———————
หมายเหตุ-เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2559 ได้มีการนิมนต์พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ มาฉันภัตราหารเพลที่บ้านย่านสุทธิสาร และได้มีการตั้งประเด็นปัญหาเพื่อให้พระอาจารย์ได้ชี้แนะ ซึ่งสำนักข่าวชายขอบ เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับฆราวาสโดยเฉพาะคนที่ทำงานยึดโยงอยู่กับความทุกข์ยากของชาวบ้าน
———————
-ท่ามกลางสถานการณ์ของสังคมขณะนี้ การทำงานเพื่อชุมชนหรือเพื่อชาวบ้านเกิดมักเกิดคำถามแบบไม่เข้าใจรวมไปถึงความขัดแย้งมากมาย จนทำให้บางครั้งคนทำงานเองก็หมดพลังได้โดยง่าย เรามีทางออกหรือวิธีจัดการตัวเองอย่างไร
พระอาจารย์ไพศาล-การทำประโยชน์แก่ท่านไม่ได้หมายความว่า ประโยชน์ตนลดลง เหมือนการให้ทานนั้น เราให้ทานเพื่อช่วยผู้อื่น คือเราให้ทานแก่คนที่หิว ให้เขามีอาหาร คนที่เดือดร้อนให้เขามีความสุข ดูเผินๆ เหมือนว่าเราช่วยเขาแต่เราแย่ลง เพราะเมื่อเราให้เงินเขา เงินในกระเป๋าเราก็น้อยลง แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าชี้คือว่า แม้เราเป็นผู้ให้ก็ได้เหมือนกัน คือได้ความสุข พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข และความสุขนี้มันมีค่ามากกว่าเงินอีกเพราะว่าเงินเท่าไหร่ก็ซื้อความสุขไม่ได้ ถ้าเราให้ด้วยจิตเมตตา เราก็จะมีความสุข การรักษาศีลไม่เบียดเบียนผู้อื่น ประโยชน์ที่ได้คือตัวเรา เพราะเราไม่ต้องอยู่ร้อน นอนทุกข์ เราอยู่อย่างสบายใจ เราไม่ไปลักขโมย เราก็สบายใจ ไม่ต้องคอยหวาดกลัวว่าใครจะมาเปิดโปงเรา ใครจะมาเปิดความจริง ตำรวจจะมาจับหรือไม่ อันนี้เรียกว่าเกิดความสุข ไม่ต้องพูดถึงบุญกุศลที่ตามมา ก็คือทำให้มีความสุข ความเจริญในชาติหน้า หรือว่าเป็นที่รักของผู้คนในชาตินี้ อันนั้นเกิดขึ้นหรือไม่ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราไม่รู้ อันนี้เรียกว่าเกิดประโยชน์ตน อ
ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราทำงาน เราต้องมีสติ เราใช้สติดูแลรักษาใจ พอเจออุปสรรค เจอคนตำหนิ ใจเรากระเพื่อม เราก็มีสติรู้ทันการที่ใจกระเพื่อม สตินี่มันดี มีคุณภาพ มีประโยชน์อย่างหนึ่ง คือ ช่วยให้เรารู้ทันอาการ กายและใจ พอรู้ทันแล้วมันช่วยทำให้ใจเป็นปกติ ช่วยทำให้กายกลับมาเป็นปกติได้ เวลาเราหงุดหงิด เราโมโห โกรธ แล้วเราเคยสังเกตตัวเรามั้ยว่าเราเป็นยังไง อาจจะเม้มปาก กัดฟัน กำมือแน่น ลมหายใจ ถี่ สั้น แต่ถ้าเรารู้สติ มันจะคลายเลย ใจเราจะกลับมาผ่อนคลาย ในกรณีเดียวกันถ้าเรามีความหงุดหงิด มีความโกรธ เรามีสติรู้ทัน ใจมันกลับมาเป็นปกติ ส่วนใหญ่เป็นเพราะเราไม่รู้กาย ไม่รู้ใจ เวลางานมีปัญหา อย่าว่าอะไรเลย แค่รถติด เจอสัญญาณไฟการจราจรสีแดง 120 วินาที หรือ 150 วินาที ก็หงุดหงิดแล้ว จริงๆ น่าคิดนะว่า บ่อยครั้งเราซ้ำเติมตัวเราเอง เสียเวลาก็ว่าแย่แล้ว เรายังมาซ้ำเติมให้เสียพลัง เสียกำลังใจเราอีก เสียสุขภาพจิต แต่ถ้าใจเป็นปกติ รถติดทำไงอย่าให้จิตตก เสียเวลาก็เสียไป แต่จิตต้องไม่ตก อย่าซ้ำเติมตัวเอง เพราะถ้าเสียเวลาแล้วจิตเราหงุดหงิด ความดันเราก็ขึ้น อันนี้ไม่มีใครทำ เราทำเอง เหมือนกับคนที่ของหาย เงินถูกขโมย ทรัพย์ถูกโกงไป เสียทรัพย์ก็หนักพอแล้วนะ บ่อยครั้งเราไม่ยอมเสียเท่านั้น เราปล่อยให้ใจเสียด้วย ใจเสียไม่พอ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ กลุ้มใจ
มีครูคนหนึ่งถูกโกงเงินไป 1 แสน เขาเสียใจมากจนไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอนเป็นสัปดาห์และเป็นเดือน แม่ก็บอกว่าให้กินซะ นอนซะ เขาไม่ยอม เหมือนจะประชด ทำให้สงสัยว่าจริงๆ เรารักเงินหรือรักตัวเองกันแน่ ถ้ารักตัวเองเราต้องพยายามกิน พยายามนอน รักษาสุขภาพ แต่หลายคนก็เหมือนครูคนนี้คือรักเงินมากกว่ารักตัวเอง ทำร้ายตัวเอง เพราะเงินหาย เพราะถูกโกงเงิน ใจเสีย สุขภาพเสีย เสร็จแล้วทำไง ทำงานก็ทำไม่ได้ เสียงานอีก เท่านั้นไม่พอ เมื่อเพื่อนแซวหรือหยอกก็เกิดความหงุดหงิด เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เสียเพื่อนอีก จากเดิมแค่เสียเงินนะ ตามมาด้วยเสียใจ เสียสุขภาพ เสียงาน เสียเพื่อน เสียสมรรถภาพ ถามว่าที่เสีย 4 อย่างหลัง ใครทำ ตัวเองทำทั้งนั้น ถ้าคนฉลาดเขาจะเสียอย่างเดียว คือ เสียเงิน แต่ว่าจะจำกัดไม่ให้เสียใจ เสียสุขภาพ เสียงานเสียการ ดังนั้นการทำงานเพื่อสังคมต้องระมัดระวังตัวเองนะ ว่าทำไปทำมา อาจจะเป็นการซ้ำตัวเองให้ทุกข์ ส่วนมากที่บ่นว่าเหนื่อยๆ ไม่ได้เหนื่อยกายนะ เหนื่อยใจเพราะมีเสียงบ่น เสียงว่า มีคนมากลั่นแกล้ง ที่จริงใครทำอะไร ไม่ได้แปลว่าเราต้องทุกข์เสมอไป มันอยู่ที่เรามอง เรารู้สึกต่อสิ่งนั้นอย่างไร คำต่อว่า ด่าทอ ความล้มเหลว ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เราทุกข์เสมอไป จะมีผลหรือไม่อยู่ที่ใจเรา เช่นคำตำหนิ ต่อว่า ด่าทอ ถ้าเราวางใจไม่ถูก วางใจไม่เป็น เราทุกข์นะ แต่ถ้าเราวางใจถูก วางใจเป็น คำตำหนิอาจจะเป็นของดีก็ได้
ยกตัวอย่างอดีตผู้ก่อตั้งบริษัทวิริยะประกันภัย ท่านเป็นคนติดดินและสนใจธรรมะ ท่านบอกว่า วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล วันไหนถูกตำหนิวันนั้นเป็นมงคล แต่ถ้าคนวางใจไม่เป็น จะบอกว่าวันใดถูกตำหนิ วันนั้นซวย แต่ถ้าคนวางใจเป็นจะบอกว่า วันใดถูกตำหนิ เราจะต้องแก้ไขยังไง เราบกพร่องตรงไหน มันช่วยลดอัตตาของเรา ดังนั้นจริงๆ แล้วที่บอกว่าฉันทุกข์เพราะมีคนมาต่อว่า มีคนมาตำหนิ จริงๆ ไม่ใช่ เพราะเราวางใจไม่ถูกต่างหาก หลายคนถูกตำหนิแล้วยิ้มนะ
อาตมารู้จักเพื่อนคนหนึ่งชื่อ โจน จันได แกเป็นไอดอลที่คนทั่วไปมองว่าต้องใช้ชีวิตเรียบง่าย คืนสู่ธรรมชาติ แต่ก่อนเมื่อยังหนุ่ม แกอยากรวยเหมือนคนอื่นก็ไปแสวงหาโชคที่กรุงเทพฯ แกไม่มีความรู้อะไรมาก ก็ไปทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดที่โรงแรม แกบอกว่าได้เจอเจ้านายผู้หญิงซึ่งไม่เคยเจอมาก่อน เจ้านายคนนั้นคือแม่บ้าน แม่บ้านคนนี้เจอหน้าแกก็ด่าๆๆ ยิ่งเห็นโจนเป็นเด็กบ้านนอก ก็ยิ่งใส่ใหญ่ วันหนึ่งแกใช้โจนไปขัดลูกบิดประตูในโรงแรม ลูกบิดนี่เป็นทองเหลือง แกให้โจนใช้บรัสโซขัด โจนก็ขัดอย่างดีด้วยความตั้งใจ ขัดจะเสร็จอยู่แล้ว ผู้จัดการผ่านมาเห็น เขาก็ว่าโจนว่า ขัดได้ยังไง ทองเหลืองเนี่ย ใช้บรัสโซขัด ได้ยังไง ด่าโจน แม่บ้านที่เป็นคนใช้โจน แทนที่จะปกป้องโจนกลับซ้ำเติมโจน ว่าเธอนี่โง่นะ ทำอย่างนี้ได้อย่าไร เป็นเรา เราจะรู้สึกอย่างไร อาจจะโกรธ แต่โจนยกมือไหว้และขอโทษ นับจากวันนั้นมาเวลาแม่บ้านด่าโจน โจนก็ไหว้ขอบคุณครับ จนเป็นที่รู้กันในหมู่พนักงานโรงแรม บางคนก็หาว่าโจนโง่ ให้เขาซ้ำเติม บางคนก็ว่าโจนนี่มันบ้า เขาด่าแล้วดันยิ้มแถมขอบคุณเขาอีก
ผ่านมาเดือนหนึ่ง แม่บ้านสงสัย และเรียกโจนมาถามว่า ฉันสงสัยเหลือเกินทำไมเธอต้องยิ้ม ต้องไหว้เวลาฉันด่า โจนก็บอกว่าเวลาแม่บ้านด่าทำให้ผมกลับมาดูใจตัวเอง กลับมาจัดการกายกับใจตัวเอง ทำให้ใจปกติ แล้วก็เลยขอบคุณ อีกอย่างหนึ่งคือว่า บางครั้งผมไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ว่าแม่บ้านก็ยังด่า ผมก็คิดว่า แม่บ้านคงมีความสุขที่ทำอย่างนั้น ผมก็ไม่โกรธ หลังจากนั้นแม่บ้านไม่เคยด่าโจนอีกเลย คงแพ้ใจโจน บางคนวางใจไม่เป็นจะโกรธ แต่ถ้าเราวางใจเป็นเราจะสามารถยิ้มได้ ดังนั้นเวลาเราโกรธ อย่าเพิ่งโทษคนอื่นว่าทำไมเขาพูดอย่างนั้นกับเรา ให้เรากลับมาดูใจว่าเราวางใจถูก วางใจเป็นมั้ย
เราประทับใจคนหนึ่ง ท่านเป็นแม่ชี ชื่อแม่ชีสาซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปูขาว ที่มรณภาพไปเมื่อ 20-30 ปีแล้ว แม่ชีสานี่ดูแลคนปฏิบัติธรรมดีมาก หลวงปู่ขาวก็ชม แต่มีครั้งหนึ่งหลวงปูขาวสั่ง ให้พระลูกศิษย์ 2 รูปไปด่าแม่ชีสา พระก็งงให้ไปด่าทำไม แต่เมื่ออาจารย์สั่งให้ไปด่าก็ไปด่า ขุดคุ้ยคำด่ามาเพื่อจะไปด่า แม่ชีสาก็งงนะ แต่ตั้งสติได้ก็พนมมือฟัง ทั้งสองด่าไปไม่รู้จะด่าอะไรก็หยุด แม่ชีสาเลยพูดว่า อาจารย์ด่าเสร็จแล้วเหรอ ฉันฟังแล้วซาบซึ้งเหลือเกิน ที่พูดนี่เป็นธรรมะทั้งนั้น คราวหน้านิมนต์ด่าใหม่ เพราะว่ามันช่วยขูดกิเลส
คือคำด่ามีประโยชน์เหมือนกันนะ เหมือนคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ บอกว่า คำด่าช่วยลดอาการ ลดกิเลส คือเวลาเราทำงานเพื่อสังคม เราควรจะตั้งจิตเอาไว้คือว่าการทำงาน นอกจากทำประโยชน์เพื่อสังคมแล้ว มันเป็นการฝึกตนด้วย ถ้าคุณคิดแบบนี้ ไม่ว่าคุณทำอะไร ไม่ว่างานจะล้มเหลว หรือสำเร็จคุณก็เป็นฝ่ายได้ คุณได้ขัดเกลาตัวเอง ได้ฝึกฝนตัวเอง ฝึกการเห็นแก่ตัวน้อยลง ฝึกให้จิตรู้จักการให้ การทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้นต่อการมีจิตที่เสียสละ ความไม่หวั่นไหว ความเข้มแข็งในใจของคนเราต่อการทำบางอย่างที่ไม่สำเร็จหรือล้มเหลวซ้ำๆ จะช่วยให้เราได้เรียนรู้ อย่างคนฉลาดจะอยู่กับความจริง ยิ่งเรามีความเข้มแข็งในใจเท่าไหร่ก็จะมีความสุขได้ง่ายเท่านั้น