received_1235799829796633
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2559 ที่สำนักงานกลางคริสเตียน ราชเทวี กรุงเทพฯ มีกิจกรรมงาน “พะลึน มหัศจรรย์เมืองมอญ” พร้อมเปิดตัวรายงาน “ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความมั่งคั่งของชุมชนในเขตพะลึน รัฐมอญ ประเทศพม่า” (Pharlain: Unseen in Mon Land ) ภายใต้การสนับสนุน โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง หรือ เทอร่า และเครือข่ายภาคี

พระซอละ เจ้าอาวาสวัดอังแตง เมืองพะลึน กล่าวว่า หลายครั้งที่ประชาชนชาวมอญเผชิญกับวิกฤติภัยพิบัติอย่างร้ายแรงและเผชิญกับสงครามบางอย่างในพม่า จนบ้านแตก ต้องหนีมาพึ่งประเทศไทย ซึ่งเมื่อเหตุการณ์สงบชาวมอญก็กลับไปยังบ้านเกิดและทำมาหากินตามปกติ จะมีบางส่วนเท่านั้นที่ยังคงรับจ้างในประเทศไทย แต่สำหรับประชาชนที่เขตพะลึนนั้น แทบไม่ต้องไปไหนไกลเพราะว่ามีความพร้อมในทุกด้านของความมั่นคงทางอาหาร และมีความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ต่างทำมาหากินอย่างสงบสุข กระทั่งมาเจอกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเมืองเย หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินพะลึน ขนาด 1,280 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้พื้นที่กว่า 900 ไร่ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือที่ยื่นออกไปในทะเลยาว 5 กิโลเมตร และวางแผนผลิตไฟฟ้าในปี 2562 นับเป็นหายนะที่ทำให้คนรัฐมอญต้องตื่นตัว เพราะกลัวว่าโรงไฟฟ้าพรากความสมบูรณ์ของการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายครั้งชาวมอญเดินหน้าประท้วง แต่ต่อมาได้รับการส่งเสริมให้มีการวิจัยและรวบรวมองค์ความรู้โดยเทอร่า ชาวมอญจึงได้เริ่มสู้ด้วยหลักการและนำข้อมูล ข้อเท็จจริงมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้สังคมโลกรู้ว่า พะลึนอยู่ได้ปกติสุขแม้ไม่มีโรงไฟฟ้า
received_1235799739796642

“หลายครั้งที่มีคนเชื่อข่าวว่ารัฐบาลอองซานซูจีประกาศชะลอโรงไฟฟ้า แต่ในพื้นที่ยังมีบริษัทเอกชนและฝ่ายส่งเสริมเข้าไปเจรจาซื้อที่ดินต่อเนื่อง โดยตอนนี้กำลังเริ่มปิดห้องเจรจารายบุคคล รายกลุ่ม และเสนอราคาที่ดินประมาณเอเคอร์ละ 1.2 ล้าน จ๊าด (ราว 34,900 บาท) ซึ่งทำอยู่ต่อเนื่อง ทำให้คนมอญทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ออกมาประท้วงหลายครั้ง และล่าสุดตอนปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชนร่วมกับสมาชิกรัฐสภามอญได้ส่งแถลงการณ์และส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลกลางอีกครั้งเพื่อให้ยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จริงๆ แล้วเรารู้ว่าโลกต้องการไฟฟ้า แต่พลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากของสะอาดมันมีเยอะ เราจะยอมรับการพัฒนาอยู่ ถ้าการพัฒนานั้นไม่ทำร้ายเรา แต่พะลึนเป็นเมืองข้าว น้ำ เยอะขนาดนี้ คุณจะเอาไฟฟ้ามาแลกเหรอ มันไม่คุ้มหรอก อาตมาเชื่อในความพยายามของผู้นำมอญ และไว้ใจนักการเมืองมอญ ว่ายังไงก็ไม่เอาแน่ๆ” พระซอละ กล่าว

พระซอละกล่าวด้วยว่า จากเดิมที่ชาวมอญประท้วงกันเรื่อยมา ขณะนี้การต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เพราะคนมอญหันมามองเรื่ององค์ความรู้ และได้รับการส่งเสริมจากนักวิชาการของไทย รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชนของไทย ร่วมสนับสนุนการทำเอกสารรายงาน “ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติฯ” ซึ่งทำให้เครือข่ายคนมอญที่คัดค้านมีความเข้มแข็งขึ้น และมีความสามัคคีกันมากกว่าเดิมในการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เชื่อว่านักกิจกรรมก็ดี ชาวบ้านก็ดี ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นคนก้าวหน้าเสมอ เพราะว่าสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องสากล เรื่องสาธารณะ หากถูกทำลายลงแล้วมันก็จะส่งผลเป็นลูกโซ่ คือ ส่งผลกระทบแบบวนเวียน เช่น ถ้าสร้างโรงไฟฟ้ารัฐมอญ คนมอญก็ไม่มีที่ทำกิน ต้องอพยพเข้ามาขายแรงงาน แหล่งอาหารที่เคยมีก็ถูกทำลาย สิ่งเหล่านี้ทำให้วิถีชีวิตของคนต้องมาเบียดเบียนคนอื่นมากขึ้น

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปรากฏการณ์ของคนมอญที่ต่อต้านโรงไฟฟ้า พร้อมทั้งเอกสารรายงานชิ้นนี้เป็นเหมือนกุญแจสำคัญในการเบิกทางให้สาธารณะรับรู้ว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไม่ได้อยู่รอดด้วยทุนเท่านั้น ที่ผ่านมารัฐบาลทุกประเทศกับทุนใหญ่ มักพยายามสานสัมพันธ์ในภูมิภาคโดยการเปิดการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ เขื่อน โรงไฟฟ้า ท่าเรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ลืมไปว่าชีวิตของประชากรมีคุณภาพได้ไม่ต้องมีสิ่งที่กล่าวก็ได้ มีแค่สิ่งแวดล้อมที่ดี มีความมั่นคงทางอาหาร แล้วเศรษฐกิจชาติจะรุ่งเรืองเอง ซึ่งกรณีเขตพะลึนที่ได้ทำเอกสารออกมา สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่สังคมอาเซียนต้องรับรู้อีกอย่าง คือ วัฒนธรรม พื้นที่เพาะปลูก การใช้ชีวิต และคุณค่าของการรักษาป่า ที่ดิน น้ำ

ทั้งนี้ในกิจกรรมยังมีการเสวนาเรื่อง “คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติต่อชุมชนมอญในเขตพะลึนและการศึกษาโดยชุมชน” โดยพระนอนแต แห่งวัดอังแตง หนึ่งในผู้ร่วมทำเอกสารเปิดเผยว่า ในรายงานชิ้นนี้เปิดเผยรายได้ของเกษตรกรหลายภาคส่วน อย่างเช่นกรณีทำสวนหมากใน 7 หมู่บ้าน ได้แก่ กว๊านเกาะฮารอย บ้านอังแตง นิเกรอะ กว๊านตะมอปึย นินู่ ซายแกรม บายลายแซม สำรวจเมื่อปี 2557 พบว่ามีรายได้รวมกันประมาณปีละ 3 พันล้านจ๊าต( 91 ล้านบาท) และประเมินรายได้รวมจากผลผลิตด้านต่างๆ อาทิ อาหารทะเล อาหารแปรรูป ผลไม้ ฯลฯ แล้วสรุปได้ว่า เขตพะลึนมีรายได้เฉลี่ย 7,240,499,650 จ๊าด (ราว 200 ล้านบาทต่อปี) ซึ่งรายละเอียดสามารถศึกษาได้ในรายงาน

พระนอนแต กล่าวด้วยว่า กระบวนการทำรายงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่สร้างความตื่นเต้นแก่ชาวมอญในเขตพะลึนอย่างมากที่ได้เห็นข้อมูลทั้งเขตออกมาเชิงลึก และเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นทีละเล็ก ละน้อย จนกระทั่งออกมาเป็นเอกสารภาษามอญ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ซึ่งนับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านประทับใจอย่างมาก และส่วนตัวเชื่อว่าเอกสารรายงานแบบนี้จะเพียงพอต่อการใช้อ้างอิงข้อมูลเสนอภาครัฐในการคัดค้านโรงไฟฟ้าต่อไป

นายวีรวัธน์ ธีระประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า ตนเคยไปลงพื้นที่พะลึนแล้วพบความอัศจรรย์หลายอย่าง เช่น พบว่า นิเวศของพะลึนมีความโดดเด่นด้านมีป่าชายเลน มีหาดทราย และมีทะเล ต่างจากประเทศไทย เช่น แถวแม่กลองจะมีป่าเลนแล้วทะเลเลย ไม่มีหาดกั้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้สร้างเสถียรภาพแก่การเกิดและดำรงอยู่ของสัตว์น้ำพะลึนที่ดี เช่น กรณีปลาหัวยุ่งที่มีการค้าขายกันทั่วไปในรัฐมอญ ปลาตัวนี้จับได้ง่ายและนิยมบริโภค และยังมีเคยกับปลาบางชนิดที่เอามาทำกะปิ ซึ่งหากสร้างโรงไฟฟ้า สัตว์เหล่านี้อาศัยน้ำตื้น เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยน จะเกิดผลกระทบได้ง่าย และอีกประเด็นที่พบ คือ คนมอญปลูกหมาก เป็นป่าก็จริงแต่ปลูกผลไม้แซมด้วย ซึ่งช่วยรักษาหน้าดินและยังพบว่า มีสัตว์ป่าสำคัญหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น เหยี่ยวนกเขาชิครา ดังนั้นชาวมอญต้องสู้ต่อและขยายผลการศึกษาต่อว่ามันจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง หากสร้างโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ข้อคิดเห็นส่วนตัวคิดว่า คนมอญควรเสนอรัฐบาลกลางให้ประกาศเขตพะลึนเป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติของประเทศ ประกาศให้เป็นเมืองสิ่งแวดล้อมคุณภาพและห้ามทำลาย เพื่อระงับโครงการโรงไฟฟ้า

ด้านนางสาวสมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการอิสระเรื่องการวิจัยผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน กล่าวว่า กรณีการทำรายงานของชาวพะลึน ช่วยให้เห็นมิติของความร่วมมือที่พอจะสร้างแนวทางให้ชาวบ้านได้ทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อโครงการใหญ่เอง ขณะที่ปัจจุบันหลายประเทศทำอีไอเอโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยนักวิชาการ และหากพะลึนจะเป็นต้นแบบแก่พม่า ก็ย่อมทำได้ ส่วนนี้จะช่วยหนุนเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น และทำงานง่ายขึ้น โดยเน้นเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสมัยใหม่

อนึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินพะลึนหรือเมืองเย มีขนาด 1,280 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดยบริษัทโตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีทีซีแอล จํากัด (มหาชน) ซึ่งเมื่อปี 2558 บริษัทเป็นผู้ลงนามในสัญญาการลงทุนใหม่กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้า ของรัฐบาลพม่า เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ประเภท Ultra Super Critical (USC) ตลอดจนการดำเนินงานโรงไฟฟ้าด้วยมูลค่าลงทุน 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และได้รับสัญญาสัมปทานดำเนินงานเป็นระยะเวลา 30 ปี แต่โครงการยังดำเนินไปแบบติดๆ ขัดๆ เนื่องจากประชาชนในรัฐมอญและฝ่ายการเมืองของมอญรวมตัวกันต่อต้านมาโดยตลอด
/////////////////////////

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.