Search

เดินหน้าหาทางออกให้ชาวเล สปท.ทำรายงานเสนอรัฐบาล ชี้จุดอ่อนสำคัญคือไร้เจ้าภาพ-เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน พม.ขันอาสา อันดามันคึกร่วมกันจัดงาน“รวมญาติชาติพันธุ์”ครั้งที่ 7 จัดรองแง็งถวายไว้อาลัย

ภาพจากแฟ้ม ชาวเลกำลังแสดงรองแง็งหน้าสุสาน ส่วนภาพวาดคือภาพนางราไวย์และบรรพบุรุษชาวเล
ภาพจากแฟ้ม ชาวเลกำลังแสดงรองแง็งหน้าสุสาน ส่วนภาพวาดคือภาพนางราไวย์และบรรพบุรุษชาวเล

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 นายอำพล จินดาวัฒนะ รองประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สภาขับเคลื่อนประเทศ(สปท.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลให้มีความเข้มแข็งว่า สปท.ได้จัดทำรายงานส่งไปยังรัฐบาลแล้ว โดยก่อนหน้านั้นได้มีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ผู้แทนรัฐบาล ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสปช. โดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชาวเล ทั้งเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย รวมถึงเรื่องการทำมาหากิน โดยต่างเห็นว่าความมั่นคงของมนุษย์ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งนายสุวพันธุ์ได้มอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)นำข้อเสนอไปศึกษาว่าจะมีประเด็นขับเคลื่อนอย่างไร

นายอำพลกล่าวว่า นอกจากนั้นนั้นตนและคณะได้เดินทางเข้าพบพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งพลตำรวจเอกอดุลย์มองว่าพม.มีความพร้อมที่จะเป็นแกนนำในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาชาวเล ดังนั้นสถานการณ์ตอนนี้คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลแล้วว่าจะเดินหน้าอย่างไร เพราะปัญหาของชาวเลนั้นเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายและหลายหน่วยงาน ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ

“แม้คณะกรรมการ 3 ฝ่ายจะมอบให้สมช.ไปดูแล แต่สมช.ไม่ใช่หน่วยปฎิบัติการ เลยไม่มีใครนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรีจนถึงวันนี้ ผมทราบว่าท่านนายกรัฐมนตรีเองก็ลำบากใจ เพราะปัญหาของคนเล็กคนน้อยในสังคมบ้านเราแยกส่วนกันอยู่ เลยไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ” นายอำพล กล่าว

ชาวเลชุมชนราไวย์ร่วมกันประชุมเตรียมงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 7 (ภาพจากเฟซบุ๊กชาวเล ราไวย์)
ชาวเลชุมชนราไวย์ร่วมกันประชุมเตรียมงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 7 (ภาพจากเฟซบุ๊กชาวเล ราไวย์)

ทั้งนี้ในรายงานที่สปท.เสนอไปยังรัฐบาลระบุว่า 1.เร่งรัดการขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิถุนายน 2553 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการชุดใหม่ที่มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองทัพภาคที่ 4 หรือกอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธานและมีศูนย์มานุษวิทยาสิรินธรเป็นเลขานุการ และควรมีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาโดยยกเรื่องปัญหาที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะและจิตวิญญาณของชุมชนมาอันดับแรก และในระหว่างที่มีการฟ้องร้องคดีต้องมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการคุ้มครอง รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ประสบปัญหา และอันดับสองคือการทำมาหากินที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม อันดับสามคือสถานะทางทะเบียนราษฎร์ และปัญหาอันดับสี่คือการศึกษาและสาธารณะสุข

ในรายงานระบุว่า 2.ผลักดันการพัฒนาพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชาวเล 3.ขยายผลเรื่องการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่เผชิญปัญหาที่คล้ายคลึงกัน เช่น ชุมชนกะเหรี่ยง 4.ทบทวนการผลักดันการขับเคลื่อนแผนแม่บทพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย(พ.ศ.2558-2560)(อ่านรายงานฉบับเต็มของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศด้านสังคม ได้ที่ https://transbordernews.in.th/home/?p=15054 )

อนึ่ง ในระหว่างวันที่19-20 พฤศจิกายนนี้ ที่ชุมชนหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ชาวเลอันดามันจะร่วมกันจัดงาน “รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 7” โดยมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ หนังกลางแปลง “มอแกนไม่มีคำว่ากังวล”, การแสดงรองแง็งถวายอาลัย การเสวนาในหัวข้อ “ทำไมต้องคุ้มครองทางวัฒนธรรม” โดยผู้เข้าร่วมเสวนา อาทิ ศ.พิเศษวิชา มหาคุณ พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ นางเตือนใจ ดีเทศน์ และ ดร.นฤมล อรุโณทัย

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →