Search

สำรวจทะเลมะริด พบกะเหรี่ยงอยู่เกาะ-ชาวมอแกนดั้งเดิมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ยังแลกเปลี่ยนข้าว-ปลากัน ใช้เรือก่าบางขุดจากท่อนไม้ใหญ่เหมือนในอดีต

14002387_10209382503735478_385643665_o

ระหว่างวันที่ 11-17 สิงหาคม 2559 สำนักข่าวชายขอบพร้อมด้วยเพื่อน ๆ สื่อมวลชน ศิลปิน นักเขียน และนักวิชาการ กว่า 10 คน ได้ลงพื้นที่เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด ประเทศพม่า เพื่อเก็บข้อมูลข้อเท็จจริงในประเด็นชุมชนชาวไทยพลัดถิ่น ซึ่งเป็นคนไทยที่ตกค้างอยู่ในพม่าหลังจากที่ประเทศไทยต้องเสียดินแดนบริเวณดังกล่าวในยุคล่าอาณานิคม นอกจากนี้ คณะสื่อมวลชนยังมีโอกาสเจาะลึกชีวิตชาวมอแกนและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อยู่บนเกาะในทะเลมะริด โดยเฉพาะเกาะโดม (Domel Island) ซึ่งมีชาวบ้านทั้งที่เป็นชาวมะริด กะเหรี่ยง และมอแกน อยู่ร่วมกัน

นางโดว เวเซ แม่เฒ่าชาวกะเหรี่ยงวัย 76 ปี อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกะมาชาว บนเกาะโดม ตอบคำถามถึงข้อสงสัยของสื่อมวลชนที่เห็นชาวกะเหรี่ยงมาอาศัยอยู่บนเกาะในทะเลว่า ตนเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ชุมชนชาวกะเหรี่ยงบนเกาะแห่งนี้ก่อตั้งมานานกี่ปีแล้ว แต่ปู่ย่าตายายของตนก็เกิดที่เกาะโดม โดยมีนา-สวนจำนวนมากแบ่งปันให้ลูกหลานทำกิน ปัจจุบันยังคงทำสวนและทำนาพอเลี้ยงชีพ โดยหาปลาบ้างเป็นบางครั้ง แต่หาได้ไม่มากเพราะไม่ถนัด และก็มักจะเอาข้าวมาแลกปลา หรืออาหารทะเลกับมอแกน   อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ในอดีตชาวกะเหรี่ยงจะปลูกข้าวทั้งที่หมู่บ้านยาวหม่าย ดาฮอล และกะมาชาว เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวมอแกน ที่ล่องเรือในทะเลบนเกาะโดม ซึ่งขณะนั้นมีแค่ชาวกะเหรี่ยงกับมอแกนเท่านั้นที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ แต่ระยะหลังมีชาวพม่าเข้ามาอยู่แถบนี้ ซึ่งพวกตนมักนำหมากและข้าวมาขาย จึงช่วยให้ชาวกะเหรี่ยงไม่ต้องส่งของไปขายในเมืองมะริดเพราะใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ทั้งนี้ตนใช้เวลาเดินเท้านานกว่า 1 ชั่วโมงเพื่อมาขายหมากให้กับคนกะเหรี่ยงและชาวมอแกน รวมถึงชาวพม่า ที่หมู่ชุมชนยาวหม่าย

14012359_10209382503695477_1563058359_o

“สมัยยังสาวจำได้ว่าบนภูเขาบนเกาะนี้ มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่เต็มไปหมด ชุมชนยาวหม่ายเองเคยมีชาวกะเหรี่ยงอยู่มากถึง 3 หมู่บ้าน ส่วนชาวเลมอแกนนั้นอยู่ในทะเล อยู่กินบนเรือ ทีนี้พอมีคนพม่าย้ายเข้ามา กะเหรี่ยงก็ค่อย ๆ ย้ายออกไปจากชุมชนยาวหม่าย ส่วนชาวมอแกนเริ่มปลูกบ้านอยู่บนบกแทนการล่องเรือ ฉันไม่รู้เช่นกันว่าทำไมมอแกนจึงเริ่มมาปลูกบ้านบนบก” นาวโดว กล่าว

นางเพาะ อายุ 64 ปี ชาวกะเหรี่ยงชุมชนยาวหม่าย กล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้ก่อตั้งและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องซึ่งในแถบเกาะต่าง ๆ ในภาคตะนาวศรีมีกะเหรี่ยงอาศัยอยู่หลายแห่ง ส่วนตนนั้นย้ายมาจากหมู่บ้านแซอ้าย เดิมมีอาชีพทำนา ทำสวน แต่ได้ตัดสินย้ายมาที่ชุมชนยาวหม่ายตามลูกสาวที่มีอาชีพเป็นครูประจำโรงเรียนในชุมชน ตนจึงเปลี่ยนอาชีพมาเป็นค้าขายของทั่วไป และส่วนมากชาวเลมอแกนมักจะนำอาหารทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา หมึก มาแลกกับของใช้ ของกินอย่างอื่น เมื่อก่อนที่นี่มีชาวกะเหรี่ยงมากกว่า 70 หลังคาเรือน แต่สมัยนี้เริ่มย้ายไปอยู่อีกฝั่งของภูเขาแล้ว แต่ยังไปมาหาสู่กันอยู่ โดยด้านหน้าหาดมีประมาณ 10 กว่าหลังคาเรือน

 

14037653_10209382502815455_2122829295_oขณะที่นางกานัง แม่เฒ่าชาวมอแกน กล่าวว่า เดิมทีมอแกนจะล่องเรือบ้านหรือเรือก่าบางไปทั่วทั้งเกาะเล็ก เกาะใหญ่ แต่ 7 ปีที่ผ่านมา ตนเพิ่งย้ายจากการใช้ชีวิตบนเรือเพราะสามีเสียชีวิต จึงเลือกมาสร้างบ้านอยู่คล้ายกับมอแกนครอบครัวอื่น และคอยเลี้ยงหลาน ให้ลูก ๆ ที่ออกเรือไปหาปลาหมึก โดยจุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านนั้นมาจากผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นดั่งนายทุน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “หัวหน้า” เข้ามาสนับสนุนการสร้างบ้านให้ชาวเลมอแกนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่มีเงื่อนไขว่าขอให้ชาวเลมอแกนหาอาหารทะเลส่งให้ คล้ายกับการแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงินค่าจ้าง ชาวมอแกนไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไรจึงตอบรับข้อตกลง

“ดีใจนะที่เขาให้บ้านเราฟรี ๆ เพราะตอนนี้เราตัดไม้ใหญ่มาทำเรือไม่ได้ ทหารเขาไม่ให้ตัด คนหนุ่มสาวเขาก็ไม่รู้จักทำแล้วนะ ส่วนมากก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มแล้วก็บ้านใครมีเรือก็ออกทะเลไปด้วยกัน แต่จะทำเรือใหม่ไม่ได้แล้ว มันยากเลยต้องอยู่บ้านไปแบบนี้ ยายเองก็อยากมีเรือเหมือนเดิมแต่ทำไม่ได้ กลัวคนเขาว่าเอา เมื่อก่อนพวกยายล่องเรือแถวนี้ถ้ามีคนแปลกหน้ามา เราจะวิ่งหนีมาหลบในป่า หรือซ่อนตัวในเรือก่อน บางครั้งก็มีคนแต่งชุดทหารเข้ามาแถวบ้านคนกะเหรี่ยง ทหารก็เข้ามาจับไก่ไปบ้างก็มี เรือก่าบางของใครจอดอยู่ไม่มีคนเฝ้าบางทีก็โดนรื้อ แต่ไม่ได้เอาอะไรไปเพราะเราไม่มีอะไรในเรือแล้ว นอกจากเครื่องมือหาปลาหาหมึก แต่เรายังกลัวเขาอยู่ ยังไงก็ต้องหลบ ๆ ไว้ก่อน” นางกานัง กล่าว

 

14012466_10209382502415445_426242105_o

ขณะที่นายปะ แจ อู ชายชาวพม่า ที่ได้ภรรยาเป็นชาวมอแกน กล่าวว่า คนแก่มอแกนที่ชุมชนยาวหม่ายส่วนมากไม่มีบัตรประชาชนและมักจะสื่อสารภาษาพม่าไม่ได้ จะมีเพียงรุ่นลูก และหลานเท่านั้นที่พอจะสื่อสารภาษาพม่าและออกไปนอกบ้านเพื่อทำการค้าอาหารทะเล แต่มอแกนเป็นกลุ่มที่ไม่ชอบเข้าเมืองใหญ่ ส่วนมากจะจอดเรือริมฝั่งของเกาะเล็ก เกาะน้อยแห่งนี้ และไม่รู้วิธีการใช้เงิน กระทั่งมีคนเมืองเข้ามาอยู่ ทั้งนี้การเข้ามาของคนเมืองมีทั้งประโยชน์ในแง่ของการสร้างบ้านช่วยเหลือชาวเลมอแกน แต่คนแก่มอแกนไม่ได้เต็มใจจะยอมรับเท่าใดนัก ส่วนตัวเชื่อว่า ขณะนี้ทางการท้องถิ่นพม่าเข้ามาจัดระเบียบทีละส่วน แต่กรณีการสร้างบ้านนั้นทุกคนรู้ดีว่าเป็นอำนาจของเอกชน แต่ชาวมอแกนไม่ได้ปฏิเสธอะไร ยังคงใช้ชีวิตต่อไป

“เมื่อก่อนได้ยินคนแก่เล่าว่า ตอนแรกเลยมีชาวพม่าล่องเรือเข้ามาซื้ออาหารทะเล แต่ต่อมาก็เริ่มเข้ามาทำการค้าขาย เปิดเป็นร้านค้าให้บริการบนเกาะ ทั้งกะเหรี่ยงและมอแกน ใครไม่มีเงินยังสามารถเอาอาหารทะเลไปแลกของที่ต้องการได้อยู่ ตามอัตราส่วนที่ชาวพม่ากำหนดซึ่งทุกคนยอมรับในความเป็นอยู่เช่นนี้ แม้ชาวมอแกนจะยังห่วงเรื่องเรือก่าบางที่ค่อย ๆ หายไปก็ตาม ผมว่าเขาไม่ได้อยากอยู่แบบนี้ แต่ก็คงกลัวทหาร กลัวทางการ ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวมาที่นี่บ่อย ๆ ทั้งฝรั่ง ทั้งพม่าเข้ามาชุมชนนี้ต่อเนื่อง” นายปะ แก กล่าว

14012702_10209382503335468_470961333_o
ด้าน ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ตนอยู่ระหว่างการทำข้อมูลวิจัยวิถีชีวิตเกี่ยวกับชาวมอแกนในหมู่เกาะมะริด แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เบื้องต้นทราบว่า ชาวพม่าเรียกชาวมอแกนว่า ซาโลง โจ (Salon Kyun-คำว่า Kyun แปลว่าเกาะ ซึ่งสามารถเขียนได้หลายแบบ อาทิ Selon, Selone, Selung, Selong ) ทั้งนี้ชาติพันธุ์มอแกนในอันดามันทั้งไทย พม่า ก็คงมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมคล้ายกัน โดยอย่างหนึ่งที่มีเหมือนกัน คือ เรือก่าบาง แต่ที่พม่ายังดีที่มีเรือแจวที่ขุดจากท่อนไม้ให้เห็นอยู่บ้าง ซึ่งหากผลวิจัยเสร็จสิ้นน่าจะพอสรุปความสัมพันธ์ได้

อนึ่ง สำหรับข้อมูลทั่วไปของชาวเลมอแกนนั้น โครงการนำร่องอันดามันเคยทำวิจัยระบุว่า มอแกนเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่ใช้ภาษาออสโตรนีเชียนที่มอแกนใช้ และจากการสืบสาวประวัติศาสตร์ และเรื่องราวเกี่ยวกับชนเผ่านักเดินทางทางทะเลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดกันว่ามอแกนคงจะสืบเชื้อสายมาจากพวกโปรโตมาเลย์ (Proto Malay) ซึ่งเป็นคนพวกแรก ๆ ที่อพยพลงมาอยู่แถบคาบสมุทรมลายู ต่อมาคนกลุ่มนี้หันมาใช้ชีวิตทางทะเล เดินทางร่อนเร่ทำมาหากินตามหมู่เกาะและชายฝั่ง ครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่หมู่เกาะมะริดในพม่า ลงไปทางใต้และตะวันออกจนถึงหมู่เกาะในทะเลซูลู ประเทศฟิลิปปินส์ และเกาะแถบชายฝั่งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันการเดินทางจำกัดลงมาก และคนกลุ่มเหล่านี้ก็แยกย้ายกระจัดกระจายกัน พัฒนาการของสังคมวัฒนธรรมและภาษาก็ต่างกันออกไปจนแยกเป็นกลุ่มย่อย ๆ หลายกลุ่ม อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.andaman.cusri.chula.ac.th/th/home

//////////////////////

On Key

Related Posts

7 ชุมชมลุ่มน้ำกกจับมืออุทกวิทยา-ปภ.-เครือข่ายค.อ.ก. “คิกออฟ”ระบบเตือนภัยน้ำท่วม-พระอาจารย์มหานิคมเผยป่าต้นน้ำถูกทำลาย-ทำเหมืองทอง เป็นเหตุน้ำเชี่ยวโคลนถล่ม แนะรัฐเร่งเจรจา

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลแRead More →

สส.ปชน.เชียงรายจี้รัฐบาลสร้างระบบเตือนภัยแม่น้ำกก-แนะเร่งถอดบทเรียน 6 เดือนภัยพิบัติ คนขับเรือลำบากหลังนักท่องเที่ยวลดฮวบ ผวจ.เชียงรายเตรียมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ปัญหาคุณภาพน้ำข้ามแดน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สRead More →

วัวควายเดือดร้อนถ้วนหน้าหลังน้ำกก-สายปนเปื้อนสารหนู-ใช้น้ำทำการเกษตรไม่ได้ “ครูแดง”แนะเร่งแก้ปัญหาต้นเหตุ “ดร.ลลิตา”เผยว้าตั้งหน่วยให้สัมปทานเหมืองแร่ จี้หารือทางการจีนช่วยปราม

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2568 นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตRead More →