เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า นักกฎหมายจากมูลนิธิ ศูนย์ข้อมูลชุมชน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 ศาลปกครองจังหวัดเพชรบุรีได้นัดไต่สวนคดีโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบฯ มีผู้ฟ้องคดีจำนวน 9 รายซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณชายหาดอ่าวน้อย ฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้เพิกถอนโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดอ่าวน้อย ที่ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งในแผนการดำเนินการมีถึง 3 เฟส และเฟสแรกได้ดำเนินการไปแล้ว โดยที่ไม่มีการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งทางผู้ฟ้องเคยร้องเรียนหน่วยงานต่าง ๆ มาแล้ว อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่ปรากฎว่าทางเจ้าของโครงการยังคงไม่ยุติโครงการและมีแนมโน้มจะดำเนินการต่อในเฟส 2 ทางผู้ฟ้องรวม 9 คนจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลปกครองชั่วคราวได้มีคำสั่งชะลอโครงการเพื่อกลับมาทบทวนและจัดทำกระบวนการใหม่ โดยอาศัยข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน ซึ่งสามารถอ้างอิงได้จากข้อมูลฝ่ายวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและอีกหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“โครงการสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเป็นโครงการจากรัฐที่ค่อนข้างน่าห่วง ซึ่งหลายครั้งมีการร้องเรียนผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ไม่สามารถยุติโครงการได้ ก็จำเป็นต้องฟ้องศาล ซึ่งตอนนี้ทางเราทำคดีสิ่งแวดล้อมเรื่องโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทั้งหมด 3 ที่ คือ 1 ตำบลคลองวาฬ จังหวัดประจวบ 2 หาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา และล่าสุดคือ คดีกรณีอ่าวน้อย จังหวัดประจวบ ซึ่งศาลไต่ส่วนไปแล้ว แต่ยังไม่ได้นัดฟังคำพิพากษา ต้องรอลุ้นไปก่อนว่าจะเป็นอย่างไร กรณีอ่าวน้อยทางผู้ฟ้องก็ยืนยันว่า ต้องยุติหรือชะลอไปก่อนเพราะหาดอ่าวน้อยเป็นหาดที่มีความสมบูรณ์และสมดุลของทรายตามธรรมชาติ ไม่เคยมีปัญหาการกัดเซาะขายฝั่ง จึงไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ อีกทั้งการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยมีโครงสร้างแข็งในโครงการนั้นใช้คอนกรีตลาดเท ไม่อาจแก้ปัญหาได้ แต่กลับจะทำให้เกิดปัญหามายิ่งขึ้น จนหาดทรายจะหายไปทั้งหมดเช่นเดียวกับหาดประจวบฯ เราจึงจำเป็นต้องขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยหวังว่าศาลจะสั่งชะลอโครงการต่อไป” นางสาว ส.รัตนมณี กล่าว
ด้านนายนภัส เกษมพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ตัวแทนผู้ฟ้องคดี ทั้ง 9 กล่าวว่า ทางชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เคยร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วโดยช่วงนั้นมีการเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างใหม่ที่เหมาะสม แต่ทางเจ้าของโครงการก็ยังดำเนินการตามแบบเดิม โดยสร้างระยะที่1 เป็นระยะ 400 เมตร และยืนยันจะใช้รูปแบบก่อสร้างที่เป็นโครงสร้างแข็งแบบเทปูน คอนกรีตลงไป ซึ่งส่วนตัวกับพรรคพวกที่เป็นผู้ฟ้องคิดว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และยังมีนักวิชาการหลายคนออกมายืนยันข้อมูลตรงกันว่า เขื่อนป้องกันการกัดเซาะแบบโครงสร้างแข็งอาจจะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะเพิ่มยิ่งขึ้น และรุนแรงมากขึ้นทุกๆ ปี ดังนั้นทางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยจึงอยากให้มีการชะลอโครงการและศึกษาผลกระทบรอบด้าน ผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ทางผู้ฟ้องได้นำเอกสารและให้ปากคำต่อศาลไปแล้วถึงข้อกังวลต่างๆ ซึ่งหวังว่าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคาว ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีโอกาสทบทวนโครงการอีกครั้ง ก่อนดำเนินการก่อสร้างในระยะต่อไป