Search

กะเหรี่ยงบางกลอย-จระเข้ต้นน้ำเพชร เพื่อนร่วมชะตากรรมบนผืนป่าแก่งกระจาน

 

พอแม่เฒ่าจับเครื่องดนตรี เสียงพูดคุยภายในบ้านไม้ไผ่หลังย่อมก็เงียบลงทันที ยิ่งเมื่อเสียงเพลงภาษากะเหรี่ยงพรั่งพรูออกมายิ่งเหมือนร่ายมนต์ ทำให้บรรยากาศยามค่ำกลางผืนป่าใหญ่ดูดึกสงัด มีเพียงเสียงเพลงและดนตรีของแม่เฒ่าขับกล่อมขุนเขาจนก้องไพร

 

ผมตีความเอาเองว่าเสียงบรรเลงน่าจะเป็นเพลงเศร้า ประมาณเรื่องการพลัดพรากหรือความเปลี่ยนแปลงในวิถีดั้งเดิม พอสอบถามความหมายจากเพื่อนปกาเกอญอหลายคนต่างบอกไม่รู้ เพราะเนื้อเพลงใช้สำนวนโบราณที่ต้องให้ผู้รู้แปลความ แต่เมื่อดูจากสีหน้าและแววตาของชาวบ้านกว่า 30 คนที่เหมือนตกอยู่ในห้วงภวังค์ เลยทำให้เชื่อว่าการตีความของผมคงไม่หนีห่างความจริงสักเท่าไหร่

 

แม้เป็นความสุขในช่วงสั้นๆ แต่ดูมีคุณค่าและความหมายมากสำหรับชาวกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งที่ถูกกระทำและเผชิญกับความผันผวนมากมายจนหาพื้นที่ความสุขแทบไม่เจอ

 

ผมติดตามเพื่อนๆปกาเกอญอจากภาคเหนือเข้ามาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องดนตรีและศิลปวัฒนธรรมในหมู่บ้านโป่งลึกและบางกลอย(ใหม่) ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

 

ชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึกอาศัยอยู่ที่นี่กันมานานกว่า 70 ปี ก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานฯและการสร้างเขื่อนแก่งกระจาน ส่วนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยนั้นก็อยู่ร่วมกันมานาน แต่ปี 2539 อุทยานฯได้ย้ายพวกเขา 57 ครอบครัวลงมาอยู่ในพื้นที่ติดกับบ้านโป่งลึกซึ่งเป็นคนละฟากแม่น้ำเพชรฯ แต่ก็ยังเรียกว่าหมู่บ้านบางกลอย(ล่าง)

 

การย้ายชาวบ้านบางกลอยเมื่อปี 2539 เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาเพราะไม่มีการวางแผนและการจัดการที่ดี เช่น การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านที่ถูกอพยพ ในที่สุดชาวบ้านกลุ่มหนึ่งก็ย้ายกลับไปอยู่แหล่งเดิม จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ได้มีการขนชาวบ้านกลับมาอีกครั้ง และเป็นข่าวโด่งดังเพราะมีเฮลิคอปเตอร์ของทางการตกติดๆกัน 3 ลำ ท้ายที่สุดจึงมีเรื่องปูดออกมาว่าอุทยานฯไปใช้วิธีรุนแรงรื้อบ้านและเผายุ้งข้าวของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จนกลายเป็นเหตุแห่งอาถรรพ์

 

กว่า 16 ปีแล้วที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องมีชีวิตที่จมอยู่ในกองทุกข์ เพราะนอกจากถูกยื้อแย่งวิถีดั้งเดิมไปจากชีวิตแล้ว วิถีใหม่ที่ถูกยัดเยียดก็แทบไม่มีความมั่นคงเอาเสียเลย

 

บทเพลงกล่อมไพรของแม่เฒ่ากะเหรี่ยงยามนี้ จึงบาดลึกและสยบทุกเสียงในป่าเขาได้ชงัด

 

“ผมเพิ่งได้รับแจ้งจากอบต.มาว่าเขาจะย้ายพวกผมลงมาอยู่ข้างล่าง” ข่าวร้ายมาถึงหูมั่น เพชรมณี เมื่อไม่กี่วันก่อน หลังจากที่ชาวบ้านที่เป็นตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียงไปร่วมประชุมที่จังหวัด

 

มั่นนั่งคุยกับผมด้วยสีหน้าไม่สู้ดี เพราะชีวิตคนเล็กคนน้อยอย่างเขาไม่ค่อยจะมีทางเลือกนัก ยิ่งอาศัยอยู่ในป่าที่มีเจ้าใหญ่นายโตทำตัวเป็นเจ้าของ ก็ยิ่งทำให้ตัวเขาเล็กลงไปอีก

 

“ทางอุทยานฯเขาแจ้งว่าพวกชาวบ้านยินดีย้ายลงมาอยู่ข้างล่าง” มั่นรู้สึกมึนงง เมื่อฟังคำบอกเล่าของอบต. เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาถามเขาหรือญาติมิตรที่อยู่ด้วยกันเลย

มั่นและเพื่อนบ้านร่วมชะตากรรมอีก 9 ครอบครัวอาศัยอยู่เหนือหมู่บ้านโป่งลึกและหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ  โดยพ่อและแม่ของมั่นเข้ามาปักหลักทำกินอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่เขาอายุ 5 ขวบ

 

“พ่อผมอพยพมาจากห้วยตะเคโพ มาอยู่ที่นี่ ซึ่งก็ถูกเพราะที่นั่นเป็นต้นน้ำ” มั่นเห็นดีเห็นงามและสนับสนุนการย้ายบ้านในครั้งนั้น แม้ยังเด็กอยู่ก็ตาม พ่อของมั่นซึ่งเป็นกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนี้มานาน จึงรู้จักภูมิประเทศเป็นอย่างดี เขาได้พาครอบครัวและญาติพี่น้องมาบุกเบิกพื้นที่ทำกินผืนปัจจุบันเมื่อกว่า 40 ปีก่อน เมื่อพ่อเสียชีวิต มั่นและพี่น้องได้ร่วมกันทำมาหากินในที่ดินผืนนี้ต่อ

 

“ผมเคยได้ยินข่าวเหมือนกันว่าเขาจะย้ายเราลงมาเหมือนกับที่ย้ายชาวบ้านบางกลอย แต่ก็ไม่เคยมีใครมาถาม ถึงถามผมก็ไม่ไป เพราะไม่อยากไปเบียดเบียนคนอื่น แต่ถ้าเขาบังคับ เราก็ทำอะไรไม่ได้” มั่นเห็นบทเรียนจากการอพยพชาวบ้านบางกลอย ซึ่งอุทยานฯให้สัญญากับชาวบ้านว่าจะจัดหาที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 7 ไร่และที่อยู่อาศัยอีก 1 ไร่ แต่พื้นที่หมู่บ้านบางกลอยใหม่กลับไปตั้งบนที่ดินทำกินของชาวบ้านโป่งลึก ชาวโป่งลึกได้แต่น้ำท่วมปาก ไม่มีใครกล้าพูดอะไร เพราะด้านหนึ่งก็ญาติมิตร อีกด้านหนึ่งก็เจ้าใหญ่นายโต

 

นอกจากเบียดเบียนคนอื่นแล้ว อุทยานฯยังจัดสรรที่ดินให้ไม่ครบตามที่ได้สัญญาไว้ แถมยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งเพราะพื้นที่อยู่สูงกว่าแม่น้ำเพชรมาก

 

เมื่อชาวกะเหรี่ยงไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนในแบบเดิมได้ และระบบใหม่ก็ไม่มีการเกื้อหนุน แม้แต่ข้าวไร่ที่ปลูกไว้กินก็ไม่เพียงพอ หากยังอยู่ต่อก็มีแต่อดตาย ชาวบางกลอยบางส่วนจึงอพยพกลับขึ้นไปข้างบน ขณะที่มากกว่าครึ่งเลือกที่จะไปทำงานในเมือง แล้วส่งข้าวกลับมาเลี้ยงครอบครัว

 

“เราอยู่กินกันอย่างพอเพียง เมื่อก่อนทำไร่หมุนเวียน เราปลูกข้าวพอกิน ไม่ต้องพึ่งข้างนอก และไม่ได้บุกรุกป่าเพิ่มขึ้นเลย แต่พอทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ หน้าดินไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเก่า เราก็ไม่พอกิน”มั่นเล่าถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อไม่กี่เดือนก่อน เครือข่ายกะเหรี่ยงจากภาคเหนือได้ร่วมกันบริจาคข้าวมาจุนเจือชาวบ้านที่นี่เพราะกำลังจะแทบจะไม่มีข้าวกินกันแล้ว

 

“สมัยก่อนเรายิงสัตว์เพื่อยังชีพ เอาเนื้อแห้งไปแลกเกลือแลกข้าวของที่จำเป็น เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว แต่เราก็พออยู่พอกินได้ ถ้าย้ายเราไปอยู่ที่อื่นแล้วจะอยู่กันอย่างไง เดี๋ยวก็เหมือนชาวบางกลอยอีก” มั่นยังจดจำบทเรียนของชาวบางกลอยได้ดี

 

พ่อของมั่นเป็นอดีตพรานใหญ่มือฉมังคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนท่องป่าของปู่คออี้  แม้เขาจะไม่ได้เรียนรู้วิชาพรานมาจากพ่อสักเท่าไหร่ แต่การอยู่กับป่าเขามาตั้งแต่เกิด ทำให้เขามีความรู้ความเชี่ยวชาญในผืนป่าเป็นอย่างดี ผมถามเขาเรื่องสิงสาราสัตว์ต่างๆในป่า เขาสามารถบอกได้หมดว่าป่าแถบไหนเสือชุม ป่าแถบไหนแรดชุม ช่วงไหนที่ช้างลงหรือโป่งไหนที่สัตว์ชอบมากิน

 

“ที่นี่ยังมีจระเข้อยู่ครับ สมัยเด็กผมจำได้ว่าเคยมีหมอจระเข้จากสมุทรปราการมาจับจระเข้ตัวโตๆได้ เดี๋ยวนี้ก็ยังมี แต่เขาอยู่ในที่ของเขา ผมเห็นอยู่บ่อยๆ เช้าๆเขาชอบมาอ้าปากรับแสงแดด”มั่นสังเกตและพอเข้านิสัยของจระเข้อยู่บ้าง แต่เขาเลือกที่จะต่างคนต่างอยู่ “จระเข้ที่นี่ไม่เคยทำร้ายใคร เขาอยู่ของเขาอย่างนี้มานาน กินครั้งเดียวก็อยู่ได้ยาว มีแต่คนนอกเท่านั้นที่ชอบเข้าไปยุ่งกับเขา”

 

แม้มั่นไม่รู้ว่าจระเข้น้ำจืดแม่น้ำเพชรเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน แต่ผมเชื่อว่าคงจวนเจียนสูญพันธุ์เต็มที ซึ่งอุทยานฯพยายามที่จะขยายพันธุ์ทุกวิถีทางแต่ก็ไม่สำเร็จ ถึงขนาดเคยคิดจะเอาจระเข้ตัวผู้จากที่อื่นมาปล่อย แต่ก็ยังรีๆรอๆอยู่

 

บทเพลงของแม่เฒ่ากะเหรี่ยงยังก้องอยู่ในหูของผม ทำให้อดสะท้อนใจในชะตากรรมของชาวบ้านกลุ่มนี้ไม่ได้ ไม่รู้ว่าระหว่างกะเหรี่ยงกะหร่างต้นน้ำเพชร กับจระเข้แม่น้ำเพชร ใครจะสาบสูญไปจากผืนป่าแก่งกระจานไปก่อนกัน.

 

 

โดย ภาสกร จำลองราช

padsakorn@hotmail.com

 เผยแพร่ครั้งแรก 22 กันยายน, 2012

 

 

 

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →