ชายหาดคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ที่พากันข้ามฟ้ามาเล่นน้ำทะเลใสสีเขียวครามบนเกาะแห่งนี้
ในมุมเล็กๆบนชายหาดทรายขาวนวล ชาวเลกลุ่มหนึ่งกำลังทำพิธีเคารพหลุมศพบรรพบุรุษ ทันทีการไหว้เสร็จสิ้น เมื่อเสียงดนตรีดังขึ้น ผู้หญิง 5-6 คน ต่างพากันร่ายรำตามจังหวะ บางคนร้องเพลงไปด้วย
นักท่องเที่ยวในชุดว่ายน้ำหลายคนที่เหลือบเห็นต่างให้ความสนใจ พากันเข้ามาชมและถ่ายภาพกันอย่างกลัวๆกล้าๆ เหมือนได้เห็นความผิดปกติหรือความแปลกประหลาดเกิดขึ้นบนชายหาด
ขณะที่ “เยาะอาบัง” แม่เฒ่าวัยอูรักลาโว้ย ยังคงนั่งเซื่องซึมดูสภาพสุสานที่ถูกโบกทับด้วยพื้นปูนจากร้านอาหารที่พึ่งเจ๊งไป ซึ่ง 1 ในหลุมศพที่อยู่ในนั้นคือพ่อของแก
เสียงวี้ดว้ายสนุกสนานจากนักท่องเที่ยวยังคงดังไม่ขาดสาย เหล่าผู้ประกอบการและไกด์ชาวไทยต่างรุมเอาอกเอาใจและปรนเปรอความสุขให้อาตี๋อาหมวยเพื่อแลกกับเม็ดเงินที่กอบโกยเข้ากระเป๋าเป็นกอบเป็นกำ
ภาพบรรจบระหว่างวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นดั้งเดิมและบรรยากาศฟูฟ่องของการท่องเที่ยวบนชายหาดแห่งนี้ สะท้อนสถานการณ์ในท้องทะเลอันดามันได้คมชัดยิ่ง
ท้องทะเลกว้างใหญ่แต่ชวนอ้างว้างสำหรับชาวเล เพราะแทบไม่เหลือผืนน้ำผืนทรายไว้ให้พวกเขาได้ซุกตัวเลย แม้แต่ใช้ฝังร่างเมื่อยามลาลับ
เยาะอาบัง หรือยายอาบัง เกิดบนเกาะเฮ จ.ภูเก็ต เมื่อ 80 กว่าปีก่อน แกจำได้ว่าเมื่อตอนเล็กๆบนเกาะที่มีหาดทรายยาวราว 1 กิโลเมตรแห่งนี้คึกคักไปด้วยญาติพี่น้องอูรักลาโว้ยและต้นมะพร้าวใหญ่
วิถีชีวิตของชาวอูรักลาโว้ยก็เช่นเดียวกับชาวเลกลุ่มอื่นๆไม่ว่าจะเป็นมอแกนหรือมอแกลนคือผูกโยงอยู่กับทะเลตั้งแต่ลืมตาจนหลับตา
“สมัยนั้นหาปลาได้ก็เอาไปตากแดดเก็บไว้ พอได้เยอะหน่อยก็เอาขึ้นฝั่งไปแลกกับข้าว”แม่เฒ่ายังจดจำชีวิตในวันเด็กได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นช่วงที่แกมีความสุขท่ามกลางทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญกว่านั้นคือความมีอิสระแห่งท้องทะเล
เกาะเฮในยุคที่เยาะยังเด็กนั้น แทบไม่มีคนนอกเข้าเหยียบเลย แกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าน้ำใสๆ หาดทรายขาวๆและปะการังใต้ทะเลคือความงามที่คนนอกต้องการ เช่นเดียวกับเกาะอื่นๆในภูเก็ตที่เป็นเพียงที่หลบแดดหลบฝนของชาวประมงและที่พักของชาวเลในบางฤดูกาล
ทุกเกาะไม่มีใครเป็นเจ้าของ ขณะที่คำว่า “นักท่องเที่ยว”ยังไม่คุ้นชินสำหรับสังคมไทย
พออายุ 10 ปี แม่เฒ่าต้องสูญเสียพ่อไป แกยังจำได้แม่นถึงจุดที่ฝังศพครั้งนั้น ซึ่งในทุกๆปีแต่ละบ้านจะต้องมาเซ่นไหว้สุสาน หรือใครตั้งจิตภาวนาขออะไรไว้ก็ต้องมาแก้บนที่นี่
สุสานและชุมชนต่างอยู่คู่กัน ทั้งคนและผีต่างเกื้อกูลกันมายาวนาน
“อายุ 14 ปี พวกเราต้องย้ายขึ้นฝั่งไปอยู่ที่ราไวย์ เพราะมีคนท้องเป็นโรคตาย 4-5 คน” เยาะและชาวอูรักลาโว้ยทุกครอบครัวอพยพขึ้นไปอยู่กับญาติพี่น้องบนหาดราไวย์ชั่วคราว ซึ่งสมัยนั้นเป็นหมู่บ้านที่ชาวเลใช้หลบแดดหลบฝนอยู่ก่อนแล้ว โรคที่ระบาดตอนนั้นคืออหิวา “พวกเราตั้งใจว่าพอดีขึ้นจะกลับมาอยู่เหมือนเดิม แต่ก็ไม่ได้กลับ..”
ก่อนหน้าที่ชาวบ้านออกจากเกาะเฮและไปๆมาๆ ได้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและครูกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะฮุบที่บนเกาะเฮ โดยบอกให้ชาวเลย้ายไปอยู่ที่อื่น
สังคมไทยสมัยก่อน ไม่ว่าชาวบ้านที่ใดต่างก็หวาดกลัวและเกรงใจข้าราชการเป็นทุนอยู่แล้ว ยิ่งเป็นมนุษย์น้ำอย่างชาวเล ถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็ไม่อยากพบเจอคนบนบก เมื่อประจวบเหตุการณ์โรคระบาด ในที่สุดที่ดินที่ชาวเลเคยอาศัยอยู่บนเกาะเฮก็ตกไปอยู่ในมือของข้าราชการกลุ่มนี้ทั้งหมด และพวกเขาได้ขายกันเป็นทอดๆในเวลาต่อมา
แม้กระทั่งสุสานของชาวเลซึ่งควรจะเป็นสมบัติของสาธารณะก็ยังถูกเปลี่ยนเป็นเอกสารสิทธิ์ของผู้มีอำนาจทางการเมืองซึ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนเขาได้ให้คนเช่าและทำเป็นร้านอาหารโดยเทพื้นปูนทับหลุมฝังศพชาวเลโดยไม่สนใจกระดูกและวิญญาณที่สถิตอยู่ในผืนทรายแห่งนี้เลย แต่สุดท้ายร้านอาหารแห่งนี้ก็เจ๊งไม่เป็นท่า เช่นเดียวกับสิ่งปลูกสร้างอีกหลายแห่งที่ทับสุสาน
“ตั้งแต่ออกไป เยาะก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย ได้แต่ฟังข่าวจากญาติๆที่แวะมาดู” ผู้เฒ่ารู้สึกแปล๊บๆในใจทุกครั้งที่นึกถึงสุสานและหลุมฝังศพของพ่อบนเกาะเฮ “เมื่อก่อนเดินทางลำบาก ต้องนั่งเรือนาน กว่าจะมาถึง”
ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 60 กว่าปีที่แม่เฒ่าได้กลับมาเหยียบเกาะที่เป็นบ้านเกิด
แม้เยาะอาบังไม่มีโอกาสกลับมาดูสุสานบนเกาะเฮมานาน แต่ “ลุงสน”ผู้เฒ่าอูรักลาโว้ยและชาวบ้านคนอื่นๆยังคงแวะเวียนมากราบไหว้บรรพบุรุษและแก้บนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือน 5 ที่ต้องมาทำพิธีไหว้สุสาน
ลุงสนเกิดที่ราไวย์ แต่ก็ได้มาคลุกคลีกับญาติมิตรและปีนต้นมะพร้าวบนเกาะเฮมาตั้งแต่เด็ก แกเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงบนเกาะแห่งนี้ด้วยความเป็นห่วงมาโดยตลอด
“เมื่อก่อนมีต้นมะพร้าวอยู่เต็มไปหมด เขาค่อยๆตัดทิ้ง เอาพื้นที่ไปทำร้านอาหารและที่พักกันหมด” แน่นอนว่าคนที่มีอาชีพปีนเก็บลูกมะพร้าวอย่างแก ย่อมเสียดายต้นมะพร้าว แต่ความเสียดายของแกก็เป็นส่วนสำคัญในการยืนเคียงคู่ธรรมชาติ
“ตอนหลังนายทุนที่อ้างกรรมสิทธิ์บนที่ดิน เขาห้ามชาวเลเข้าพื้นที่เด็ดขาด อย่าว่าแต่เข้ามาไหว้หลุมศพเลย แค่เห็นเรือชาวเลมาจอด เขายังส่งคนมาห้ามไม่ให้ขึ้นหาดเลย” ลุงสนอธิบายสถานการณ์“คนตายไม่มีที่ฝัง คนเป็นไม่มีที่อยู่”ของชาวเลได้ชัดแจ๋ว
นักวิชาการบางรายเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ท้องทะเลอันดามันจะไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเหลืออยู่ เนื่องจากทุกวันนี้ชาวเลถูกรุกไล่อย่างหนักหน่วง ตั้งแต่เรื่องที่อยู่อาศัย วิถีวัฒนธรรมไปจนลึกถึงจิตวิญญาณ
“หาปลาแถวเกาะนี้น่ะหรือ? หาได้ แต่ต้องตอนกลางคืน” ลุงสนสะท้อนวิถีของเพื่อนๆที่ต่างมีอาชีพจับปลาซึ่งหากินลำบากขึ้นทุกวัน เพราะผืนทะเลถูกจับจองและมีคนอ้างความเป็นเจ้าของกันหมด ขณะที่เรือประมงเล็กๆของชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าบ่อนทำลายธรรมชาติและทำลายความรู้สึกของการท่องเที่ยว แต่เรืออวนรุนอวนลากขนาดใหญ่กลับกอบโกยสัตว์น้ำไม่เลือกขนาดตามริมฝั่งกันอย่างลอยนวล
ปัจจุบันสุสานและพื้นที่ทำพิธีกรรมของชาวเลนับสิบแห่งถูกนายทุนอ้างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ หลุมฝังศพตามชายหาดทั้งบนฝั่งและบนเกาะชื่อดังหลายแห่งถูกเนรมิตเป็นโรงแรมหรู แม้กระทั่งชุมชนหาดราไวย์ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวเลก็ยังถูกออกเอกสารสิทธิ์จนหมดสิ้น
“เราขอแค่ให้ลูกหลานกลับมาไหว้หลุมศพได้เหมือนเดิมก็พอ” เสียงของลุงสนและเยาะอาบังบอกเบาๆอย่างเกรงใจและไม่มั่นใจในคำขอ
ไม่มั่นใจแม้กระทั่งว่าในวันที่พวกแกต้องคืนสู่ดินอีกไม่ช้า จะยังมีสุสานหรือผืนดินฝังร่างของผู้เฒ่าอยู่หรือไม่.
โดย ภาสกร จำลองราช
padsakorn@hotmail.com
—————————ล้อมกรอบ —————————
ทางออกของชาวเล
ในมุมของนักนิติ-มานุษวิทยา
นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองว่า ตามกฎหมายแล้วสุสานและพื้นที่ประกอบพิธีกรรมเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ซึ่งเอกชนไม่สามารถือกรรมสิทธิ์หรือนำไปออกโฉนดได้ หากมีการออกโฉนดทับสุสานและสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการออกโฉนดทับพื้นที่สาธารณะ ประชาชนที่มีสิทธิ์ใช้สถานที่นั้น สามารถขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดนั้น ไม่ว่าจะออกโฉนดนั้นมานานเท่าใด โดยเรื่องนี้เคยมีคำพิพากษาที่จ.เชียงใหม่กรณีที่มีการอ้างกรรมสิทธิในที่ดินและเปิดร้านค้าบริเวณแนวกำแพงเมือง โดยทางการขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์แม้จะออกมานาน เพราะเดิมทีฐานกำแพงเมืองกว้าง ในที่สุดศาลก็ได้ตัดสินให้มีการเพิกถอน หรืออย่างกรณีสุสานจีนที่สีลม กทม.ก็เช่นเดียวกัน
“กรณีสุสานของชาวเลนั้น ชาวเลควรยื่นเรื่องให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์เพราะพื้นที่ดังกล่าวถือว่าเป็นสาธารณะประโยชน์ หากกรมที่ดินไม่ยอมดำเนินการก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้”อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าว
นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนของปัญหาที่ดินชุมชนราไวย์ที่ถูกเอกชนนำไปออกโฉนดและมีคดีฟ้องร้องอยู่ในศาลนั้น แนวทางต่อสู้คือชุมชนต้องช่วยกันอธิบายและพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าเป็นชุมชนที่อยู่กันมาดั้งเดิม ที่สำคัญคือชาวเลไม่ได้คิดจะครอบครองเอาเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องทำให้ข้อเท็จจริงให้ปรากฎมากที่สุด
ขณะที่ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ นักมานุษยวิทยและประธานมูลนิธิชุมชนไทกล่าวว่า ชาวเลอยู่ที่หาดราไวย์มานาน แต่ถูกเอกสารสิทธิ์ทับที่ แต่ชาวเลเป็นคนสุภาพจึงยอมอยู่เรื่อยๆ แต่สังคมสมัยใหม่ยอมไม่ได้เพราะการจะอยู่รอดต้องต่อสู้ เขาอาศัยกฎหมายมาบีบ ดังนั้นชาวบ้านอาจฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนโฉนด การเก็บข้อมูลเรื่องประวัติชุมชนจึงสำคัญมากเช่นเดียวกับเรื่องสุสาน นอกจากนี้ชาวบ้านต้องทำให้ผู้พิพากษารู้ว่าชุมชนคืออะไร
—————— —————— ——————