เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 ที่ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทางการจังหวัดเชียงรายได้จัดเวทีประชาคม “การนำที่ดินของรัฐมาใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย” โดยเชิญชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมาย หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 10 เข้าร่วมประชุม เพื่อให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจง และเพื่อให้ความยินยอมจากชุมชนในการนำที่ดินสาธารณะประโยชน์หรือป่าบุญเรือง เนื้อที่ประมาณ 2,322 ไร่ ไปใช้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย
ทั้งนี้ มีการแบ่งเวทีประชาคมเป็น 2 เวที คือ เวลา 10.00 น. ชาวบ้าน หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 10 ไปร่วมประชุมที่วัดบุญเรืองเหนือ และเวลา 13.30 น. ชาวบ้านหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 8 ไปร่วมประชุมที่ศาลาประชาคมหมู่ที่ 5
นายพิชเญศพงษ์ คุรุปรัชฌามรรค ชาวบ้านชุมชนตำบลบุญเรือง กล่าวว่า เวทีประชาคมช่วงเช้าของหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 10 มีผู้เข้าร่วมถึงกว่า 200 คน ประกอบด้วยชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมาย และชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียง รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิง ทั้งที่ส่วนใหญ่เพิ่งทราบข่าวการจัดเวทีประชาคมก่อนหน้าเพียงหนึ่งวัน จึงต้องการมาร่วมแสดงจุดยืนไม่ยินยอมมอบที่ดินสาธารณะผืนนี้ให้รัฐนำไปพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนทำให้ผลสรุปการทำประชาคมในช่วงเช้ามีผู้เห็นด้วยประมาณ 10 คน และผู้ที่คัดค้านถึงกว่า 200 คน จนเป็นมติว่า ทั้ง 2 หมู่บ้าน มีความเห็นไม่ยินยอม
นายพิชเญศพงษ์ กล่าวต่อว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากประเด็นการเร่งรัดจัดเวทีแล้ว ในวันนี้ประชาคมทางตัวแทนอำเภอเชียงของ และตัวแทนโยธาและผังเมืองจังหวัดเชียงราย ซึ่งผู้เป็นคณะจัดการประชุมได้อนุญาตเพียงชาวบ้านหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 10 แสดงความคิดเห็นได้เท่านั้น โดยห้ามไม่ให้ชาวบ้านหมู่บ้านอื่นๆ หรือตัวแทนภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐแสดงความคิดเห็น อีกทั้งหน่วยงานรัฐยังพยายามชี้แจงข้อมูลด้านดีเพียงด้านเดียว แทนที่จะเป็นการให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านอย่างรอบด้าน จนทำให้ชาวบ้านรู้สึกอึดอัดต่อกระบวนการรับฟังที่จัดขึ้น
“ชาวบ้านสงสัยว่าทำไมต้องรวบรัดจัดเวทีขึ้นในช่วงเวลานี้ ทั้งที่อยู่ในช่วงไว้อาลัยของคนไทยทั้งประเทศ แต่ไม่มีใครกล้าถาม การให้ข้อมูลก็ไม่สามารถขยายความให้ชาวบ้านได้ครบถ้วน บอกเพียงว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ชาวบ้านมีงานทำ แต่ไม่บอกว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง” นายพิชเญศพงษ์ กล่าว
ด้านนายไกรทอง เหง้าน้อย ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำอิง กล่าวว่า ในเวทีประชาคมช่วงเช้าเกิดเหตุการณ์ชาวบ้านที่มาร่วมเวทีไม่พอใจลุกขึ้นขับไล่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ให้ออกจากที่ประชุมและออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากพยายามพูดโน้มน้าวให้ชาวบ้านยินยอมมอบพื้นที่ป่าบุญเรืองให้รัฐ โดยไม่รับฟังเสียงทักท้วงถึงความไม่ชอบธรรมในการจัดเวที และเหตุผลข้อกังวลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านจึงเชื่อว่าผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 เป็นกลไกของรัฐแทนที่จะเป็นตัวแทนของชุมชน และยังกังวลว่าเวทีในช่วงบ่ายชาวบ้านอาจถูกโน้มน้าวจากกำนันและผู้นำท้องถิ่นอย่างหนัก เนื่องจากหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 8 ถือเป็นพื้นที่ของผู้นำท้องถิ่น
“การแบ่งเวทีและกีดกันชาวบ้านหมู่อื่นหรือชาวบ้านในลุ่มน้ำไม่ให้เข้าร่วม เป็นความไม่ชอบธรรมของกระบวนการรับฟังความคิดเห็น แทนที่จะต้องจัดเวทีอย่างเปิดเผย ให้ทุกหมู่บ้านและผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วม โดยจัดเป็นเวทีใหญ่ เพราะพื้นที่ป่าผืนใหญ่ทั้งหมดกว่า 3 พันไร่ เป็นป่าผืนเดียวกัน แต่กลับไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ถึงระบบนิเวศของลุ่มน้ำ กลับแบ่งเวทีประชาคมออกเป็นหมู่บ้าน ชาวบ้านหมู่ 2 ที่คัดค้านเรื่องนี้มาตลอดก็ไม่ให้เข้าร่วม จึงเหมือนการรวบรัดจัดเวทีชี้นำไม่ให้เกิดเสียงค้าน หรือเพื่อให้ชาวบ้านยกมือให้เท่านั้น” นายไกรทองกล่าว
ด้านนายคะนอง จันทิมา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 กล่าวว่า เวทีในช่วงบ่ายดำเนินไปอย่างปกติ มีกระแสคัดค้านจากชาวบ้านเพียงส่วนน้อย โดยส่วนใหญ่รู้สึกพอใจกับการนำเสนอของภาครัฐในการพัฒนาพื้นที่เป็นเขตอุตสาหกรรมพิเศษ เพราะเป็นการสร้างงานในพื้นที่ ลูกหลานที่ไปทำงานในกรุงเทพและต่างจังหวัดจะได้กลับมาทำงานที่บ้าน เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นชาวนา ที่ปัจจุบันประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ส่วนในด้านผลกระทบชาวบ้านยังมีความเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรง เนื่องจากชุมชนมีคณะกรรมการหมู่บ้านที่จะเฝ้าระวังอยู่แล้ว โดยวันนี้ชาวบ้านได้เสนอกับภาครัฐว่าควรมีการทำเอ็มโอยูกับชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งน่าจะเป็นหลักประกันให้แก่ชาวบ้านได้ในอนาคต
นายคะนองกล่าวต่อว่า สำหรับเวทีช่วงบ่ายนี้ยังไม่มีข้อสรุปในทันที เนื่องจากทางอำเภอจะกลับไปเตรียมจัดพิมพ์บัตรลงมติและหีบบัตร และให้เจ้าหน้าที่จัดการลงมติอีกครั้งที่ทั้งสองหมู่บ้านอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ที่จะถึงนี้
————–