วันที่ 27 กันยายน 2559 นางสาวจ๋ามนวล ชาวไทใหญ่จาก “เมืองพันเกาะ” หมู่บ้านโวหลง อายุ 27 ปี กล่าวถึงกระแสการรอรับชมสารคดีเมืองพันเกาะ ซึ่งถ่ายทำในลุ่มน้ำสาละวินในรัฐฉาน เพื่อรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนว่ามีการแชร์ข่าวและคลิปตัวอย่างกันอย่างกว้างในหมู่ชาวไทใหญ่ที่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งจะมีการเปิดฉายที่เมืองย่างกุ้ง เมืองตองยี และเชียงใหม่ พร้อมกันในวันพรุ่งนี้ (28 กันยายน)
น.ส.จ๋ามนวลกล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในลูกหลานของแม่น้ำป๋าง ซึ่งครอบครัวต้องอพยพออกมาจากพื้นที่ตั้งแต่อายุเพียง 6 ปี เนื่องจากคำสั่งของทหารพม่า ชาวบ้านมากมายต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดโดย พ่อและตนต้องหนีภัยสงครามเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจนปัจจุบัน จำได้ว่าชีวิตในหมู่บ้านที่ริมแม่น้ำป๋างนั้นเป็นความสุขที่หาไม่ได้อีกแล้ว มีนา มีสวน จับปลาในแม่น้ำ เล่นน้ำในแม่น้ำ แต่ทุกวันนี้อยู่ในเมืองไทย จะหาแม่น้ำแบบนี้อาจหายากมาก
“สารคดีนี้เมื่อจะมีการฉายก็รู้สึกตื่นเต้น ดูตัวอย่างหนังแล้วอยากดูหนังฉบับเต็ม อยากกลับไป หากมีการสร้างเขื่อนเมืองโต๋นกั้นแม่น้ำสาละวินก็รู้สึกเสียดาย และรู้สึกหวง เพราะคือบ้านของเรา เราคือส่วนหนึ่งของที่นั่น เป็นถิ่นที่ให้กำเนิดชีวิตของเรา หากวันหนึ่งพม่าและรัฐฉานเกิดความสงบสุข ก็อยากกลับไปอยู่ที่บ้านเดิมแน่นอน” นส.จ๋ามนวล กล่าว
นายหนุ่มฮักไต เจ็ดจอมจาย ชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสชมตัวอย่างสารคดีที่เผยแพร่ในเครือข่ายคนไทใหญ่ ผ่านสื่อออนไลน์ และเฝ้ารอการฉายสารคดีเร็ว ๆ นี้ ในหมู่คนไทใหญ่นั้นพื้นที่เมืองพันเกาะพูดถึงอย่างกว้างขวาง แต่ส่วนตัวยังไม่เคยมีโอกาสไป แต่จากภาพที่ได้เห็นเป็นหลักฐานชัดเจนว่า รัฐฉานมีความสมบูรณ์ทางทรัพยากร อีกทั้งสะท้อนอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของประชากรในแถบนั้นอย่างดีว่ามีศักยภาพในการรักษาป่า น้ำได้อย่างดี เพราะธรรมชาติที่ถูกถ่ายทอดออกมาล้วนเป็นของจริง เป็นน้ำตก แม่น้ำ ป่าไม้ที่มีค่า และหากไม่สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน พื้นที่ดังกล่าวก็สามารถพัฒนาเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ช่วยให้หลายคนเข้าไปสัมผัสได้
“ส่วนตัวผมไม่กล้าหวังว่าโครงการเขื่อนสาละวินจะยุติหรือได้หรือไม่ แต่อยากฝากถึงคนดูที่ได้ดูสารคดีชิ้นนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ชาติอะไร หากใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้ดีย่อมมีสิ่งดีตอบแทนเราเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บางครั้งการทำงานเหนื่อย ๆ มีพื้นที่ให้ไปพักผ่อนแบบนี้ อาจช่วยเยียวยาใจได้ เขื่อนจึงไม่ใช่คำตอบ และผู้ลงทุนด้านการไฟฟ้าก็ไม่ควรคิดแต่จะได้ ผมเลยอยากให้คนที่ได้ดูเรื่องนี้ตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมที่ดีมันสำคัญ และถ้าคุณจะออกมาต้านเขื่อนช่วยเราอีกแรง ก็จะทำให้เรามีความหวังในการมีสมบัติทางธรรมชาติร่วมกันในอนาคต” นายหนุ่มฮักไต กล่าว
ทั้งนี้จากรายงานการลงสำรวจพื้นที่ “เมืองพันเกาะ” หรือเมืองกุ๋นฮิง ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนเมืองโต๋นบนแม่น้ำสาละวิน ในรัฐฉานเมื่อปี 2558 ของกลุ่มสิ่งแวดล้อมสาละวินวอช พบว่า ปัจจุบันยังมีประชาชนอาศัยอยู่กว่าหมื่นคนทั้งริมแม่น้ำสาละวินและริมแม่น้ำป๋าง โดยชาวบ้านเหล่านี้เคยถูกทหารพม่ากวาดต้อนบังคับให้อพยพในช่วง พ.ศ. 2540-2542 จาก 11 เมืองในรัฐฉาน โดยในการกวาดล้าง ทหารพม่าได้เข้ามาสั่งให้ชาวบ้านย้ายออกจากหมู่บ้านภายใน 3-7 วัน หากหลังจากนั้นเข้ามาในหมู่บ้านแล้วยังพบใครก็จะทำร้ายร่างการ ทรมาน ข่มขืน หรือสังหาร และทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินจนเสียหาย มีจำนวนประชาชนในรัฐฉานถูกบังคับอพยพในคราวเดียวกันกว่า 300,000 คน ที่แตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่ตามที่ต่างๆ ซึ่งสาละวินวอชระบุว่าสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1 หนีไปอาศัยตามแนวชายแดนไทย 2 อพยพเข้าไปอยู่ในแปลงอพยพที่ทหารพม่าสั่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้ตัวเมือง 3 หลบซ่อนตัวอยู่ในป่าเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons-IDPs) แต่ช่วง พ.ศ. 2550 เป็นต้นมาสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ชาวบ้านจึงได้ทยอยพากันกลับมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่เคยถูกทำลาย โดยได้ฟื้นฟูหมู่บ้านเดิม ทำไร่ทำนา บูรณะวัด และสร้างโรงเรียน
สาละวินวอชระบุว่า เจ้าหน้าที่ทางการชาวไทยใหญ่รายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เขตกุ๋นฮิง ชาวบ้านเริ่มกลับมาประมาณ 30% บางส่วนยังทำงานรับจ้างอยู่เมืองไทย ส่งเงินกลับมาสร้างบ้านไว้ในที่ที่เคยเป็นบ้านเดิม สาเหตุที่ยังไม่กลับมาเพราะยังไม่แน่ใจสถานการณ์ ทั้งเรื่องการสู้รบและการสร้างเขื่อน เวลานี้พม่าอาจจะดูเหมือนว่าเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงกลับมีโครงการสร้างเขื่อน จะทำให้น้ำมาท่วมพื้นที่นี้ซึ่งจะเป็นการทำลายทุกอย่าง ทำลายบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ที่ชาวบ้านเคยสูญเสียไปและกำลังเริ่มกลับมาฟื้นฟู
อนึ่ง นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยกับสื่อมวลชนไทยว่า จะมีการหารือกับทางรัฐบาลเมียนมา เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านพลังงานหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะมีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าหลายโครงการ สำหรับความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง กำลังการผลิต 6,000 เมกะวัตต์ ที่ก่อนหน้านี้ก็มีการเจรจากับหลายรอบ ซึ่งมีข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกันแล้วว่าเขื่อนจะมีขนาดเล็กลง โดยแบ่งเป็น 2 เขื่อนกำลังการผลิตเฟสละ 3,000 เมกะวัตต์ จากเดิมที่เคยมีข้อตกลงร่วมกันในการซื้อขายไฟฟ้าไว้ที่ 7,000 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนน่าจะสามารถก่อสร้างเฟสแรกได้ภายในปี 2562 นอกจากนี้ยังจะเจรจาความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังนำฮัตจี กำลังการผลิต 1,300 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าในการหารือร่วมกันครั้งนี้ จะมีข้อสรุปที่ชัดเจนโดยเร็ว