โดย จารยา บุญมาก
เมื่อสองวันที่แล้ว เห็นข่าวนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมการส่งเสริมการเกษตร ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเนชั่นในทำนองว่า ชาวนาผู้ปลูกข้าวพบเจอกับวิกฤติครั้งใหญ่ จนหลายหน่วยงานต้องเร่งประชุมด่วนเพื่อหาทางแก้ไข แต่ในส่วนของกรมเองยังมองว่า การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2 ล้านไร่แทนการปลูกข้าวจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีกว่า แม้ขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะตกต่ำอยู่ที่กิโลกรัมละ 3 บาทก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากกำลังการผลิตภายในประเทศพบว่ามีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึง 7.2 ล้านตัน แต่เรามีกำลังการผลิตภายในประเทศ 4 ล้านตัน ต้องนำเข้าจากต่างประเทศอีก 3.2 ล้านตัน ซึ่งหากเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีก 2 ล้านไร่จะเพียงพอต่อความต้องการโดยไม่ต้องนำเข้า ทั้งยังเตรียมคุยกับสมาคมอาหารสัตว์ ประกันราคาให้ได้กิโลกรัมละ 8 บาท ที่ความชื่นร้อยละ 15
คำสัมภาษณ์ดังกล่าวไม่ใช่แค่สร้างความผิดหวังให้กับชาวนาผู้หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงแนวคิดแบบเอื้อทุนใหญ่แห่งวงการการเกษตรอย่างชัดเจน ซึ่งคนในสังคมไทยรู้ดีว่า “ใครคือผู้มีอำนาจบาดใหญ่ในวงการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”
การให้สัมภาษณ์ของกรมการส่งเสริมการเกษตรเกิดขึ้นในระหว่างที่เครือข่ายชาวนา ลูกชาวนา นักวิชาการ หลายภาคส่วนพยายามจะสร้างกระแสพึ่งพาตนเองด้วยโครงการปลุกชาวนาให้ผลิตข้าว ค้าข้าว ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคเพื่อลดต้นทุนจากพ่อค้าคนกลางด้วยการสร้างแบรนด์ หรือยี่ห้อของสินค้าเอง และคัดแยกข้าวตามคุณภาพความเป็นจริง ไม่อิงอุตสาหกรรม หรือเทคโนโลยีชั้นสูงตามกระแสบริโภคนิยมของคนไทยที่นิยมกินข้าวถุง ซึ่งมีขายตามห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั่วไป ซึ่งขณะนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนบางส่วน ที่เกิดเป็นกระแสสังคมส่งต่อกันมาหลายรูปแบบ กระทั่งพื้นที่สถานศึกษาเองก็ยังเปิดให้พื้นที่ลูกชาวนาสามารถนำข้าวสารมาขายได้ อีกทั้งดารา บุคคลมีชื่อเสียงอย่างเช่น ป๋อ ณัฐวุฒิ สะกิดใจ ก็ยังประกาศช่วยผ่านอินสตาแกรม (IG) ให้ชาวนาขายข้าวออนไลน์ โดย Tag ชื่อเสียงของตนเพื่อประชาสัมพันธ์ได้ไม่มีข้อแม้ ขณะที่มหาวิทยาลัยรังสิตก็กลับเกิดไอเดียเพิ่มเติมขึ้นมาให้ลูกชาวนานำข้าวสารจ่ายค่าเทอม แม้จะต้องใช้ข้าวสารจำนวนมากก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าได้มีส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจเล็กที่เกิดจากเกษตรกรชั้นล่างจริงๆ เกษตรกรผู้ซึ่งติดบ่วงกรรมมาช้านานกับระบบการตลาดที่ไม่เป็นธรรมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
น่าแปลกใจที่ว่า ระหว่างที่ภาคประชาชนกำลังเริ่มต้นเดินทางหาแสงสว่างเพื่อจุดประกายความคิดของชาวนาให้เกิดเป็นกระแสงสังคมต่อเนื่อง ทว่ากรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการเกษตรต่างๆ กลับหันทิศทางไปแบบอื่น แทนที่จะทำหน้าที่เดินเข้าหาภาคประชาชนเพื่อร่วมมือ จะในแง่ของงบประมาณกลาง เช่น อาจจะเป็นการตั้งโรงสีชุมชนให้เกษตรกรรวมกลุ่มสีข้าวแล้วหาแหล่งตลาดช่วย ก็กลับเบนทิศทางความสนใจไปในด้านส่งเสริมการเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำเหมือนทองไม่รู้ร้อน ไม่หลาบจำว่า พืชเชิงเดี่ยวที่มีทำร้ายเกษตรกรมาแล้วหลายล้านชีวิต
ขณะที่รัฐบาลกลางที่แม้จะปกครองด้วยทหาร ก็พยายามจะเดินรอยตามรัฐบาลพลเรือนด้วยนโยบายจำนำข้าวแบบยุ้งฉาง เน้นที่การหาเงินมาอุดรอยรั่วแบบไม่ลืมหูลืมตาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านการล้มเหลวเรื่องนโยบายการจำนำข้าวที่ทำประเทศเสียหายอย่างมหาศาลในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยไม่มีใครหน่วยงานใดหันมารับรู้ รับทราบถึงความพยายามของภาคประชาชนที่ทำอยู่ และกำลังวางแผนเดินหน้าต่อ แม้จะมีข่าวไม่ดี อาทิ เสนอให้ชาวนารายย่อยไปจดทะเบียนการค้าออนไลน์ ฯลฯ เล็ดลอดมาจากกระทรวงพาณิชย์ เจ้าแม่แห่งการค้าขายและการจัดการตลาดบ้างก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงเรื่องจำอวดรายวันเท่านั้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังส่งเสียงเชียร์ชาวนาสุดใจ เว้นก็แต่ภาครัฐบาลเท่านั้นที่ออกมาให้ข่าวทีเล่นทีจริง เหมือนกับการแก้ปัญหาชาวนาเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นการยุให้ชาวนาขายปุ๋ยแทนขายข้าว ยุให้ชาวนาปลูกพืช ผลไม้แบบอื่น นโยบายจ้างชาวนาเลิกปลูกข้าว ทุกอย่างเหมือนการแสดงที่ไม่มีผู้กำกับแต่มีผลเหมือนกัน คือ เอาชาวนามาเป็นเหยื่อสร้างสีสันไปวันๆ ทั้งที่พวกเขาเดือดร้อนกันแทบทุกหลังคาเรือน
ระหว่างที่กระแสชาวนาผลิตเอง ขายเองกำลังรุ่งและไปได้ดี นางนงษ์ลักษณ์ หอมขจร ชาวจังหวัดสุรินทร์ให้สัมภาษณ์ถึงความเจ็บปวดของชาวนากลุ่มน้อยที่ผันตัวเองมาเป็นลูกจ้างว่า เธอเองเคยสูญเสียที่ดินไปเพื่อแลกกับการลงทุนทำนามาแล้ว จากเดิมที่ดินมรดกมี 7 ไร่หมดไปเพราะหนี้สินที่เกิดจากการลงทุนทำนาสมัยใหม่ ปัจจุบันเธอกลายเป็นลูกจ้างให้กับเศรษฐีในหมู่บ้านที่มีอาชีพรับราชการและมีที่ดจำนวนมาก ซึ่งเขากลายเป็นผู้จัดการที่นาที่มีระบบเทคโนโลยีมาใช้ในนาจำนวนมาก และชาวนารายใดที่ไม่มีทุนหมุนเวียนก็ต้องพึ่งบารมีขอกู้เงิน โดยเอาที่ดินค้ำประกันไว้ บ้างก็มาขอผ่อนจ่ายค่ารถไถนา รถนวดข้าว และขอซื้อปุ๋ยต่อจากนายทุนรายนี้
“เขามีเงินเดือนประจำก็มีกิน มีใช้ แล้วเขาก็มาทยอยซื้อนาจากชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องเงินเก็บไว้ ถึงเวลาก็จ้างแรงงานไปรับจ้าง ตอนนี้ก็รอไปรับจ้างวันละ 300 บาท เพื่อขนข้าวและตากข้าว ส่วนข้าวสารเขาก็แบ่งมาให้กินบ้าง เราเลี่ยงไม่ได้นะที่จะหนีคนกลุ่มนี้ เพราะเมื่อเขามาสร้างทุน สร้างกำไรจากนาบ้านเรา ก็เติบโตเรื่อยๆ เขามีทุนเยอะกว่า แต่เราไม่มี เราเองก็กลัว กล้าๆ ว่าทำนาช้า ทำนาได้ผลน้อย ก็จับหนี้ยืมสินเขามาเรื่อย จนจนตรอก เพราะค่าปุ๋ย ค่ายาก็ไม่พอ จะให้มาทำนาอินทรีย์ไม่ไหวหรอก ผลผลิตน้อยเราอยากได้ข้าวไวๆ ตอนนั้นจำนำข้าวมันดัง ก็ไม่ไหวไง ก็อยากได้เงินหมื่นกับเขาก็ต้องเร่งยา เร่งปุ๋ย สุดท้ายได้เงินมาก็ใช้หนี้หมด แต่ตอนนี้ไม่มีนาแล้ว ฉันอาจจะเครียดน้อยลงเพราะไม่ต้องกังวลกับการลงทุน แต่หนี้ก็ยังมีอยู่ หมดทางเลือกเลยต้องมารับจ้างเขาแบบนี้แหละ” นงษ์ลักษณ์ระบายเรื่องราวของปัญหาที่ทำให้เธอต้องยุติบทบาทชาวนา
ในช่วงเกิดวิกฤติราคาข้าวตกต่ำนี้ เชื่อว่าหลายคนเห็นใจชาวนาและพยายามจะออกแบบกิจกรรมส่งเสริม สนับสนับสนุนชาวนาอย่างเต็มที่ แต่ทุกอย่างย่อมมีอุปสรรคเสมอ ดังนั้นนอกเหนือจากการพัฒนา ปรับปรุงรูปแบบแล้ว เครือข่ายภาคประชาชน ภาควิชาการต้องค่อยๆ เรียนรู้เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ซึ่งเรื่องนี้นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จังหวัดยโสธร ผู้มีประสบการณ์ในการทำเกษตรทางเลือกมานานกว่า 20 ปีระบุว่า สมาชิกเกษตรกรที่เข้ามาทำนาแบบทางเลือกในเครือข่ายนั้นขณะนี้ทั่วประเทศมีประมาณ 3,000 ราย แต่ละรายมีที่ดินมากน้อยแตกต่างกันไป กว่าจะเติบโตมาเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ยั่งยืนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผลดีนั้นเกิดขึ้นจริง เพราะกลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่เมื่อเข้าใจระบบและปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อปฏิวัติการทำนาก็ปลดแอกตัวเองจากการเป็นลูกหนี้ได้ การหาแหล่งตลาดขายตรงแม้จะหาได้ง่ายก็จริง แต่ต้องทำให้เกิดความต่อเนื่อง ต้องมีสัญญาซื้อขายกันบ้าง แต่ต้องมาพร้อมกับความเป็นธรรมไม่ใช่ผู้ซื้อ หรือผู้ขายต่างเอารัดเอาเปรียบกัน ดังนั้นหากชาวนาจะลุกขึ้นมาขายข้าวเอง ส่งตรงถึงมือผู้บริโภค ก็ต้องตระหนักด้วยว่า ข้าวที่ใช้สารเคมีได้ผลผลิตเยอะ ขายได้ จำนำได้นั้น เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งจะไปต่อไม่ได้ เพราะทุกคนผลิตได้พอๆ กัน เมื่อมีสินค้ามากมายออกมาพร้อมกัน ราคาตก ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นการเตรียมรับมือ คือ ต้องเริ่มจากการลดต้นทุน และเลิกแนวคิดทำนาแข่งดิน แข่งฟ้าฝนได้แล้ว เลิกไปหวังพึ่งชลประทานอย่างเดียว และเลิกหวังว่ารัฐบาลจะจริงใจได้แล้ว ชาวนาสมัยปัจจุบันต้องมาพร้อมความรู้ที่รู้ทันการเมือง เศรษฐกิจ และรู้ว่ากำลังตัวเองมีเท่าใด
ในมุมของเกษตรกรรุ่นใหญ่รายนี้เชื่อว่า การกู้วิกฤติชาวนาและราคาข้าวไม่ใช่แค่การเอาเงินมาอัดฉีดแล้วจบ แต่ต้องเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันด้วยว่า ตอนนี้แรงงานในครัวเรือนมีครัวเรือนละ 2 คน และส่วนใหญ่จะอายุเฉลี่ย 55 ปีขึ้นไป การตากและการสต๊อกข้าวในครัวเรือนนั้นต้องใช้แรงงานมาก ซึ่งจะทำได้จริงแค่ไม่เกินครัวเรือนละ 3-5 ตัน ตอนนี้หลายที่ตามถนน หรือที่โล่งมีการนำข้าวมาตาก ไม่นับรวมอากาศแปรปรวนที่ชาวนาหลายคนไม่สามารถเก็บข้าวได้ทัน ทำได้เพียงกวาดข้าวมากองรวมกันไว้แล้วหาอะไรมาคลุมกันฝนไว้ และหากปริมาณข้าวเกินความต้องการ ทางโรงสีหลายแห่งก็จะปฎิเสธการซื้อข้าวเนื่องจากไม่มีโรงอบข้าวที่เพียงพอ
“วิธีทำเกษตรของผม ผมคิดว่า ผมโชคดีที่รู้ทันการเมือง รู้ทันสถานการณ์และไม่หลงกลนโยบายประชานิยม ผมทำเกษตรปลูกข้าวทั่วไป ทั้งมะลิแดง ข้าวอินทรีย์ และมีแหล่งรับซื้อที่เกิดจากการรวมตัวกันมานานในกลุ่มเอง ซึ่งปลูกผสมผสานกันไป ช่วงไหนราคาข้าวชนิดไหนดีก็ได้พึ่งพาข้าวชนิดนั้น อันไหนราคาตกไปก็ไม่เป็นไร เอาใหม่ แต่ผมและเครือข่ายมีความมั่นคง คือ ไม่เอนเอียงไปตามกระแส เช่นมีข่าวว่ารัฐบาลจะปรับราคาข้าวประเภทใด ปีหน้าเราก็ลงข้าวประเภทนั้น แบบนี้แสดงว่าตกหลุมการเมือง ซึ่งหากชาวนารู้ไม่ทัน ก็จะแย่ไปทุกยุคสมัย เพราะนโยบายเปลี่ยนแปลงเสมอ ในส่วนของจังหวัดยโสธรนั้น ต่อกรณีวิกฤติข้าว ทางเครือข่ายได้มีความพยายามในการรณรงค์ให้คนยโสธรเกิดตลาดข้าวของจังหวัดยโสธรเพื่อให้เกิดการบริโภคภายในจังหวัด และเห็นว่าควรจะทำในทุกจังหวัดเพื่อให้เกิดการค้าข้าวถุง ข้าวสารมากขึ้น รวมถึงผู้ปลูกข้าวจะสามารถเจอกับผู้บริโภคได้โดยตรงด้วย ส่วนนี้จะสร้างประโยชน์และแหล่งตลาดที่มันคง ยั่งยืน” นายอุบล กล่าว
จากหลายแนวคิดและประสบการณ์ของคนทำนา ของอดีตชาวนา ที่มีกระแสออกมาในช่วงนี้ อย่างหนึ่งที่สังคมไทยควรรับรู้ คือ อดีตนั้นเกษตรกรใช้เศรษฐกิจและการเกษตรเป็นแบบยังชีพในครัวเรือน ใช้แรงงานคนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเข้าสู่ยุคการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การใช้สารเคมีในการเกษตรเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรมากขึ้น มีทุนเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ส่งผลให้เกษตรกรสามารถทำนาได้มากและรวดเร็วขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ขณะที่ราคาผลผลิตหรือการขายข้าวเปลือกมีความแปรผันสูง และเปลี่ยนแปลงไปตามระบอบการเมือง ดังนั้นการพึ่งพาตนเองในระยะนี้สำคัญที่สุด การวิเคราะห์ผลได้ ผลเสียต้องมาจากการอาศัยข้อมูลรอบด้าน เพราะการรอฟังสัญญาณของรัฐบาลนั้น บางครั้งมีแต่จะดึงคุณภาพชีวิตชาวนาให้ดิ่งลง
คงต้องถึงเวลาแล้วที่ชาวนาจะปล่อยให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายกลางในแนวขนานกับชุมชน เพราะดูแล้วตัวละครหลักจากภาครัฐที่ออกมาแก้สถานการณ์ของชาวนา เหมือนจะเป็นเพียงผลัดกันแสดงละครผ่านไปแต่ละวันมากกว่าการลงมือทำอย่างจริงจัง ทั้งที่มีผู้ชี้แนะแนวทางไว้หลายด้าน เรื่องนี้เดาสถานการณ์ไม่ยากเพราะเราก็รู้ว่า การเมืองกับทุน ไปด้วยกันได้ดีเสมอ ชาวนาจึงต้องไหวตัวให้ทันกับเล่ห์เหลี่ยมรัฐบาล