่ารักษ์เชียงของกล่าวว่า สภาพป่าบ้านทุ่งงิ้วเป็นเอกลักษณ์ของป่าชุ่มน้ำแม่น้ำอิงโดยจะมีพืชเฉพาะ สิ่งสำคัญคือ ป่าแบบนี้เป็นแก้มลิงรับน้ำฤดูน้ำหลาก และเป็นแหล่งน้ำในฤดูแล้ง เป็นระบบนิเวศที่สำคัญที่สุด โดยป่าอย่างนี้ไม่ควรไปแตะต้องหรือเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ เพราะทำให้ระบบนิเวศเสียหาย โดยป่าชนิดนี้ในอำเภอเชียงของเหลืออยู่ไม่ถึง 10 แห่ง ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งศึกษาที่สำคัญ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงไปทำอย่างอื่นจะส่งผลกระทบรุนแรง เช่น การไปถมดิน ก็จะทำให้น้ำท่วมนาของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงแน่นอน ถือว่าเป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ เราเห็นด้วยกับการพัฒนา แต่ต้องสอดรับกับสภาพพื้นที่ ไม่เช่นนั้นจะเป็นตัวทำร้ายทุกอย่าง

ขณะที่ตัวแทนเกษตรกรในที่ดินโรงงานยาสูบกล่าวว่า ส่วนราชการไม่ได้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรโดยตรง เป็นการกำหนดพื้นที่ก่อน แล้วมาแก้ไขปัญหาทีหลัง ทั้ง ๆ ที่เป็นพื้นที่บริเวณที่ปลูกยาสูบใน อ.แม่สาย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และตนไม่แน่ใจว่าเป็นพื้นที่เหมาะสมที่จะทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจริงหรือไม่ ไม่ใช่กำหนดเพียงเพราะเป็นพื้นที่ของราชพัสดุ พวกตนเป็นตัวแทนเกษตรกร ยังมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมากมาย แต่ก็ยังไม่มีใครศึกษา อยากให้ภาครัฐตั้งหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาไปทำการศึกษา

น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบ สำนักงานยาสูบจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า พื้นที่ 800 กว่าไร่บริเวณนี้เป็นต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ โดยโรงงานยาสูบได้รับนโยบายจากภาครัฐให้ยกเลิกซื้อใบยาจากต่างประเทศที่เสียไปนับพันล้าน หรือร้อยละ 30 วันนี้เราพัฒนาพื้นที่เชียงราย 3 แปลง สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายต่างประเทศมาเป็นรายได้ของเกษตรกร ทำให้ซื้อใบยาจากต่างประเทศเหลือเพียงร้อยละ 3 โดยเรามีเป้าหมายเลิกใช้ใบยาต่างประเทศ โดยพื้นที่แปลงนี้เราซื้อมาบางส่วนและจับจองเป็นของกรมธนารักษ์ ซึ่งกรมธนารักษ์บอกว่าไม่เคยอนุญาตให้จังหวัดนำไปใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเมื่อถามไปที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยืนยันว่า พื้นที่แปลงนี้ไม่เหมาะสม แต่ไม่ทราบว่าทำไมจังหวัดยังยืนยันว่าจะใช้พื้นที่แปลงนี้อีก คงต้องไปดูเบื้องหลังใจบริบทอื่น ๆ ด้วย เราทำงานสนองนโยบายรัฐ แม้เราผลิตสินค้าบาป แต่เป็นแหล่งเงินที่สำคัญของประเทศ

น.ส.ดาวน้อยกล่าวว่า เราคุยกับอธิบดีกรมธนารักษ์อยู่ประจำ กรมธนารักษ์ที่กทม.ไม่ทราบการดำเนินการในพื้นที่ และที่บอกว่าศึกษานั้น ควรนำมาเปิดเผยเพื่อหารือกันได้ เพราะเรื่องของการพัฒนาควรอยู่บนพื้นฐานที่เข้าใจกัน และไม่ใช่ทำลายบางอย่าง

ขณะที่ผู้แทนกรมธนารักษ์กล่าวว่า เราได้รับนโยบายจากรัฐให้ประสานกับโรงงานยาสูบว่า ขอที่ดินคืน หรือแลกเปลี่ยน แต่โรงงานยาสูบบอกว่าขัดข้องเพราะ เป็นแหล่งปลูกยาสูบที่สำคัญ

ผู้แทนสำนักงานที่ดินเชียงรายกล่าวว่า รัฐบาลประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 อำเภอ โดยต้องการเอาพื้นที่หลวงนำร่องเพื่อให้เกิดการเช่า และไม่ให้ที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษราคาสูงเกินไป เพื่อเป็นทางเลือก และพยายามเลือกพื้นที่ที่มีผลกระทบน้อยที่สุด ทางจังหวัดต้องเสนอทางเลือก อย่างกรณีบ้านบุญเรือง เมื่อมีผลกระทบมากก็เปลี่ยนพื้นที่เป็นบ้านทุ่งงิ้ว เพราะเห็นว่าไม่มีผู้บุกรุกในที่ดินแปลงนี้ ซึ่งเราก็ต้องขอความเห็นชอบจากราษฎรทั้งหมด

“ที่ดินแปลงใหญ่ของหลวงเหลืออยู่ไม่กี่แปลงในจังหวัดเชียงราย อย่างที่แม่สาย เราเห็นว่าเป็นของยาสูบและเป็นการเช่า และยาสูบก็ทำลายสุขภาพ ทางจังหวัดก็พยายามหาทางเยียวยา อาจไม่เอาก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของส่วนกลาง เขตเศรษฐกิจพิเศษมีเนื้อที่มากมาย ผู้ลงทุนอาจใช้พื้นที่ใดก็ได้” ผู้แทนสำนักงานที่ดินเชียงราย กล่าว

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อนุกรรมการฯ กล่าวว่า มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยระบุไว้ชัดเจนในที่ประชุมให้เลี่ยงพื้นที่ชุ่มน้ำ นอกจากนี้ยังมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ห้ามเอาพื้นที่ชุ่มน้ำไปใช้อย่างอื่น เมื่อเป็นพื้นที่หนองน้ำอยู่แล้ว ที่สำคัญคือชุมชนดูแลเป็นอย่างดี ไม่ใช่เอาไปใช้อย่างอื่น ดังนั้นกรณีของบ้านงิ้วน่าจะมีการยกเลิก

นายประจญ ปรัชญ์สกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่หลายแห่ง เพราะรัฐบาลประกาศเรื่องเศรษฐกิจพิเศษไว้แล้ว เป็นหน้าที่ของจังหวัดที่ต้องลงไปดู ในเมื่อมีการเปิดเออีซีแล้ว ซึ่งประเทศรอบบ้านก็เริ่มรุกด้านเศรษฐกิจ โดยเชียงรายถือว่าเป็นพื้นที่ที่ติดทั้ง 3 ด้าน จึงเป็นโจทย์ที่จังหวัดต้องมาหารือกัน โดยพื้นที่เชียงของทางอำเภอได้ลงไปทำประชาคมหมู่บ้านแล้ว จริงๆ แล้วตนเองไม่คิดว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้ามาแล้วต้องทำลายบ้านเมือง และไม่คิดว่าเป็นอุตสาหกรรมเท่านั้น เพียงแต่เราทำพื้นที่นำร่อง โดยในส่วนของพื้นที่ยาสูบที่อำเภอแม่สาย ก็คงต้องมาคุยกันอีก ตนเป็นคนเชียงราย และรักเชียงราย ดังนั้น การพัฒนาควรต้องได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ทำลาย

นายวัชรินทร์ นิ่มประทุม นายอำเภอเชียงของกล่าวว่า เชียงของถูกกำหนดให้เป็น 1 เมือง 2 แบบ หากรัฐต้องการใช้ที่ดินต้องมีความชัดเจน และต้องฟังชุมชนที่เป็นเจ้าของที่ดิน แต่ทุกวันนี้ในจังหวัดมีคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้เพียงชุดเดียวโดยดูแลทั้ง 3 อำเภอ แต่กลับไม่ให้คนในพื้นที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อหาความลงตัวให้ได้ และเมื่อต้องการเอาที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมาเป็นของรัฐ ก็ควรให้เจ้าของพื้นที่ได้มีส่วนร่วมด้วย แต่ทุกวันนี้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ลงพื้นที่พูดเรื่องเดียวว่าจะเอาที่ดินของรัฐไปให้เอกชนเช่าซึ่ง เมื่อขึ้นรูปผิดตั้งแต่ต้น ก็ทำให้ผิดตลอด

นางเตือนใจกล่าวว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ควรเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เริ่มต้นจากที่ดินเป็นตัวตั้ง แต่เอาทิศทางและศักยภาพของจังหวัดเชียงรายที่มีอยู่เป็นตัวตั้ง

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →