
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
นักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฉบับวันที่ 28 กันยายน 2554
การสำรวจข้อเท็จจริง
การสอบข้อเท็จจริงปู่คออี้ หรือนายโคอิ หรือจออี้ เป็นเรื่องที่ยาก ลำบาก(ใจ) ด้วยเพราะปู่คออี้มีอาการอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา สาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะวัยที่ยืนยาวมาถึง 103 ปี ประกอบกับล่าสุดปู่คออี้เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดต้อตา แต่ทุกคนรู้ดีว่าความทุกข์ในใจที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสังขารที่ถดถอย ก็คือคำบอกเล่าจากลูกชายถึงบ้าน ที่ถูกเผาและยุ้งข้าวที่ถูกรื้อทำลาย ข้าวเปลือกร่วม 400 ถังถูกทำลายและสูญหาย โดยเจ้าหน้าที่(ไม่ทราบหน่วยงานแน่ชัด) ลูกหลานต้องแตกกระสานซ่านเซ็น นอแอะ-ลูกชายคนโตก็มาถูกจับ ถูกตั้งข้อหาว่ามีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง (แม้มันจะเป็นปืนแค่ปืนแก๊ปก็ตาม)(ดู ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว, บันทึกร่องรอย-เรื่องราวกะเหรี่ยงบางกลอยบน ย่างเข้าเดือนที่ 2 ที่ถูกอพยพโยกย้าย-ไร้บ้าน สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ, 6 กันยายน 2554 สืบค้นได้ที่ http://www.statelesswatch.org/node/462 และ “กะเหรี่ยงบางกลอย ในผืนป่าแก่งกระจาน คนดั้งเดิม-กับชุมชนที่รอการพิสูจน์ยืนยัน” 21 กันยายน 2554 สืบค้นได้ที่ http://www.statelesswatch.org/node/472)
นอแอะลูกชายคนโตช่วยแปลและเสริมข้อมูลว่า พ่อเล่าให้ฟังว่าพ่อเกิดที่บ้านบางกลอยบน หรือคีลอในภาษากะเหรี่ยง และไม่เคยโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น นอแอะ (หรือหน่อแอะ) และนอสะ (หรือหน่อสะ)-น้องชายของเขาก็เกิดที่บางกลอยบนนี้ และอยู่ที่นี่มาจนถึงปัจจุบัน ที่บ้านนอแอะก็เหมือนกับกะเหรี่ยงคนอื่นๆ ทุกครอบครัวทำไร่ข้าวหมุนเวียน(เวียนประมาณ 2 ปี) ปลูกพริกและพืชผักอื่นๆ แซมข้าวไร่ โดยไร่ห่างออกจากตัวบ้านไปประมาณหนึ่งชั่วโมงเดินเท้า
จากการตรวจสอบกับเอกสารฉบับสำเนา-ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือท.ร.ชข. ที่จัดทำขึ้นโดยกรมประชาสงเคราะห์ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขา หรือโครงการสิงห์ภูเขา (เป็นการสำรวจชาวเขาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2527) เมื่อปีพ.ศ.2531 พบชื่อของปู่คออี้ ถูกเขียนว่านายโคอิ เป็นหัวหน้าครอบครัว เกิดเมื่อปีพ.ศ.2454 ที่จังหวัด “เพชรบุรี” ประเทศ “ไทย” พ่อชื่อ “มิมิ” แม่ชื่อ “พินอดี” ทุกคนเป็นชาวเขาเผ่า “กะเหรี่ยง” และนับถือ “ผี” ข้อมูลนี้อยู่ในแฟ้มท.ร.ชข.บ้านบางกลอย 4 เป็นครอบครัวที่สามจาก 20 ครอบครัว เวลานั้นบางกลอย 4 ขึ้นกับพื้นที่กิ่งอำเภอแก่งกระจาน
เหรียญชาวเขาของพ่อเป็นสิ่งที่นอแอะเห็นตั้งแต่เด็ก จำได้คร่าวๆ ว่ามันเป็นช่วงปี-สองปีหลังเขื่อนแก่งกระจานสร้างเสร็จใหม่ๆ (สร้างเมื่อปี 2509) นายอำเภอท่ายางในสมัยนั้นเรียกชาวบ้านไปรับเหรียญ
ตรงกับคำบอกเล่าของผู้ใหญ่กระทง โชควิบูลย์ (นามสกุลเดิม-จีโบ้ง) และนายดุ๊อู จีโบ้ง (ชาวกะเหรี่ยงที่เกิดที่บ้านบางกลอย ไม่ปรากฎชื่อในท.ร.ชข. เพราะในช่วงที่มีการสำรวจ ดุ๊อูพร้อมกับลูกชายได้เดินลงมาขายพริกที่อำเภอท่ายาง) ที่เล่าว่า นายอำเภอคนนั้นชื่อถวัลย์ แต่จำนามสกุลไม่ได้ เรียกให้ชาวบ้านไปรับมอบเหรียญจากทางอำเภอ
ผู้ใหญ่กระทงเล่าว่า หลังจากนั้นประมาณช่วงปี 2526 นายอำเภอท่ายางได้เรียกให้ชาวบ้านมาทำบัตรประชาชนคนไทย เขาเป็นคนหนึ่งที่ไปทำบัตรประชาชน เวลานั้นเขาไม่เข้าใจว่าบัตรประชาชนคนไทยหมายถึงอะไร แต่ตอนนั้นเขาลงจากบางกลอยบนมาขายพริกที่อำเภอท่ายาง เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกให้ไปทำบัตร ก็ไป เขาจึงมีบัตรประชาชนไทย และต่อมาได้รับการกำหนดเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 3 (ปี 2527 เป็นปีแรกที่มีการตั้งระบบเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยคนที่มีสัญชาติ จะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 1 (กรณีแจ้งเกิดในกำหนด) และเลข 2 (กรณีแจ้งเกิดเกินกำหนด) ส่วนเลข 3 เป็นกรณีของคนไทยที่เกิดและแจ้งชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน (ประเภทคนไทย หรือท.ร.14) ก่อนเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2524)แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจที่จะลงมาทำบัตรประชาชน
…เหตุผลนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะหลายคนเห็นว่า “ไม่จำเป็น”
ตอนนอแอะอายุได้ 30 ปี พ่อก็ให้เหรียญชาวเขาแก่เขา จนถึงปัจจุบันนอแอะยังไม่แต่งงานและยังคงอาศัยอยู่กับปู่คออี้ โดยนอสะและนอโพริ-ภรรยาของนายนอสะ ซึ่งมีลูกด้วยกัน 9 คน ก็อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันนี้
นอแอะบอกว่า หากจะนับเป็นการโยกย้ายบ้านในชีวิตของพ่อ รวมถึงตัวเขาและคนอื่นๆ ในครอบครัว ก็น่าจะเป็นช่วงประมาณปี 2539 ที่เจ้าหน้าที่บอกให้กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ที่บางกลอยบนอพยพลงมายังบ้านโป่งลึก-บางกลอย ครอบครัวของเขาจึงต้องจำใจโยกย้ายลงมา พร้อมกับกะเหรี่ยง 57 ครอบครัว หรือ 391 คน แต่อยู่ไปได้ประมาณสามเดือน นอแอะบอกว่าพ่อทนอากาศร้อนไม่ไหว และคิดถึงเสียงของป่า จึงอพยพกลับไปอยู่ที่บ้านหลังเดิมที่บางกลอยบน
และครั้งที่สองของการ(ถูกบังคับให้)อพยพโยกย้ายคือเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอแอะถูกจับเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 ถูกนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาส่งที่สถานีตำรวจ และถูกส่งต่อไปยังเรือนจำ ในวันรุ่งขึ้นพ่อของเขาและหลานถูกนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาที่บ้านบางกลอย เกือบสองอาทิตย์ต่อมาพวกเขาจึงรับรู้ในเวลาใกล้เคียงกันว่าทั้งบ้านและยุ้งฉางถูกเผาจนไม่เหลืออะไร
นายกระทง จีโบ้ง ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย นายลอย จีโบ้ง ผู้ใหญ่บ้านโป่งลึก นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ประธานองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี (เกิดที่บ้านบางกลอยบน ปี 2508 ปรากฎตามเอกสารสำเนาท.ร.ช.ข.แฟ้มบ้านโป่งลึก 2 ครอบครัวที่ 4) ทุกคนเกิดที่บ้านบางกลอยบนและรู้จักปู่คออี้เป็นอย่างดีตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะผู้ใหญ่กระทง สมัยเด็กๆ เคยอาศัยอยู่ที่บ้านญาติคือนายจอโจ่ (เกิดที่บ้านบางกลอยบน ปี 2476 ปรากฎตามเอกสารสำเนาท.ร.ช.ข.แฟ้มบ้านบางกลอย 6 ครอบครัวที่ 2) ซึ่งตั้งบ้านอยู่ใกล้กับบ้านของปู่คออี้ (ห่างกันประมาณหนึ่งชั่วโมงเดินเท้า) ไม่เฉพาะสามคนนี้ คนอื่นๆ ในชุมชนบางกลอยบนต่างก็รู้จักและจดจำปู่คออี้ได้ดี ด้วยร่างกายที่สูงใหญ่ เป็นพรานที่มีชื่อเสียงและเป็นคนที่ชุมชนให้การนับถือ
ในทางกลับกัน ด้วยวัยที่ยืนยาวมาถึง 103 ปี ต้องกล่าวว่าปู่คออี้ต่างหากที่รู้เห็นความเป็นไปของผืนป่าใจแผ่นดิน บางกลอยเป็นอย่างดี ทั้งยังรู้เห็นการเกิดและการเติบโตของผู้ใหญ่กระทง ผู้ใหญ่ลอย รวมถึงประธานอบต.นิรันดร์ และอีกหลายชีวิตในผืนป่าใจแผ่นดิน-บางกลอยบน
ถ้อยคำจากคนนอกพื้นที่
วุฒิ บุญเลิศ ปราชญ์ชาวบ้าน และเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงให้ข้อมูลว่า (สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554) ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันตกมีอยู่เป็นเวลานาน ปรากฎตามหลักฐานว่ารัชกาลที่ 3 ในช่วงปีพ.ศ.2388 ได้ให้คนกะเหรี่ยงที่เป็นกองคันฑมาศ ดูแลด้านชายแดน จังหวัดตาก-ราชบุรี, ในเอกสารพงศวดารของรัชกาลที่ 4 ได้พูดถึงเขตแดนไทยมีกะเหรี่ยง ละว้าอยู่ตามชายแดนต้นน้ำเพชรบุรี นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าประมาณปีพ.ศ. 2444 พระยาวรเดชศักดาวุธ เทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าน้องยาเธอกรมดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินการสำรวจประชากรในพื้นที่มณฑลราชบุรี ตั้งแต่ประจวบขึ้นมา พระยาวรเดชฯ ได้พบกับกะเหรี่ยงที่บ้านลิ้นช้าง (ในปัจจุบัน อยู่ในต.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี) และผู้นำกะเหรี่ยงซึ่งมีตำแหน่งนายด่านบ้านลิ้นช้าง ชื่อ หลวงศรีรักษา ต่อมาตำแหน่งนี้คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (วุฒิ บุญเลิศ, “เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นสู้” หัวหน้าโครงการวิจัยงานวิจัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่น ภายใต้ชุดโครงการวิจัยปวศท้องถิ่น สกว., ปี 2546, ดูเพิ่มเติม หนังสือท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง (หรือ Temple and Elephant ของคาร์ล บอกร์) คนแปลคือ เสถียร พันธะรังสี และอัมพร ทีขะระ)
สำหรับปู่คออี้-อาจารย์วุฒิ ได้เล่าถึงบันทึกของบิดาคือ นายระเอิน บุญเลิศ ว่าครั้งหนึ่งเคยพาพรานกะเหรี่ยงไปขายนอแรดที่ราชบุรี
“ปู่ของผมเป็นกำนัน พ่อผมเป็นครูประชาบาล สอนหนังสือ รู้ภาษาไทย อ่านออก พี่น้องคนปกากะเญอ เอาของไปขาย ก็จะให้คุณพ่อพาไป จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นเพื่อนกับพรานกะเหรี่ยงคนนั้น”
เขาเพิ่งทราบข่าวว่าพรานคนนั้นยังมีชีวิตอยู่และมีอายุประมาณหนึ่งร้อยปีเศษแล้ว ซึ่งนั่นก็คือปู่คออี้นั่นเอง
นายดุลยสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หลานชายในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นอีกหนึ่งคำยืนยันว่าปู่คออี้ มิมี คือปาเกอญออาวุโสผู้เป็นที่นับถือของปาเกอญอแก่งกระจานเป็นสหายของเสด็จตา-พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง (ให้ข้อมูลกับอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบปากคำผู้เสียหายจากการถูกเจ้าหน้าที่รัฐ(ไม่ทราบสังกัด)เผาทำลายบ้านและยุ้งฉางของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2554) นายดุลยสิทธิ์ได้เดินทางมาสมทบ และได้พบกับปู่คออี้อีกครั้ง เขายืนยันว่า “จำปู่คออี้ได้” ว่าคนเดียวกันซึ่งในสมัยเด็กนั้นตนเรียกว่า “จออี้” โดยจดจำลักษณะรูปร่าง หน้าตา รวมทั้งรอยสักที่แขนได้
นายดุลยสิทธิ์เล่าว่า สมัยนั้นปู่คออี้ได้เดินทางนำเนื้อสัตว์ พริก มาถวายให้เสด็จตาเสมอ และเป็นพรานที่ได้นำเสด็จตาและคณะเข้าป่าล่าสัตว์ ซึ่งมีครั้งหนึ่งได้นำเสด็จตาและคณะรวมทั้งหม่อมแม่ของท่านชาย (ปัจจุบันอายุ 70 ปี) เข้าป่าล่าสัตว์และเนื่องจากพบกับโขลงช้างโดยบังเอิญจนต้องฆ่าแม่ช้าง และเสด็จแม่ขอชีวิตลูกช้างจากท่านตา ซึ่งต่อมาในภายหลังให้ชื่อว่า “จะเด็จ” และมีปู่คออี้เป็นผู้ที่ช่วยแนะนำวิธีการเลี้ยงดูช้างตามวิธีของปาเกอญอ
“ผมได้รับการดูแลมากับป่า เพราะความรู้ของกะเหรี่ยงทำให้ผมเลี้ยงช้างรอดชีวิต และเห็นว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ทำลายป่า ผมอยากย้ำเจตนาของโครงการพระราชดำริว่าให้เอาตัวอย่างคนกะเหรี่ยงเพราะเป็นคนที่ไม่ทำลายป่า และไม่เคยมีนโยบายให้ไล่คนออกจากป่า ชาวบ้านเขาอยู่มานาน บรรพบุรุษเขาก็ฝังกันอยู่ตรงนั้น”

สถานะบุคคลตามกฎหมายของปู่คออี้
ภายใต้กฎหมายระหว่งประเทศแผนกคดีบุคคล บุคคลย่อมมีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ กฎหมายการทะเบียนราษฎร กฎหมายคนเข้าเมือง สำหรับปู่คออี้-สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของปู่คออี้ มีประเด็นน่าสนใจว่าปู่คออี้จะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติอย่างไร
หลักกฎหมายสัญชาติของนับแต่สยามจนถึงปัจจุบันมีหลักอยู่ว่าการได้มาหรือเสียสัญชาติไทย ย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะที่บุคคลเกิด ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ากฎหมายสัญชาติฉบับแรกของสยามที่กำหนดหลักเกณฑ์การได้มา-เสียสัญชาติไทย คือพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 นั้น ไม่ครอบคลุมถึงปู่คออี้ หรือกล่าวได้ว่าปู่คออี้ไม่ได้-ไม่มีสัญชาติไทยโดยผลกฎหมายสัญชาติฉบับปีพ.ศ.2456 ด้วยเพราะปู่คออี้เกิดก่อนที่กฎหมายสัญชาติฉบับนี้จะประกาศและใช้บังคับประมาณ 2 ปี
..ปู่คออี้เกิดในปีพ.ศ.2454 เป็นปีเดียวกับที่สยามประกาศและบังคับใช้พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.130 (พ.ศ.2454 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม) หรือกฎหมายแปลงชาติ ร.ศ.130
และแน่นอนว่าปู่คออี้ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีแปลงชาติ เพราะมิได้เป็นกลุ่มเป้าหมายของกฎหมาย แปลงชาติฯ ด้วยเพราะความเป็นคนกะเหรี่ยงหรือชนชาวประเทศมีเพศภาษาต่างๆ ที่เกิดและปรากฎตัวในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม (ปรากฎตามพระราชสาส์นที่รัชกาลที่ 3 มีถึงพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส เมื่อพ.ศ.2408 เนื้อหาส่วนหนึ่งมีใจความว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระเจ้ากรุงรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยาเป็นมหาราชธานีใหญ่ในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม คือแผ่นดินสยามเหนือใต้และดินแดนต่างๆ อยู่เคียงอยู่ใกล้ เป็นที่อยู่อาศัยของชนชาวประเทศมีเพศภาษาต่างๆ คือ ลาวเฉียง ลาวกาว กัมพูชา มลายูและกะเหรี่ยง) มิได้เป็นคนต่างประเทศผู้ใดผู้หนึ่ง (ตามมาตรา 3 หมวดที่ 2 ลักษณที่ต้องมีในการแปลงชาติ) ยิ่งไปกว่านั้นปู่คออี้มิได้มีชาติ(ตน)ให้สังกัด ปู่คออี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอแปลงชาติต่อเสนาบดีว่าการต่างประเทศ รวมถึงจะต้องเข้าถือน้ำพิพัฒน์สัตยานุสัตย์เพื่อให้ตนได้มาซึ่งสถานะ “คนในบังคับสยาม”
อาจกล่าวได้ว่า ปู่คออี้หรือกะเหรี่ยงคนอื่นๆ รวมถึงชนชาวประเทศที่มีเพศภาษาต่างๆ ย่อมมีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ หรือมีสัญชาติไทยอันเป็นไปตามหลักมูลนิติธรรมประเพณี -เฉกเช่นเดียวคนในสยามที่เกิดและปรากฎตัวในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม
และภายใต้การวิเคราะห์สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติข้างต้นนี้ แม้ปู่คออี้จะไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ หรือเป็นคนไร้รัฐ ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ปู่คออี้ จะต้องเข้ารับการสำรวจและบันทึกตัวบุคคลในทะเบียนประวัติประเภทท.ร.38 ก. ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0 (ข้อ 97 ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 “บุคคลอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) โดยไม่มีหลักฐานเอกสารมาแสดง ให้เจ้าบ้านหรือผู้ขอเพิ่มชื่อยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ขอเพิ่มชื่อมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้วให้ดำเนินการดังนี้…” ) หรือเป็นบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน อันเป็นกระบวนการรองรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สถานะบุคคลของตัวเอง
กระบวนการพิสูจน์และรับรองความเป็นคน(สัญชาติ)ไทย กรณีปู่คออี้
การวิเคราะห์สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของปู่คออี้ข้างต้น ย่อมเป็นไปได้ว่าจะมีข้อคิด-เห็นแย้ง ดังนั้นในแง่ของกระบวนการพิสูจน์ จึงย่อมมีคำถามว่าบนฐานการกล่าวอ้างหรือหากสามารถเชื่อได้ว่าปู่คออี้เป็นกะเหรี่ยงดั้งเดิม หรือไทย-กะเหรี่ยงจริง กระบวนการหรือช่องทางใดที่ปู่คออี้ รวมถึงหน่วยงานทางทะเบียนราษฎรคืออำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีควรจะเดินไป ด้วยการยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) (การยื่นคำร้องตามข้อ 11 เพื่อลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 เพื่อให้มีชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนไทย (ท.ร.14) ไม่สามารถดำเนินการได้ ด้วยเพราะกลุ่มเป้าหมายของระเบียบฯ ฉบับนี้ จะต้องเป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456 ถึงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 เท่านั้น)

บทส่งท้าย
“มีบัตรประชาชนก็ต้องกินข้าว ไม่มีบัตรประชาชนก็ต้องกินข้าว”
นอแอะเล่าถึงคำพูดของพ่อที่เคยพูดไว้เมื่อครั้งที่เคยคุยกันถึงการไปดำเนินเรื่องเพื่อให้มีสัญชาติไทยหรือมีบัตรประชาชน นอแอะเข้าใจดีว่าพ่อของเขาต้องการสอนให้เขาเป็นคนขยันทำมาหากิน ยึดถือในวิถีชีวิตของกะเหรี่ยง
อาจด้วยเพราะวิถีชีวิตของกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแห่งนี้ ด้วยผลผลิตข้าวไร่ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับอาหารแต่ละมื้อของสมาชิกในครอบครัวในแต่ละปี จากไร่หมุนเวียนที่พวกเขายังดำรงรักษาไว้จุนเจือให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับป่า สนับสนุนให้พวกเขายังคงสามารถรักษาระยะห่างกับความเป็นเมืองพวกเขาสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจที่รวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพ ที่อำเภอแก่งกระจาน หรือแม้แต่อำเภอท่ายางที่พวกเขามักเอาพริกมาขาย จึงไม่เกินเลยที่จะพูดว่า ปู่คออี้ นอแอะหรือกะเหรี่ยงอีกจำนวนไม่น้อยแห่งผืนป่าแห่งนี้ ไม่รู้และเข้าใจด้วยซ้ำไปว่าพวกเขามีสัญชาติไทยแล้ว จะเหลือก็แต่เพียงการดำเนินการของรัฐไทย โดยหน่วยงานทะเบียนราษฎรที่จะออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล (ทะเบียนบ้านประเภทท.ร.14 และบัตรประชาชนคนไทย ) เพื่อรับรองความมีสัญชาติไทยของพวกเขา
หลายคนที่ได้ยินได้ฟังคำพูดของปู่คออี้ข้างต้น แม้จะเห็นด้วย แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้ากะเหรี่ยงกลุ่มนี้ได้รับการรับรองความมีสัญชาติไทยจากอำเภอแก่งกระจานไปก่อนหน้านี้ จริงหรือไม่ว่า-บ้าน ข้าวไร่และยุ้งฉาง คงไม่ถูกเผา ทำลายเสียหายขนาดนี้ รวมถึงจิตใจของพวกเขา
—————————-