เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร พร้อมด้วยนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อนุกรรมการฯ และคณะลงพื้นที่ตำบลดอนแฝก และตำบลแหลมบัว อำเภอนครชัยศรี และตำบลมาบแค อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงกรณีชาวบ้านร้องเรียน กสม.ให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่–กาญจนบุรี ที่ดำเนินการโดยกรมทางหลวง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ระบุว่าโครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามกระบวนการที่เป็นธรรม อาทิ ไม่แจ้งให้ผู้ได้รับผลกระทบรับทราบ,ไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และมีการประเมินราคาที่ดินเวนคืนไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านมูลค่าที่ดินในอนาคต
ทั้งนี้ในการลงพื้นที่ดังกล่าว กสม.ได้ประสานงานชาวบ้านในพื้นที่กว่า 50 รายเข้าร่วมชี้แจงข้อมูล พร้อมเชิญผู้แทนกรมที่ดิน กรมทางหลวง, ตัวแทนราชการท้องถิ่น ตลอดจนฝ่ายความมั่นคง และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย
นางศรีพัชรา เอกเผ่าพันธุ์ ตัวแทนชาวบ้านตำบลแหลมบัว กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีความไม่โปร่งใสหลายด้าน แต่กลับดำเนินการมาจนถึงขั้นตอนการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งที่ความชัดเจนเรื่องเนื้อที่นั้น ทางกรมทางหลวงไม่เคยเปิดเผยข้อมูลแบบตรงไปตรงมา อีกทั้งมีจุดพิรุธหลายอย่าง อาทิ การสร้างจุดพักรถมากถึง 3 จุดในระหว่างทาง มอเตอร์เวย์ดังกล่าวมีระยะทางรวมแค่ 96 กว่ากิโลเมตร และในกิโลเมตรที่ 19+500 จากตำบลดอนแฝก ซึ่งไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา อำเภอพุทธมณฑลแต่กลับมีจุดพักรถขนาดใหญ่ที่กินเนื้อที่เกือบ 200 ไร่ แต่ทางกรมทางหลวงกลับระบุในโครงการแค่เพียง 60 ไร่ ชาวบ้านหลายคนจึงกังวลว่าจุดพักรถดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะสร้างหรือไม่ เพราะไม่ไกลนักก็จะถึงกรุงเทพอยู่แล้ว

“มันน่ากลัวว่าจะสร้างพวกอาคารพาณิชย์และแหล่งการค้าเพื่อเอื้อทุนเอกชนมากกว่าหรือเปล่า เราจึงไม่เห็นด้วยกับการสร้างจุดพักรถที่ใหญ่ขนาดนั้นและไม่เห็นด้วยกับการสร้างจุดพักรถึง 3 ที่ ที่เราห่วงอีกประเด็นคือ การไม่มีส่วนร่วมของชาวบ้านในการประชุมรับฟังความคิดเห็น เพราะแค่เอกสารที่ส่งมายังหมู่บ้านกับเอกสารที่กรมทางหลวงถือเพื่อเตรียมเวนคืนพวกเรายังตรวจสอบไม่ได้เลยว่าอะไรจริงอะไรเท็จ รายงานอีไอเอพวกเราไม่เคยเห็นจึงอยากขอให้ทางราชการไทยช่วยเปิดเผยข้อมูลก่อนจะส่งหนังสือแจ้งมายังชาวบ้านและทำการจ่ายเงินเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแค่นี้เองที่พวกเราต้องการ อีกอย่างค่าเวนคืนที่ได้รับในขณะนี้แม้จะมีชาวบ้านบางคนยอมเบิกเงินค่าเวนคืนแล้วแต่ราคาที่ได้สูงสุดเพียงตารางวาละ 3,500 บาทเท่านั้น คงไม่พอสำหรับการปลูกสร้างและซื้อที่ดินใหม่อย่างแน่นอน ยิ่งถ้าอนาคตราชการตุกติก และเปิดรับการลงทุนจากภายนอกตามมา หลังจากโครงการมอเตอร์เวย์เสร็จ ราคาที่ดินที่อาจพุ่งขึ้นในอีก 15 ปีข้างหน้า ตามแผนกรมทางหลวง เอกชนที่ขายที่ดินตอนนี้ซึ่งรู้แผนย่อมขึ้นราคาที่สูง จึงไม่ยุติธรรมกับชาวบ้าน” นางศรีพัชรากล่าว
ขณะที่นายวัตร ปานคงคา อายุ 74 ปี ตัวแทนตำบลดอนแฝก กล่าวว่า อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ทางชุมชนมีแหล่งน้ำที่สำคัญหลายแหล่งที่เป็นคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตร โดยตนมีที่ดิน 28 ไร่เป็นโฉนดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นทวด ที่ดินที่ได้มาแบ่งเป็นที่ปลูกส้มเขียวหวานส่วนหนึ่งและที่นาปลูกข้าวส่วนหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านทำนาปีและนาปรัง รวม 2 ปีทำนา 5 ครั้ง เนื่องจากมีน้ำปริมาณที่เหมาะสม สร้างรายได้ที่ดีแต่ว่าข้อมูลที่ได้รับเป็นเอกสารจากท้องถิ่นระบุว่าที่ดินของตนทั้ง 28 ไร่ถูกเวนคืนทั้งหมด ได้ตารางวาละ 2,000 บาท หมายความว่าลูกหลานจะไม่มีโอกาสได้ทำประโยชน์ที่ดินแล้ว และพื้นที่เกษตรกรรมแหล่งใหญ่นับ 1,000 ไร่ของตำบลดอนแฝกก็จะกลายเป็นตำนานแล้ว
ขณะที่นายสากล ชลคีรี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล ตำบลลานตากฟ้า อำนครชัยศรี กล่าวว่า ในโครงการของกรมทางหลวงที่จะสร้างมอร์เตอร์เวย์ครั้งนี้ หลายฝ่ายศึกษากันว่าการสร้างตอม่อบางส่วนจะขวางทางน้ำของโครงการส่งน้ำ และอาจจะทำให้น้ำไหลไม่สะดวก เสี่ยงว่าในอนาคตชลประทานที่สร้างไว้จะทำประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เพราะตอนนี้ทางโครงการจะส่งน้ำเพื่อใช้ทั้งในการเกษตรและการอุปโภคพื้นที่บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี อำพุทธมณฑล และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม รวมทั้งระบายน้ำออกช่วงน้ำมากด้วย ดังนั้นหากการสร้างทางมอเตอร์เวย์ที่ไม่ใช่ทางยกระดับย่อมส่งผลกระทบแน่นอน สิ่งที่กรมชลประทานลงทุนไปทั้งโครงการก็จะสูญเปล่า ที่สำคัญทางกรมทางหลวงควรจะเชิญกรมชลประทานไปฟังและร่วมรับทราบข้อมูลด้วย
ด้านนายพิชากร ศรีจันทร์ทอง เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงกล่าวว่า โครงการสร้างมอเตอร์เวย์ของกรมในขณะนี้มีอยู่ 21 เส้นทาง เหตุผลที่กรมทางหลวงยืนยันจะสร้างมอเตอร์เวย์ขนาดใหญ่บางใหญ่-กาญจนบุรี เพราะจำเป็นต้องรองรับการจรจรในอีก 15 ปีข้างหน้าและรองรับเส้นทางใหม่เชื่อมไทยกับทวาย ประเทศพม่า ซึ่งขณะนี้แผนของเส้นทางมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ดำเนินการคืบหน้ามากที่สุดแต่กรณีที่ชาวบ้านเรียกร้องให้ขึ้นราคาเวนคืน อาจจะต้องประสานกรมที่ดินเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้หลังจากดำเนินการเรื่องการเวนคืนส่วนที่ดินเส้นบางใหญ่-กาญจนบุรีเสร็จแล้ว ทางกรมอาจจะเดินหน้าต่อโครงการนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กิโลเมตร มีเงินลงทุน 80,600 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ผลศึกษาเสร็จแล้ว จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนทั้งงานก่อสร้างและการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนการบริหารจัดการและงานบำรุงรักษา (O&M) ซึ่งกรมได้เสนอกระทรวงคมนาคมบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนปี 2560 แล้ว หากได้รับการอนุมัติจะเปิดประมูลปีหน้าและเริ่มเวนคืนที่ดินในปี 2561 และเริ่มสร้างปี 2562 เปิดใช้ปี 2565
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่สำรวจครั้งนี้แล้ว ทางกสม.จะทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทางหลวงเพื่อขอดูรายงานอีไอเอ และในอนาคตทาง กสม.อาจจะต้องสรุปรวมปัญหาของชาวบ้านที่ร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการมอเตอร์เวย์ทั้ง 21 สาย ซึ่งเท่าที่รับฟังปัญหามาทั้งส่วนที่ภาคเหนือและส่วนภาคกลาง พบว่า ชาวบ้านถูกละเมิดเรื่องพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้จากการร้องเรียนของชาวบ้านที่ทยอยยื่นเรื่องเข้ามา ทางกสม.เห็นว่า โครงการบางส่วนของกรมทางหลวงรวมทั้งโครงการพัฒนาด้านอื่นหลายอย่างไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลกลาง อาทิ เมื่อไม่นานมานี้ทางนายกรัฐมนตรี เดินทางไปประชุมกับสหประชาชาติแล้วตกลงอย่างดีว่าจะลดโลกร้อน ลดการปล่อยคาร์บอน แต่กลับสร้างทางด่วนขึ้นมา ซึ่งหากสร้างเสร็จก็คล้ายกับการเอื้อให้ประชาชนใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ก็เท่ากับส่งเสริมให้ประชาชนใช้ทรัพยากรรถยนต์และต้องการใช้พลังงานมากขึ้น จนทำให้ระบบการเกษตรของประเทศไทยเริ่มเข้าสู่หายนะ ส่วนนี้เป็นการละเมิดสิทธิด้านความมั่นคงทางอาหาร และละเมิดสิทธิในการจัดการทรัพยากรของประชาชนไทย