Search

นักวิชาการชี้เหตุขบวนการแรงงานแตกแยก ทำให้ขาดพลังต่อรองเพื่อสวัสดิการของลูกจ้าง

received_1188693077840642
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ ได้มีการจัดงานพร้อมนิทรรศการแรงงานไม่มีประวัติศาสตร์ ขึ้นระหว่างวันที่ 6-11 กันยายน 2559 โดยภายในงานมีนิทรรศการภาพถ่ายและงานเสวนาย่อยหลายประเด็นที่เกี่ยวกับแรงงานไทยและเยอรมัน

รศ. ดร. นภาพร อติวานิชยพงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนาย่อยเรื่อง “ประวัติศาสตร์แรงงานไทย– การขับเคลื่อนนโยบายแรงงาน” ว่า จากการศึกษาสถานการณ์แรงงานไทยที่เกี่ยวข้องกับเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วง1 ทศวรรษ (ปี 2548 -2558) ที่ผ่านพบว่า แรงงานไทยมีความแตกแยกไปตามอิทธิพลทางการเมือง โดยมีสองฝ่ายหลัก คือ แรงงานที่เลือกข้างการเมืองที่เป็นฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และแรงงานที่เลือกแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งการแตกแยกเป็น 2 ขั้วของขบวนการแรงงานนี้ ทำให้การสรุปบทเรียนของแรงงานเป็นไปได้ยาก เนื่องจากความไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้นการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสวัสดิการด้านต่างๆก็ยากตามไปด้วยเพราะบางครั้งการรวมตัวของแรงงานถูกตั้งคำถามว่า ทำไปเพียงเพื่อการต่อต้านการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ การปฏิรูปขบวนการแรงงานที่แท้จริงจึงเป็นไปได้ยากไม่เหมือนในอดีตที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาชนรวมตัวกันโดยมีภาคแรงงานเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านระบอบเผด็จการ และนำพาประเทศเข้าสู่ยุคเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย และนำมาสู่การออกพระราชบัญญัติ (พรบ.) แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งให้สิทธิคนงานในการจัดตั้งสหภาพแรงงานซึ่งเป็นผลผลิตที่สำคัญและก่อเกิดการตั้งสภาแรงงานที่เข้มแข็งเป็นครั้งแรก คือ สภาองการลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยที่มี นายไพศาล ธวัชชัยนันท์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2519

ด้านนายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการประวัติศาสตร์แรงงาน กล่าวว่า ขบวนการแรงงานเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อมีสังคมประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันเมื่อการเมืองแตกแยกและสังคมไม่เป็นประชาธิปไตย แรงงานไทยที่เคยกอดคอกันก็กลายเป็นยืนคนละฝั่ง ทั้งนี้ในอดีตแรงงานเคยรวมตัวกันต่อต้านเผด็จการ แล้วสู้เพื่อปากท้อง ไปพร้อมกับประเด็นทางสังคม การเมือง แต่มาในยุคปัจจุบันการต่อสู้เปลี่ยนไป การต่อสู้เพื่อประเด็นบางอย่างเช่น ค่าแรง 300บาท เมื่อมีการต่อสู้แล้วต่อมาฝ่ายการเมืองมองเกมออกก็มักจะเลือกสนองตอบฝ่ายแรงงาน พวกที่เห็นแค่ปากท้องอย่างเดียวอาจจะถึงกับเลือกข้างการเมืองที่ยอมจ่ายค่าแรงขั้นต่ำได้ แต่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยแล้วมองภาพรวมของสังคมการเมืองกลับยืนอยู่อีกฝั่ง เมื่อเป็นเช่นนี้แรงงานก็จะเคลื่อนไหวนโยบายลำบาก เพราะแรงงานถูกมองแบบแบ่งฝ่าย

ขณะที่รศ. ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส และ นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า จริงๆแล้วการตั้งความหวังเรื่องแรงงานที่ควรได้รับจากพรรคการเมืองเป็นไปได้ยาก เพราะการเมืองแท้นั้นไม่มองปัญหาของแรงงานอยู่แล้ว เนื่องจากฝ่ายการเมืองได้รับการสนับสนุนโดยทุนนิยม และแรงงานส่วนมากก็เป็นแรงงานในระบอบทุน เอกชน และรัฐวิสาหกิจ แรงงานไทยจึงถูกลอยตัว แม้แต่กระทรวงแรงงานเองก็ไม่กล้าสนับสนุนการก่อตั้งสหภาพแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการเคลื่อนไหวนโยบายด้านแรงงาน

“ไม่ใช่แค่การเมืองและระบบสวัสดิการเท่านั้นนะ ที่ไม่สอนให้คนไทยจดจำแรงงาน การศึกษาไทยก็ไม่สอน ไม่สอนทั้งการจดจำแรงงานที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายและไม่สอนให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ มีแนวคิดหนุนแรงงาน ส่วนมากสอนให้พัฒนาเศรษฐกิจ ให้เคลื่อนอนาคตด้วยทุน ด้วยแนวคิดแบบใหม่ ไม่ได้สอนให้คนมองเห็นความสำคัญของแรงงาน ประชาชนภาคแรงงานจึงค่อยถูกลืม และสุดท้ายแทบจะไม่มีการก่อตั้งเครือข่ายที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง ส่งผลให้สร้างเอกภาพไม่ได้ ส่วนมากก็มาเป็นกลุ่ม เป็นพรรคพวกเล็กๆ ที่เคลื่อนเฉพาะประเด็นเท่านั้นไม่ใช่นโยบายรวม ดังนั้นหากจะทำให้มีความเป็นปึกแผ่นมากขึ้น แรงงานต้องรวมตัวกันโดยไม่มองฝ่ายการเมือง และภาคการศึกษาต้องเร่งสร้างความเข้าใจระบบแรงงานไทยด้วย” รศ. ดร. ณรงค์ กล่าว
//////////////////////////////////

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →