Search

หลักฐานชี้ชัดหมู่บ้านกะเหรี่ยงบางกลอยอยู่มาเก่าก่อน เผยทางการจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน มิใช่พื้นที่ป่าบุกรุกใหม่ อดีตผู้ใหญ่ยืนยัน อดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาระบุแผนที่ทหารปี 2512 รายงานชัดพบหมู่บ้านตั้งอยู่ตลอดแนวแม่น้ำบางกลอย-แม่น้ำเพชรบุรี ยันทำไร่หมุนเวียนป่าโปร่ง ไม่ใช่บุกป่าดงดิบ

ต้นทุเรียนขนาดใหญ่ ต้นมะกรูดยักษ์และสวนหมาก ที่ชาวบ้านบางกลอยปลูกไว้ เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่ยืนยันความเป็นชุมชนดั้งเดิมในป่าแก่งกระจานซึ่งเป็นการยืนยันคำพูดของปู่คออี้ มีมิ
ต้นทุเรียนขนาดใหญ่ ต้นมะกรูดยักษ์และสวนหมาก ที่ชาวบ้านบางกลอยปลูกไว้ เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่ยืนยันความเป็นชุมชนดั้งเดิมในป่าแก่งกระจานซึ่งเป็นการยืนยันคำพูดของปู่คออี้ มีมิ

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 นายนิรันดร์ พง์เทพ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการระบุว่า หมู่บ้านกะเหรี่ยงบางกลอยที่อยู่ในพื้นที่ใจแผ่นดิน ป่าแก่งกระจาน ไม่ได้เป็นชุมชนดั้งเดิม แต่เป็นเพียงการบุกรุกผืนป่า ว่า ก่อนที่ชาวบ้านบางกลอยจะถูกย้ายลงมาอยู่ด้านล่างและเรียกว่าบ้านบางกลอยล่างนั้น ตนเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านที่บ้านบางกลอยเดิมอยู่ 13 ปี โดยหมู่บ้านบางกลอยได้รับการจัดตั้งจากทางการให้เป็นหมู่บ้านตั้งแต่พ.ศ.2514 โดยตอนนั้นเป็นบ้านหมู่ 7 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อผู้ใหญ่ยม เจริญสุข และต่อมาเมื่อแก่งกระจานยกระดับเป็นอำเภอ จึงได้เปลี่ยนจากอำเภอท่ายางมาเป็นอำเภอแก่งกระจาน

“สมัยก่อนหมู่บ้านบางกลอยมีลูกบ้านประมาณ 300 คน เมื่อเรียกประชุมชาวบ้าน เราใช้บ้านของผู้นำคนหนึ่ง เราไม่ได้มีศาลาหรือสิ่งปลูกสร้างส่วนกลาง และบ้านของชาวบ้านก็อยู่ห่างๆ กันตามสวน ไม่ใช่หมู่บ้านที่มีบ้านอยู่รวมกัน เพราะฉะนั้นการอ้างภาพถ่ายทางอากาศและบอกว่ามองไม่เห็นหมู่บ้าน ก็อาจเป็นไปได้ เพราะเราไม่ได้อยู่บ้านติดๆกัน แต่หากเดินสำรวจก็จะพบหลักฐานยืนยันว่าพื้นที่แห่งนี้คือชุมชนที่อยู่กันมานาน” นายนิรันดร์ กล่าว

ขณะที่นายกระทง โชควิบูลย์ อดีตผู้ใหญ่บ้านบางกลอย(ล่าง)กล่าวว่า ตนเกิดและเติบโตอยู่ในหมู่บ้านบางกลอยเดิมซึ่งที่นี่มีชุมชนที่อยู่กันมาแล้วหลายชั่วอายุคน อีกสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ความดั้งเดิมของหมู่บ้านได้คือมีหลุมฝังศพของบรรพบุรุษของแต่ละครอบครัว นอกจากนี้ยังมีสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน สวนหมาก ซึ่งมีอายุเกิน 50 ปี หากลงพื้นที่สำรวจก็จะพบหลักฐานต่างๆเหล่านี้

นายพันธ์ทิพย์ เจริญวัย อดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี อายุ 61ปี กล่าวว่า ตนได้สำรวจหมู่บ้านบางกลอย ครั้งแรกปี 2528และครั้งที่ 2ระหว่างปี2530-2531 ทั้งนี้เดิมทีศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขามีหน้าที่สำรวจและบันทึกข้อมูลชาวเขาในจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี เพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคิรีขันธ์ ซึ่งปัจจุบันมีการเรียกชื่อว่า ศูนย์พัฒนาสังคมสังกัด กรมประชาสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ในช่วงนั้นได้รับคำสั่งจากทางเครือข่ายที่จังหวัดราชบุรี แจ้งว่า มีชาวบ้านอยู่ที่แม่น้ำบางกลอย แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งสมัยนั้นหมู่บ้านทั้งหมดที่ตั้งอยู่ตามแผนที่ที่ทหารจัดทำหรือเรียกว่า “ทหารแผนที่ อัตราส่วน 1ตารางนิ้วต่อ 5 หมื่นตารางกิโลเมตร ( 1:50,000) ปี 2512 มีการวางจุดหมู่บ้านไว้ 4 จุด คือ บางกลอย 1-3 และโป่งลึก ซึ่งแผนที่ดังกล่าวทหารไม่อนุญาตให้คนทั่วไปใช้ ผู้มีสิทธิศึกษาและเรียนรู้แผนที่ต้องเป็นหน่วยงานราชการเท่านั้น ทางศูนย์ฯ เมื่อได้รับแจ้งเช่นนั้น หน้าที่หลัก คือ ตามสำรวจสำมะโนประชากร เพื่อลงทะเบียนชาวเขา และบันทึกข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ โดยศูนย์อื่นที่ภาคเหนือมีการรายงานข้อมูลชาวเขาต่อเนื่องส่วนเพชรบุรี ราชบุรีทยอยสำรวจภายหลัง ชาวเขาที่ตกสำรวจจึงมีอยู่บ้าง แต่กะเหรี่ยงบางกลอยบนไม่ตกสำรวจ

14233817_1190264011016882_813440062_o
ต้นทุเรียนขนาดใหญ่ ต้นมะกรูดยักษ์และสวนหมาก ที่ชาวบ้านบางกลอยปลูกไว้ เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่ยืนยันความเป็นชุมชนดั้งเดิมในป่าแก่งกระจานซึ่งเป็นการยืนยันคำพูดของปู่คออี้ มีมิ

“พอผมได้รับรายงานเช่นนั้น ผมเองไม่เชื่อนะ เพราะตอนนั้นป่าไม้บริเวณนั้นมันน่ากลัว สัตว์ป่าเยอะ แต่ผมก็ลองไปดู จัดเจ้าหน้าที่ไปทำบันทึกข้อมูลไว้ โดยข้อมูลในแผนที่ขณะนั้น บันทึกจุดพบหมู่บ้านบางกลอย3 หมู่และโป่งลึก 1หมู่ สังกัดพื้นที่ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ส่วนอำเภอแก่งกระจานนั้น มีการพัฒนาแยกมาเป็นการปกครองกิ่งอำเภอก่อนจะเปลี่ยนเป็นตัวอำเภอภายหลัง ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่เดินเท้าไปแล้วเจอหมู่บ้านจริงๆ” นายพันธ์ทิพย์กล่าว

นายพันธ์ทิพย์ กล่าวด้วยว่า อดีตนั้น พื้นที่ใดที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ายากมักจะปล่อยให้ข้อมูลชุมชนว่างเปล่า แต่ส่วนตัวไม่คิดเช่นนั้น เพราะตัวเองมีเชื้อสายกะเหรี่ยงโป ก็อยากจะรู้เห็นและทำข้อมูลด้วยตนเองแต่สมัยนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ ข้อมูลจึงเป็นกระดาษ อาจจะเป็นไปได้ที่แผนที่แบบใหม่มีการสร้างข้อมูลมาให้ ทั้งนี้สำหรับกะเหรี่ยงบางกลอยนั้นตนยืนยันว่ามีการอยู่มาก่อนแล้วกี่ปีไม่รู้ แต่ครั้งแรกที่เดินขึ้นไปกับทีมนั้นมีผู้ช่วยผู้ใหญ่ชื่อสมจิต เป็นคนนำทางเข้าไป พบว่าบางกลอยมี3หมู่บ้าน หมู่บ้านละไม่ถึง10 ครัวเรือน ตั้งอยู่ตลอดแนวแม่น้ำบางกลอย และบางกลอย 3ก็คือใจแผ่นดินที่ปู่คออี้อาศัยอยู่ ต่อมาเมื่อใช้เวลาเดินทางเข้าไปตามแม่น้ำอีก ก็พบจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำบางกลอย กับแม่น้ำเพชร (ชื่อแม่น้ำอ้างตามข้อมูลข้อเท็จจริงในแผนที่ทหาร) จากนั้นผู้นำทางบอกว่ายังมีชาวบ้านอยู่อีกแต่เดินไกลมาก ซึ่งเมื่อเดินเข้าไปจากจุดบรรจบแม่น้ำทั้งสองสายก็รู้สึกไม่เชื่อว่ามีหมู่บ้าน แต่ในแผนที่ยืนยัน ตนจึงเดินต่ออีก 2 วัน พบว่ามีหมู่บ้านโป่งลึกตั้งอยู่ ขณะนั้นมีสวนหมาก สวนมะม่วง และขนุนที่ปลูกไว้ตามหมู่บ้านทั้งบางกลอยและโป่งลึก เมื่อทำภารกิจสำเร็จในปี 2518 จึงได้เดินทางกลับ โดยขณะนั้นไปแบบเร่งรีบไม่ได้ศึกษาเพิ่มเติมอะไรมากมาย ใช้แค่การสังเกตการณ์ และคุยกับปู่คออี้แค่ไม่กี่ประเด็น

อดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ ฯ กล่าวว่า เมื่อทางศูนย์รายงานสำมะโนประชากรแล้ว ยืนยันว่ามีหมู่บ้านอยู่จริง ทำให้ตนวางแผนการสำรวจครั้งใหม่ที่ละเอียดขึ้นในระหว่างปี 2530-2531 โดยได้เชิญ อาจารย์ วสันต์ ณ ถลาง เจ้าหน้าที่กรมประชาสังคมฯ เข้าไปด้วยและสำรวจพบว่าตำบลสองพี่น้องมีชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญออยู่ ไม่ได้มีแค่กะเหรี่ยงโป จึงได้ล่องแพตามแม่น้ำเพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูล พบว่ามีครอบครัวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ทั้ง 4หมู่บ้าน 45หลังคาเรือน มีการเลี้ยงไก่ไว้กิน แต่ไม่พบข้อมูลเลี้ยงสัตว์ใหญ่เช่น วัว ควาย หมูป่า เหมือนกะเหรี่ยงที่ภาคเหนือ จากการสอบถามทราบว่า กะเหรี่ยงในหมู่บ้านไม่บริโภคสัตว์ใหญ่ นิยมกินแค่เนื้อไก่และปลาจากแม่น้ำเท่านั้น

14285383_1190264061016877_519837332_o
ต้นทุเรียนขนาดใหญ่ ต้นมะกรูดยักษ์และสวนหมาก ที่ชาวบ้านบางกลอยปลูกไว้ เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่ยืนยันความเป็นชุมชนดั้งเดิมในป่าแก่งกระจานซึ่งเป็นการยืนยันคำพูดของปู่คออี้ มีมิ

“จะเอาอะไรมาพูดว่ากะเหรี่ยงล่าสัตว์เพราะผมเดินป่าไปนั้น ลูกหาบเขาหาปลาแม่น้ำ มาให้กิน ผมก็หิวเนื้อเลยลองถามดู ปรากฏว่าเขาไม่กินและบอกว่ากะเหรี่ยงที่นั่นไม่กินสัตว์ใหญ่ ซึ่งพอถามหลายๆ คนบอกว่าเป็นเพราะสัตว์ใหญ่ คือ เจ้าถิ่นของป่า กะเหรี่ยงสอนให้ผมเลือกกินปลาตัวเล็กแต่มีมันเยอะ เช่น ปลาสร้อย หรือปลาดูดหิน ซึ่งปลาประเภทนี้ขนาดเล็กไม่กี่นิ้วแต่มีพฤติกรรมดูดเมือกหิน กินตะไคร่น้ำ คนนำทางบอกผมว่า ปลานี้อร่อย เขาก็มีแค่นั้น อย่างมากก็ยิงนกกินบ้าง เวลาหิวเนื้อมากๆ” อดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ กล่าว

นายพันธ์ทิพย์ กล่าวต่อว่า กรณีที่มีการะบุว่ากะเหรี่ยงบางกลอยบุกป่าดงดิบ มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะวิถีกะเหรี่ยงบางกลอยและโป่งลึก เขาทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ป่าโปร่งหรือป่าเบญจพรรณ หรือบางที่เรียกกันว่าป่าไผ่ เพราะมันถางง่าย และเป็นไม้ผลัดใบ ไม่มีทากอาศัยอยู่เพื่อรบกวน และป่าประเภทนี้เป็นป่าที่ง่ายต่อการถางและฟื้นฟู จัดเป็นป่าผลัดใบ ซึ่งกะเหรี่ยงบางกลอยทำไร่ข้าว ไร่พริก ในป่าประเภทนี้เพราะเป็นเมื่อถึงเวลาเผาซังข้าวจะเผาง่าย เวลามองมาจากเครื่องบินถึงได้เห็นเผากันเกรียน และทางการมักจะตัดสินว่านั่นบุกรุกเผาทำไร่เลื่อนลอย กรณีบางกลอยน่าจะโดนย้ายลงมาเพราะเหตุนั้น

“ป่าดงดิบเป็นป่าชื้น ข้ออ้างที่บอกว่า กะเหรี่ยงบุกรุกป่าดงดิบลึก ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะเรื่องพิสูจน์ได้ เนื่องจากป่าดงดิบมีความชื้นสูง กะเหรี่ยงไม่มีเวลามากพอไปเผาป่า เพราะมันไม่มีทางไหม้ได้ทันเวลา หรือถ้าจะตัดไม้ในป่าดงดิบกรณีบางกลอยไม่ใช่แน่ๆ เพราะบางกลอยมีป่าดงดิบล้อมรอบ ป่าโปร่งก็มีบางส่วนทางที่ดีทางการไทยที่สงสัยว่าบางกลอยบุกรุกป่าดงดิบ เราควรเดินทางไปพิสูจน์กันที่ใจแผ่นดินพร้อมกันอีกรอบ แต่จากประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ปี2519 ผมยืนยันได้ว่ากะเหรี่ยงไม่บุกรุกป่าดงดิบแน่นอน” นายพันธ์ทิพย์ กล่าว

On Key

Related Posts

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →