เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2559 ชาวบ้านในนามเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการใชมาตรา 44 ในการผลักดันสร้างเขื่อนแม่วงก์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยระบุว่า ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์หลังลงพื้นที่ดูปริมาณน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก โดยมีแนวคิดจะใช้มาตรา 44 ในการผลักดันสร้างเขื่อนแม่วงก์ ทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน) เห็นว่าไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะใช้มาตราการดังกล่าวเนื่องจากเรื่องโครงการเขื่อนแม่วงค์ไม่ใช่เรื่องความผิดอันใด แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เหตุและผลในการดำเนินการ อีกทั้งการเร่งรัดก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 โดยมิได้พิจารณาผลกระทบและทางเลือกจัดการน้ำอย่างรอบด้าน มีแต่จะทำให้เกิดความมืดบอดในการจัดการน้ำของประเทศ
แถลงการณ์ระบุว่า คปน.และเครือข่ายองค์กรภาคี ขอคัดค้านการ ใช้ มาตรา 44 ผลักดัน เร่งรัด การก่อสร้างโครงการเขื่อนแม่วงก์ ด้วยเหตุผลดังนี 1. ขัดต่อนโยบายรัฐบาล ในการรักษาผืนป่าประเทศไทยที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะทำลายผืนป่าสมบูรณ์และป่าต้นน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และผืนป่าตะวันตก
2. ขัดต่อข้อเสนอ 15 ข้อของมูลนิธิสืบ ที่ยื่นข้อเสนอทางออกการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในลุ่มน้ำแม่วงค์ ที่ได้ยื่นต่อ รมต.เกษตรและสหกรณ์ ไปแล้ว
3. ขัดต่อเจตนารมณ์ ของ คุณสืบ นาคะเสถียร เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิสืบ ได้จัดงานรำลึกการจากไปของคุณสืบ ที่ได้เสียสละชีวิตตนเองเพื่อปกป้องผืนป่าตะวันตก และเพื่อรักษาป่าของประเทศไทย ซึ่งพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก แต่หลังจากการจัดงานรำลึกเพียงวันเดียว รมต.กับมีนโยบายทำลายป่าโดยจะใช้ ม.44 ผลักดันสร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
4. กรณีน้ำในเขื่อนคลองโพธิ์ และเขื่อนทับสะเหลา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง ไม่มีน้ำสำรอง จึงสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่อับฝน(ฝนตกน้อย) การสร้างเขื่อนไม่ใช่คำตอบของการจัดการน้ำ จึงไม่สมควรแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยการสร้างเขื่อนแม่วงก์ อีกต่อไป ให้มีการทบทวนและใช้ทางเลือกอื่นๆตามที่มูลนิสืบ ได้ให้ข้อเสนอไปในการจัดการน้ำ
5. เราหวังให้พายุพัดผ่าน แต่สุดท้ายฝนก็ไม่ตกเหนือเขื่อนจึงมีป่าต้นน้ำแบบเดิม ซึ่งผิดพลาดแบบที่เห็นอยู่ในปัจุบัน 6. แนวคิดในการเร่งสำรองน้ำด้วยการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งวิกฤตเรื่องน้ำที่ผ่านมาเป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการของเขื่อนขนาดใหญ่ที่ผิดพลาด ซึ่งแก้ไขได้ และไม่จำเป็นสร้างเขื่อนแม่วงก์
7. หากมีการนำ ม.44 มาใช้ผลักดันการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะนำไปสู่การใช้แนวทางเดียวกันกับโครงการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีกรณีพิพาทระหว่างรัฐและชาวบ้านทั่วประเทศ ซึ่งจะไม่ได้ใช้การตัดสินใจที่ยื่นอยู่บนเหตุและผลทางวิชาการ
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ด้วยเหตุผลเบื้องต้นที่กล่าวมา เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ได้เฝ้าติดตามแนวนโยบายการจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่องเห็นว่า ไม่ควรใช้ ม. 44 ในการผลักดันโครงการเขื่อนแม่วงก์ รวมถึงโครงการอื่นๆ ด้านสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนไม่สามารถนำกลับคืนมาได้ และท้ายสุดจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะกรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เสี่ยงต่อความสูญเสีย ผืนป่า สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพด้านอื่นๆตามมา ซึ่งสวนทางและขัดต่อนโยบายการรักษาผืนป่าของรัฐบาลยุคปัจจุบันอย่างร้ายแรง
เราในนามเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ และเครือข่ายองค์กรภาคีที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ตามรายชื่อแนบท้ายในแถลงการณ์นี้ ขอคัดค้านแนวคิดของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่จะใช้ ม. 44 ในการผลักดันสร้างเขื่อนแม่วงก์
____