เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน นายแอนดี้ ฮอลล์ นักกิจกรรมด้านแรงงานข้ามชาติ และเป็นที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศของเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เปิดเผยว่า ช่วงระหว่างที่นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐบาลพม่าและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ มาเยือนไทย ในวันที่ 23-25 มิถุนายน ที่ผ่านมานั้น ในวันสุดท้าย นางอองซาน ซูจีได้เชิญตัวแทนแรงงานข้ามชาติร่วมหารือเป็นการส่วนตัวในสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ก่อนเดินทางกลับพม่า โดยแต่ละเครือข่ายได้ถือโอกาสยื่นข้อเรียกร้องและนำเสนอปัญหาทั้งหมดให้นางอองซาน ซูจีได้ฟัง
นายแอนดี้ ฮอลล์ กล่าวว่า เครือข่ายแรงงานข้ามชาติที่ตนทำงานอยู่ได้ส่งตัวแทนที่ทำวิจัยด้านแรงงานเข้าพบที่ปรึกษาแห่งรัฐบาลพม่าด้วยเช่นกัน โดยได้ร้องเรียน 3 ข้อหลัก คือ 1. กรณีผู้ต้องสงสัยในคดีฆ่ากรรมชาวอังกฤษที่เกาะเต่า ขอให้สถานทูตพม่าดูแลนักโทษของตนและให้การติดตาม การดำเนินคดี รวมทั้งรับทราบปัญหา ที่นักโทษถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่นักโทษเป็นพลเมืองพม่า 2. เน้นย้ำเรื่องการทำพาสปอร์ตหรือหนังสือเดินทางแก่แรงงานพม่าที่ทำงานในต่างประเทศ แทนการออกบัตรสีชมพู แบบเดิมเพราะมีประโยชน์ระยะยาวและลดภาระค่าใช้จ่าย ง่ายต่อการประสานงาน ติดต่อทำเอกสารอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ฝ่ายแรงงานของรัฐบาลพม่า ที่ต้องคุ้มครองแรงงานของตน
นายแอนดี้ ฮอลล์ กล่าวว่า 3. ร้องเรียนเรื่องการขอความร่วมมือรัฐบาลไทยจัดทำเอกสารการโอนเทียบวุฒิการศึกษาแก่ลูกหลานแรงงานพม่าที่มาทำงานในไทย เมื่อกลับไปจะได้เรียนต่อง่ายขึ้น
“ทีมงานด้านสิทธิของเครือข่ายพูดแค่นี้ ส่วนเครือข่ายแรงงานรายอื่นเน้นที่ปัญหานายหน้า และการที่นายจ้างเอาเปรียบแรงงานพม่า ซึ่งนางอองซาน ซูจีรับฟังทุกปัญหา และให้โอกาสเครือข่ายได้เจรจาหารืออย่างเต็มที่ การประชุมครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องลับอะไร แต่เป็นการทำงานปกติของนาง เพราะเธอพยายามใกล้ชิดกับกลุ่มคนแบบนี้ แต่แค่ครั้งนี้ไม่ได้ประกาศเชิญสื่อเข้าทำข่าวและไม่ผ่านการประสานงานโดยรัฐบาลไทย เพราะเธอมองว่านี่เป็นหน้าที่ของเธอ ในความจริงเธอให้คนของเธอประสานงานมายังแรงงานภายหลัง เพื่อจะรับเรื่องร้องเรียน แต่ช่วงกำหนดการก่อนหน้านี้ที่เธอไม่มีโอกาสพบแรงงานในแบบสาธารณะ เธอรู้ดีว่าแรงงานทุกคนนั้นไม่สบายใจ แต่นั่นเป็นการจัดการตามแบบทางการไทย ส่วนตัวเธอเองไม่มีปัญหา”น ายแอนดี้ กล่าว
นายแอนดี้ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมองว่านางอองซาน ซูจี มีการทำงานที่ชัดเจน แต่กรณีที่สายความมั่นคงของไทยเปลี่ยนแปลงกำหนดการและวางระบบตัวแทนแรงงาน 500 คนในการพบกับนางอองซาน ซูจี นั้น เป็นความกลัวที่ทางการไทยทำขึ้นเอง ตนเคยคิดและรายงานอธิบดีหลายกรมแล้วว่า การคัดเลือกตัวแทนเข้าพบนางอองซาน ซูจี เสี่ยงมากจะทำให้เกิดความขัดแย้งของกลุ่มแรงงานกันเอง และจะยิ่งแย่หากมีข่าวไม่ดีถึงการปะทะหรือประท้วงในไทย เพราะคนไทยบางส่วนจะยิ่งมองแรงงานข้ามชาติแง่ลบมากขึ้น
นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน กล่าวต่อว่า จริงๆ เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว กัมพูชาหรือเวียดนาม รัฐไทยในฐานะประเทศที่เปิดรับแรงงานกลุ่มนี้มาทำงาน ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องกลัวกับข่าวลือที่ว่าแรงงานจะพากันกลับบ้าน เพราะประเทศต่างๆเหล่านี้ยังมีนโยบายด้านแรงงานที่แตกต่างจากประเทศไทยและมีการจ้างงานที่ต่ำกว่า การเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จึงเป็นธรรมชาติ ดังนั้นหากรัฐบาลไทยมีโอกาสได้เจรจากับประเทศที่ส่งแรงงานเข้ามาทำงานในไทยก็ควรจะจริงจังและจริงใจกับการแก้ปัญหา มากกว่าการแบ่งกลุ่มของแรงงานเพื่อเข้าพบตัวแทนรัฐบาลจากประเทศนั้นเหมือนที่เกิดขึ้นต่อกรณีพม่า และจะเห็นได้ว่านางอองซานซูจี ไม่ได้กังวลหรือมีท่าทีจะหลีกเลี่ยง การพบประชากรของตนเลย เพราะในวันสุดท้ายนอกจากการประชุมในสถานทูตพม่าแล้วเธอยังยอมลงจากรถไปพบแรงงานกลุ่มหนึ่งที่อำเภอสามพรานจังหวัดนครปฐมและรับดอกไม้จากแรงงานเหล่านั้น หากแต่กรณีที่มหาชัยเธอเองไม่อยากพบเห็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มแรงงาน 2 กลุ่มมากกว่า
——————