Search

หวั่นเป็นหนูทดลองอีก ชาวบ้านริมแม่น้ำโวยโครงการแลนด์มาร์กเจ้าพระยา นักวิชาการ-ผู้ประกอบการติงแก้ปัญหาไม่ถูกจุด สจล.วอนสื่อเข้าใจ ชี้ต้องการให้เป็นสาธารณะ

received_1207751815934768

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 ที่ห้อง 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร เป็นประธานการประชุมรับฟังข้อเท็จจริงกรณีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (แลนด์มาร์ค เจ้าพระยา)โดยมีตัวแทนสำนักงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งผู้ร้องซึ่งคือ เครือข่ายภาคประชาชนและชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบการ อาทิ นายกฤษดา สุโกศล แคลปป์ หรือ น้อย วงพรู ผู้บริหารโรงแรมสยาม (สุโกศล) เข้าร่วมเสนอข้อมูลด้วย

นางเตือนใจ กล่าวว่า การพูดคุยในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากจากกสม.ได้รับคำร้องจากกลุ่มสมัชชาแม่น้ำ (The River Assembly-RA) เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมาโดยขอให้ กสม.เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ของโครงการที่มีแนวโน้มของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนริมน้ำที่ได้รับผลกระทบ 34 ชุมชน ซึ่งทางผู้ร้องได้ระบุว่า ประชาชนที่เสี่ยงได้รับผลกระทบนั้นขาดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งทางผู้ดำเนินโครงการไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนริมน้ำที่แน่ชัดของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงสจล.และกทม.ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผลการศึกษาในการส่งงานแต่ละขั้นตอนให้สาธารณะตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่ ทางกสม.จึงต้องรับฟังข้อมูลวันนี้เพื่อจะดำเนินการประสานงานต่อไป

“ตั้งแต่ได้รับเรื่องร้องเรียนได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พบว่ายังมีชาวบ้านริมน้ำที่ยังไม่เห็นด้วยต่อโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และการจะสร้างทางเดินหรือทางปั่นจักรยาน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลของโครงการที่ยังไม่ทั่วถึง จึงอยากฟังอีกชัด ๆ และสรุปข้อมูลเสนอต่อรัฐบาลต่อไป เพราะเรื่องนี้ทางผู้เชี่ยวชาญก็มีการลงความเห็นว่าเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อคนริมน้ำพอสมควร” นางเตือนใจกล่าว

นายฐาพัช อำไพจิตร์ ชาวบ้านปูน บางพลัด กรุงเทพฯ กล่าวว่า ชุมชนบ้านปูนเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับสะพานพระราม 8 เคยได้รับผลกระทบจากการสร้างสะพานมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่นั้นรับได้เพราะเป็นการอำนวยความสะดวกในการสัญจรสาธารณะ โดยขณะนี้ชาวบ้านริมน้ำหลายร้อยครัวเรือนยังคงมีการทำประมงพื้นบ้าน หาหอย ปู ปลา เช่นเดิมเหมือนช่วง 100 กว่าปีที่ผ่านมา และต่อมาชาวบ้านเรียนรู้ผลกระทบของการพัฒนาแม่น้ำจากโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำเจ้าพระยามาแล้ว ระดับน้ำที่ขึ้นลง อย่างไม่เป็นปกติทำลายระบบนิเวศน์ไปบางส่วนแล้ว ตนจึงไม่เห็นด้วยกับโครงการที่สจล.และกทม.จะดำเนินการ

“คุณเป็นนักวิชาการ คิด ๆ โครงการมาทำงาน หาเงินเสร็จคุณไป แต่คนที่จะอยู่ด้วยกับโครงการซึ่งจะเกิดผลเสียในภายภาคหน้า คือพวกผม พวกชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ เราอยู่กับธรรมชาติมานาน เช้า-เย็น เราตื่นมาเห็นแม่น้ำ ความรู้เรามีแค่ว่า น้ำขึ้น-ลง ดูแลตัวเองยังไง จุดไหนควรหาสัตว์น้ำ จุดไหนจอดเรือประมง นอกจากหากินแบบพื้นบ้านแล้ว เรายังมีอาชีพพายเรือขายของอีก เราใช้เรือเป็นชีวิตประจำวัน เป็นปกติ แต่อยู่ ๆ จะมีทางเบี่ยง ทางเลี่ยง ทางเลียบหรือเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ โดยอ้างว่าเพื่อให้สิทธิสาธารณะได้เข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ผมว่าเหตุผลฟังไม่ขึ้น คุณแค่คิด ๆ ทำ ๆ มีเงินก็ทำ แล้วยังงี้พวกผมจะรองรับเป็นหนูทดลองของพวกคุณนานแค่ไหน ผมอยากให้กสม.เข้าใจด้วยว่า พวกเราไม่ได้มีความสุขกับการถูกโยกย้ายและรอวันได้รับผลกระทบจากโครงการ เราขอให้ทางผู้จัดหยุดโครงการไปเลย และหากคุณยืนยันว่ามีคนเห็นด้วย คุณก็เอาหลักฐานมากางให้ชัดเจน แต่สำหรับผม ชุมชนแต่ละชุมชนมีมรดกวัฒนธรรมต่างกันก็จริงแต่เราใช้แม่น้ำร่วมกัน กับไอ้แค่สร้างทางรถวิ่ง หรือทางจักรยานนั่นมันแค่สุขทางสายตา คนจะตายคือพวกผม” นายฐาพัช กล่าว

ด้านผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี รองผู้จัดการโครงการฯ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การสร้างโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยาเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าใช้ริมน้ำได้เท่าเทียมกัน เพราะที่ผ่านมามีคนรุกน่านน้ำและมีเอกชน ร้านอาหารเช่าที่ปลูกสร้าง คนทั่วไปจะเข้าถึงก็ลำบาก จึงเป็นผลดีต่อประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตามกรณีมีรายงานข่าวว่าไม่มีการรับฟังข้อคิดเห็นนั้นไม่จริง เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีการสำรวจศึกษาและสอบถามมาแล้วอย่างน้อย 1-4 ครั้ง และทางผู้ศึกษาได้วางแผนโครงการอย่างดีแล้วจนมีข้อสรุปว่า กรณีการเดินหน้าโครงการนั้น จะมีการละเว้นชุมชนที่มีมรดก วัฒนธรรม โบราณไว้ เช่น กรณีชุมชนย่านวัดเทวราชกุญชร เราก็จะออกแบบพัฒนาเส้นทางที่ไม่ไปส่งผลต่อการทำลายทัศนียภาพ

“อยากให้ทุกคนโดยเฉพาะสื่อ พยายามเข้าใจประเด็นให้ได้ก่อนว่าประโยชน์คืออะไร ควรเข้าใจว่าโครงการนี้ต้องการให้แม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นสาธารณะ แต่ละคนได้หรือเสียประโยชน์ไม่เท่ากัน เราต้องมานั่งแก้ข่าว ขอให้สื่อนำเสนออย่างสร้างสรรค์ อาจได้ยอดแชร์เยอะ โซเชียลมาเดี๋ยวก็ไป ขอให้เน้นประโยชน์ที่จะกลับมาสู่ประเทศชาติ ขอให้สื่อกรองข้อมูล อย่าตามแต่กระแสโซเชียล” ผศ.ดร.อันธิกา กล่าว

ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โดยปกติแล้วการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment : EIA) ต้องใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติตามฤดูกาล แต่โครงการการศึกษาเจ้าพระยานี้กลับใช้เวลาทั้งหมดเพียง 7 เดือน ซึ่งนับรวมตั้งแต่การศึกษาความคุ้มค่าการลงทุน การศึกษาผลกระทบวัฒนธรรมและวิถีชีวิต การศึกษา EIA รวมไปถึงการออกแบบแผนแม่บทที่จะใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาสองริมฝั่งแม่น้ำ ควรมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาตามระยะทาง 57 กิโลเมตรของโครงการทั้งหมด ไม่ใช่ศึกษาเพียงแค่ระยะทาง 7 กิโลเมตรของโครงการนำร่องทั้งหมด 14 กิโลเมตร เนื่องจากสิ่งก่อสร้างบนแม่น้ำจะต้องมีผลกระทบกับแม่น้ำทั้งสายอย่างแน่นอน

ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า แม่น้ำเจ้าพระยาจัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ การไหลย้อนของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ในฤดูน้ำหลาก น้ำจากทางภาคเหนือที่ไหลลงสู่ทะเล จะสามารถไหลย้อนจากปากอ่าวป้อมพระจุลกลับขึ้นไปถึงอำเภอบางไทร จังหวัดอยุธยา คิดเป็นระยะทางประมาณ 112 กิโลเมตร หากไม่มีการปิดประตูกั้นการเดินทางของน้ำ แต่หากความกว้างของแม่น้ำถูกทำให้แคบลงด้วยทางเลียบสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำให้ความจุของแม่น้ำลดลง และส่งผลให้น้ำที่ไหลย้อนกลับมีแนวโน้มที่จะเอ่อล้นออกสองฝั่ง เนื่องจากช่วงแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ นั้นมีพื้นที่ต่ำกว่าแม่น้ำในจังหวัดอื่น ๆ

“ต้องพูดกันตรง ๆ เลยว่ากทม.มีงานอื่นที่เป็นปัญหาต้องเร่งแก้ตั้งมากมาย กรณีเจ้าพระยาไม่ได้เป็นปัญหาเลย จะเอาแค่ความสวยงาม ทัศนียภาพมาเดินหน้าไม่ได้ งบประมาณก็ไม่ใช่น้อย ๆ อยู่จะมาเสนอคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ ยังแปลกใจอยู่ว่าทำเพื่ออะไร เสนอว่ายุติไปก่อนอะไรที่มีปัญหาก็ไปแก้ อะไรที่ไม่เป็นไม่ต้องไปคุ้ย ไปสะกิดให้เกิดปัญหา” ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าว

ด้านนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี ผู้บริหารโรงแรมสยาม หรือ เดอะสุโกศล กล่าวว่า แม้ตนจะเป็นผู้แทนเอกชนผู้ประกอบการโรงแรมก็ตาม แต่ภาพที่เห็นจนชินตา คือ ภาพเรือประมง เรือท่องเที่ยว ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวต่อโครงการนี้ หากทางผู้ดำเนินโครงการต้องการพัฒนาแม่น้ำก็ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางเรือ ไม่ใช่พัฒนาทางบกที่กำลังเกิดขึ้น

“โรงแรมเราสร้างพื้นที่ริมน้ำก็จริง แน่นอนว่าคนผ่านไปผ่านมา หากผ่านทางบกก็ต้องเข้าทางโรงแรม อันนี้ดิฉันไม่ปฏิเสธ แต่ดิฉันคิดว่าหนทางเข้าถึงการใช้ประโยชน์ของแม่น้ำเจ้าพระยามีหลายทางเลือก บางคนบอกโรงแรมวิวสวย ได้เปรียบ แต่เราไม่ได้สร้างตึกสูงอลังการมากเพราะเรานึกถึงความเป็นมิตรกับพื้นที่ กับสิ่งแวดล้อม เราไม่ได้ขายแค่วิว ทั้งนี้ถ้าคุณเป็นคนธรรมดา คุณอยากชมวิวเจ้าพระยา คุณนั่งเรือได้ ดิฉันว่าถ้าจะสร้างกำไร สร้างประโยชน์จากแม่น้ำ ควรสร้างด้วยความเป็นมิตรกับแม่น้ำ รัฐเองก็น่าจะรู้ว่าบรรยากาศเรือในเจ้าพระยาคึกคักเพียงใด อย่างไรก็ตามดิฉันเห็นควรให้แต่ละฝ่ายให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์แม่น้ำ และการคมนาคมที่สอดคล้องกับความจริงมากกว่า” นางมาริสา กล่าว

ดร.สมนึก จงมีวศิน อนุกรรมการสิทธิชุชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า หลังจากเวทีวันนี้ ทาง กสม.ต้องการตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติมจากฝ่ายดำเนินโครงการ ประกอบด้วย แบบรายงานที่เป็นสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น แบบรายงานอีไอเอ ฯลฯ ซึ่งจะต้องศึกษากันต่อไปก่อน กสม.จะทำรายงานการประชุม

อนึ่ง สำหรับข้อมูลแผนงานโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการนำร่อง 14 กิโลเมตร ประกอบด้วยโครงการย่อยได้แก่ 1. โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชน 2. งานพัฒนาจุดหมายตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 3. การพัฒนาท่าเรือ 4. การพัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ 5. การจัดการทำทางเดินริมแม่น้ำ 6. การปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน 7. พัฒนาศาลาท่าน้ำ 8. การจัดทำพื้นที่บริการสาธารณะ 9. พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน 10. ปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ 11. พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ 12. สะพานคนเดินข้ามแม่น้ำ

//////////////////////////

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →