
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการฯ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมชี้แจง ซึ่งมีประเด็นหลักใน 2 พื้นที่ คือ ปัญหาเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล และปัญหาในชุมชนหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ ตัวแทนศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดสตูล ได้รายงานความคืบหน้ากรณีการขอเปิดเส้นทาง เข้า-ออกสถานีอนามัย เกาะหลีเป๊ะว่า กรณีทางเข้าออก ทางศูนย์ดำรงธรรม ได้เรียกตัวแทนเอกชนเข้ามาเจรจาพร้อมชาวเล โดยเอกชนยืนยันว่าเป็นที่ดินส่วนบุคคล และจะมีประตู เปิด –ปิดเป็นเวลา จากนั้นให้สถานีอนามัยฯ นำรถมารับส่งผู้ป่วยเอง
ด้านพ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ทางดีเอสไอได้อ่านแปลภาพถ่ายเกาะหลีเป๊ะเรียบร้อยแล้ว โดยเทียบจากแผนที่ทางอากาศปี 2493 พบว่า พื้นที่ส่วนมากนั้นเป็นพื้นที่สีเขียว ดังนั้นทางดีเอสไอเสนอให้คณะกรรมการฯ ได้ออกนโยบายให้รัฐบาลยึดคืนพื้นที่แล้วมาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ให้ชาวเล อยู่อาศัย ส่วนที่ 2 สร้างสถานที่ทางราชการ เช่น สถานีตำรวจ เพื่อเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ซึ่งทางกรมที่ดินและกรมอุทยานฯ ต้องร่วมมือกัน เนื่องจากผลการแปลภาพถ่ายนั้นพบว่า บางแห่งมีการออกเอกสารสิทธิ์ทั้ง นส.3 และโฉนดที่ดินทับที่สาธารณะ ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติแจ้งครอบครองสค.1 มาก่อน
ด้านนายจำนง จิตนิรัตน์ ตัวแทนผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเล กล่าวว่า ปัญหาเพิ่มเติมของชาวเลเกาะหลีเป๊ะที่ คณะกรรมการฯ และตัวแทนจังหวัดต้องร่วมตัดสินใจ คือ การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของชาวเล ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มีชาวเลได้รับความเดือดร้อนถูกข่มขู่จากนายทุน ภายหลังมีความพยายามซ่อมแซมบ้านเรือน ซึ่งนายทุนอ้างว่าเป็นการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในที่ดินของตน จึงพยายามคุกคามชาวเลให้หวาดกลัวและห้ามไม่ให้มีการซ่อมแซม จนเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ ส่วนตัวมองว่า การกระทำของนายทุนครั้งนั้น เป็นเหมือนการบีบบังคับชาวเลทางอ้อม เพื่อให้จนตรอก
“พูดให้หยาบ ๆ คือ อยู่ดีกว่าหมา กว่าลิง บ้านพัง ไม่ใช่พังเล็กน้อย แต่หลังคารั่ว และฝาบ้านผุพัง หากไม่มีการอนุญาตให้ซ่อม พวกเขาก็ต้องเสี่ยงนอนตากฝนในฤดูนี้ ดังนั้น อยากให้ทางจังหวัดพิจารณาเจรจาเรื่องนี้ด้วย” นายจำนง กล่าว
ด้านนางสายใจ หาญทะเล กล่าวว่า ชาวบ้านที่จะซ่อมบ้านด่วนมีจำนวน 9 ราย และจะทยอยซ่อมมีจำนวน 30 ราย ตอนนี้ชาวเลทั้งหมดอยู่ระหว่างว่างการเตรียมทำหนังสือแจ้งทหารและตำรวจเพื่อขออนุญาตซ่อมแซมบ้าน และหวังว่าจังหวัดจะให้ความร่วมมือในการประสานงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงหลังของการประชุม ทางคณะกรรมการฯ ได้นำเสนอความคืบหน้ากรณีปัญหาที่ดินราไวย์ โดยตัวแทนกรมการปกครองได้รายงานผลการตรวจสอบข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ของนายล้อม วงศ์จันทร์ นายทัน มุกดี เอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินในชุมชนหาดราไวย์ พบว่า ชื่อของทั้งสองคนไม่มีในฐานข้อมูล แต่พบว่ามีชื่อนายจำเริญ มุกดี เกิดเมื่อปี 2482 เป็นบุตรของนายทัน มุกดี ส่วนประวัตินายล้อมมุกดีนั้น ย้ายมาจากนครศรีธรรมราช และมาแต่งงานกับชาวราไวย์
พลเอก สุรินทร์ กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมการปกครอง จะช่วยบอกว่า การแจ้งครอบครองที่ดินนั้นเกิดขึ้นภายหลัง และนายทัน มุกดี ไม่ใช่คนดั้งเดิม อาจจะเป็นผลดีต่อการสืบพยานและการให้ปากคำต่อศาล ซึ่งทางที่ประชุมสามารถนำข้อมูลส่วนนี้ไปสรุปและรายงานต่อไป เพื่อชี้ชัดว่า การเข้ามาของกลุ่มทุนนั้นมาภายหลัง ซึ่งหากพิสูจน์ร่วมกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ในชุมชนหาดราไวย์ที่พบโครงกระดูกในพื้นที่อาจจะหักล้างข้อมูลที่ทางเอกชนอ้างได้
พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวว่า กรณีปัญหาที่ดินหาดราไวย์นั้น ชาวเลที่ถูกดำเนินคดี 13 ราย ทางดีเอสไอได้เบิกความช่วยเหลือแล้ว 1 ราย เป็นกรณีของนายบุญเลิศ มณีวงศ์ โดยนำหลักฐานการอ่านแปลภาพถ่ายและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปเบิกความต่อศาล ซึ่งขั้นตอนต่อไปต้องรอศาลตัดสินว่าจะสามารถอยู่ต่อในที่ดินได้หรือไม่ ส่วนที่เหลือจะทยอยเบิกความให้ สำหรับกรณีที่ดินของบริษัทบารอนฯ นั้น ทางดีเอสไออยู่ระหว่างดำเนินการ
————-