เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2560 ที่มูลนิธิชุมชนไท เขตบางกระปิ กทม.ได้มีงานแสดงมุทิตาจิตเนื่องในโอกาสครบรอบ 84 ปี ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ โดยมีลูกศิษย์และบุคคลต่าง ๆ เข้าร่วม ทั้งนี้ได้มีเวทีเสวนาถึงแนวคิดและการทำงานของม.ร.ว.อคิน โดยนางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า นับตั้งแต่ร่วมงานกับอ.อคิน งานที่โดดเด่นที่สุด คือ งานด้านที่ดินและชาติพันธุ์ เช่น กรณีการทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ในพื้นที่ 5 จังหวัดอันดามันนั้น อ.อคิน เคยสอนไว้ว่า การจัดกระบวนการให้ชาวเลนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า ชาวเลเป็นกลุ่มรักอิสระ และข้อที่ต้องตระหนักมาก ๆ คือ การเคารพชาวเลในความเป็นเขา แต่ต้องช่วยเขาให้มีการรวมกลุ่มเพื่อเป็นปึกแผ่น จำได้ว่าครั้งหนึ่งช่วงที่ลงพื้นที่ทำงานวิจัยเรื่องที่ดินกับชาวเลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต อ.อคินได้ลงไปดูชาวเลด้วย ก่อนจะทำวิจัยที่ดินอย่างเป็นทางการ อ.อคินได้ตั้งข้อสังเกตในแบบของนักวิจัย แล้วพบว่า ชาวเลถูกทำให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ดังนั้นในการจัดการชาวเล เราต้องทำเขามั่นใจ ให้รู้ว่าเขามีเพื่อน เขามีกลุ่ม เราเลยประเมินชาวเลได้ และก่อเกิดเป็นเครือข่ายชาวเลจนปัจจุบัน ทำให้การเก็บข้อมูลง่ายขึ้นและมีข้อมูลชัดขึ้น
“อย่างตัวอย่างการต่อสู้ของชาวเลนั้น กรณีชาวเลราไวย์ที่ถูกถมบ่อน้ำที่ใช้ร่วมกัน ขณะนั้นชาวเลรวมตัวกันไปประชุมในอำเภอและจังหวัด แล้วชาวเลก็เรียกร้องให้มีการเปิดใช้บ่อน้ำดังกล่าว และเรียกร้องสิทธิอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะเรื่องการทำการวิจัย เรื่องที่ดิน กรณีราไวย์ เราได้เรียนรู้และวิจัย เอาข้อมูลมาสู้ แล้วเราเอางานนี้มาใช้ประโยชน์ ตั้งแต่เริ่มมีการขึ้นศาลต่อสู้ทางคดีข้อพิพาทที่ดินต่อเนื่อง เราอ้างอิงงานวิจัยในการทำงานนั้นมาโดยตลอด ทำให้เราเปลี่ยนทัศนคติใหม่ต่อการทำงานเพื่อสังคม โดยเน้นว่า แค่เรียกร้องอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำงานวิชาการคู่ไปด้วย ดิฉันมีบทความในใจที่อ่านแล้วชอบและคิดว่าเป็นเรื่องจริง คือ กรณีงานวิจัยและงานเขียนของอาจารย์ชื่อว่า ความยุติธรรมตามความเป็นจริง กรณีทับยาง ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานด้วย” นางปรีดา กล่าว
ผู้จัดการชุมชนไท กล่าวด้วยว่า จากการทำงานร่วมกับอ.อคิน เราได้เห็นชาวบ้านได้รับความอบอุ่น อีกทั้งมีความสบายใจมากขึ้น ซึ่งกรณีที่ดินและความเป็นธรรมนี้ อ.อคินก็ได้ต่อสู้แม้กระทั่งในที่ดินที่ปู่ของอ.อคิน เคยได้ให้สัมปทานเหมืองแร่ในชุมชน อ.อคิน ก็ไม่ละทิ้งตรงนั้น แต่กลับทำงานวิจัยเพื่อไปทวงเอาที่ดินคืน ให้ชาวบ้าน ช่วยให้ชุมชนได้มีโอกาสจัดการตนเอง และมีตัวตนขึ้นมาอีกครั้ง เช่นกรณีบะขาม จังหวัดขอนแก่น ก็เอางานวิจัยไปต่อสู้เพื่อเอากรรมสิทธิคืนมาเช่นกัน
ขณะที่นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นลูกศิษย์โดยตรง แต่สมัยที่ยังทำงานที่ชนบทนั้น ช่วงวัยของตนเป็นวัยของงานพัฒนาที่กำลังเฟื่องฟู และได้รู้จักกับอ.อคิน ช่วงที่ลงพื้นที่ทำงานด้านสาธารณสุขที่จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับทีมนายแพทย์ที่ร่วมทำงานพัฒนาสังคม อย่างเช่น นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และต่อมาก็พัฒนางานร่วมกันเพิ่มเติมผ่านการทำงานใน สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น(RDI) เป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนและทำความรู้จักอ.อคิน เพิ่มเติม และได้ติดตามผลงานของอ.อคินอย่างต่อเนื่อง
“ผมอาศัยความรู้จากอ.อคิน หลายอย่าง เช่น แรกๆเวลาไปร่วมเวทีในชุมชน เราไปเจอว่าชาวบ้านส่วนใหญมีความเชื่อเรื่องการแพทย์แปลก ๆ และไม่ตรงกับความรู้ที่ผมมี หมายถึงไม่ตรงกับหมอสมัยใหม่ แต่เวลานั้นอ.อคินได้ร่วมเสวนาด้วย แล้วสอนให้ผมสังเกตการณ์เกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้านบนการแพทย์ที่ผมมองว่า ไม่ใช่การแพทย์ ตัวอย่างที่จำได้ดี คือ ไปเจอชาวบ้านมีการรักษาอาการไก่ชนขนฟู ขนพองที่เกิดจากการจิกกัน แล้วชาวบ้านเห็นอาการของไก่ ชาวบ้านก็ไปเอาแคลเซียมในท้องถิ่น พวกปลาตัวเล็กตัวน้อย หรือ เปลือกไข่ มาป้อน ไก่ ตอนนั้นอาจารย์บอกผมว่า ที่ชาวบ้านทำอย่างนั้นเพราะรู้ว่าไก่ที่ต่อสู้มันขาดแคลเซียม ชาวบ้านเลยพยายามเติมเต็ม ช่วยเหลือไก่ตามความรู้ดั้งเดิม แล้วมผมก็ทึ่งมาก เพิ่งรู้ว่าชาวบ้านใช้ภูมิปัญญา รักษา ต่อมาก็รู้เรื่องของการอยู่ไฟ เพื่อรักษามดลูก คนที่คลอดใหม่ ช่วยป้องกันอาการตกเลือด คนหลังคลอดจะอาบน้ำร้อน นอนผิงไฟ ผมเรียนแพทย์มาตั้งนานเพิ่งเข้าใจว่าพิธีกรรมชาวบ้านมันก็เป็นการแพทย์ และต่อมาก็เข้าใจว่า ระบบสาธารณสุขไทย ต้องมีแพทย์พื้นบ้านที่ด้วย ผมว่าเรื่องนี้น่าสนใจ ผมจึงมองว่ามีความสำคัญ เลยตัดสินใจไปเรียนมานุษยวิทยา” นพ.โกมาตร กล่าว
นพ.โกมาตร กล่าวด้วยว่า เสน่ห์ของอ.อคิน คือ ไม่ว่าจะอายุมากแค่ไหน ถ้าเชิญท่านไปพูดเรื่องชาวบ้าน อาจารย์จะมีชีวิตชีวา และเล่าเรื่องได้ดี เล่าผ่านมุมมองมานุษยวิทยา อาจารย์เห็นคุณค่าของชาวบ้าน ต่างจากนักมานุษวิทยาสมัยใหม่ที่เน้นแค่ทฤษฎี และพูดอ้างอิงวิชาการ แต่กลับไม่รู้จักชาวบ้านในบ้านตัวเองเลย ยิ่งพวกจบใหม่ จะอ้างอะไรไม่รู้จากตะวันตก แต่เวลาอ.อคิน พูด จะเป็นเรื่องราวของชาวบ้านธรรมดา และท่านให้คุณค่าของเรื่องราวเหล่านั้น ดูท่านยังมีความสุขที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของชาวบ้านเสมอ จึงรู้สึกว่า ความรู้ที่อ.อคิน สร้างขึ้น มันเป็นพลวัตรที่เกิดขึ้นจริง ทำได้จริงในสังคมไทย และอาจารย์พูดกับชาวบ้านไม่ได้โรแมนติกหรือโลกสวยเลย แต่อาจารย์ให้ความเรียบง่ายเป็นการผสมความรู้ที่ลงตัว สามารถเป็นแบบอย่างของครูด้านมานุษยวิทยา และถือเป็นแบบอย่างในการพัฒนา
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า อ.อคินสอนให้ตนทำงานวิจัยเก่งขึ้น เป็นครูที่สอนให้รู้จักการทำงานด้านการพัฒนาที่ประยุกต์ใช้กับองค์ความรู้ปัจจุบัน ส่วนตัวได้ทำงานวิจัยให้อาจารย์ 2-3 เรื่อง ทุก ๆ 6 เดือนมาพบกันครั้งหนึ่ง มาเล่าสู่กันฟัง
“บางครั้งอาจารย์บอกว่าดีมากครับ ดีมาก แต่ลงสนามน้อยไปหน่อย และอาจารย์ก็ย้ำว่าผมลงสนามน้อย ให้ไปทำซ้ำ ผมก็ลอกวิธีการเล่าเรื่อง ผมมาเล่ากะว่าอาจารย์จะปิ๊ง จะชอบ แต่อาจารย์ถามกลับว่าแล้วใครได้ประโยชน์ แต่ผมตอบไม่ได้ ผมต้องกลับไปทำการบ้านใหม่ ไปสรุปความใหม่ ซึ่งพอทำมาเสร็จปุ๊บอาจารย์บอกผมว่า เรื่องแบบนี้ คือ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าละเลยสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะมันคือหัวใจนำไปสู่การหาคำตอบในงานวิจัย ผมทำงานกับอาจารย์มา 18 ปี ผมมองว่าอาจารย์เป็นนักเล่าเรื่อง และมีแผนแยบยลในการเล่าเพื่อขับเคลื่อนให้เรื่องเล่าถูกนำไปสู่การปฏิบัติ และมีวิธีการสังเกตด้วย เราเชื่อว่าเรื่องราวที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้นั้นยาก แต่อาจารย์ทำได้ หลายครั้งที่เรื่องราวของคนชายขอบถูกซ่อนตัวไว้เสมอ กว่าจะทำให้โลดแล่นทางสังคมนั้นไม่ใช้เรื่องง่าย การเอาเรื่องเล่าของอาจารย์ไปปฎิบัติการทางสังคม ทำให้มีพลัง และสอดแทรกเข้าไปในกลไกการแก้ปัญหาด้วย” รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าว
ขณะที่ ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า อาจารย์บอกว่า จาการทำงานที่ RDI กับอ.อคิน ท่านสอนให้ผมรู้จักการให้โอกาสคนจน เช่น ทำคนจนได้มีงานทำ อ.อคินเป็นคนให้โอกาสคนเสมอ
“ผมได้ไปชนบทกับอาจารย์บ่อย ๆ เราเป็นเอ็นจีโอ เราเกลียดงานวิจัย เราเกลียดงานวิชาการ อาจารย์ถามคำถามตั้ง 50 คำถาม ตอนผมไปลงเรื่องสารธารณะสุขมูลฐาน อาจารย์ตั้งคำถามกับผมเสมอ ตอนนั้นก็อึดอัด แต่ผ่านมาได้ ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดี และมันจำเป็น ผมว่าอาจารย์เป็นคนธรรมดา และทำงานกับคนยากจนได้ ผมได้รู้วิธีการทำงานกับคนจนเพราะมี อ.อคิน บริหารแบบไม่บริหารและผลิตคนให้ RDI ที่ได้ทำงานพัฒนาก่อน อาจารย์ให้โอกาสผมทำงานและช่วยดูงานวิจัยที่เรียนจบป.โท ป.เอก อาจารย์ก็เคยถามว่า งานวิจัยเรื่องที่ดินทำอะไรมา ทำไมผมทำวิจัยแล้วไม่พบว่าชาวบ้านมีความเป็นธรรมในที่ดิน ผมต้องทำใหม่ ทำให้เห็นถึงปัญหาคนจนจริง ๆ อย่างหนึ่งที่ผมได้ คือ การทำงานวิชาการ งานวิจัยที่เน้นเรื่องการวิจัยที่ทำกำไรระยะยาว ผมเลยต้องเดินหน้าทำวิจัย ทุกวันนี้ผมก็ทำงานวิจัยปีละ 5 เรื่อง ใน 2 ปีมานี้ผมก็ทำเรื่องกองทุนคนยากจน เพื่อหาวิธีการทำงานให้คนจน ผมเชื่อว่าการทำงานเพื่อคนจนให้สำเร็จต้องช่วยให้เขาพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน” ที่ดร.สมพันธ์ กล่าว
ดร.สมพันธ์ กล่าวต่อว่า อ.อคิน ให้คุณค่ากับคนทำงานที่จริงจัง แล้วให้ไปทำประโยชน์ต่อ ส่วนเรื่องการบริหาร คือ เป็นผู้บริหารที่ซื่อสัตย์มาก ๆ ความหวังของคนอยู่ RDI และเป็นตัวอย่างของผู้บริหารองค์กร คำว่ากระบวนการพัฒนาที่สร้างการเรียนรู้กับชาวบ้าน ซึ่งคนที่มีเงินไม่เข้าใจในบางครั้ง ตอนนี้ได้บทเรียนเรื่องธนาคารที่ดินนั้นก็ยังทำยากอยู่ แต่อ.อคิณ ให้ความหมายต่อตนว่า สังคมต้องการมัน เพราะกำไรจากการลงทุนสมัยนี้ต้องเอาเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ไม่ใช่ได้กำไรแล้วจบ
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า คุณูปการของอ.อคิน ในแง่วิชาการ คือ อาจารย์เป็นที่ปรึกษาในช่วงที่ตนเรียน ช่วงนั้นได้พบอาจารย์เพราะมีงานวิชาการด้านมานุษยวิทยา รวมถึงด้านสังคม และศึกษาตำราต่างประเทศพบว่าวงการวิชาการต่างชาติยอมรับผลงานของ อ.อคิน และเคารพการทำงาน รวมทั้งอ้างอิงความรู้และบทความ หรือกล่าวขอบคุณในฐานะที่ปรึกษา หลายงานมาก ๆ ขณะที่เมืองไทยเองก็มีงานวิชาการหลายแห่งที่อ้างผลงานของอ.อคิน ท่านศึกษาความทุกข์ ความยากจนของชาวบ้านแล้วเขียนออกมาเป็นเรื่องเล่าอ่านง่าย เข้าใจง่าย อาจารย์เน้นเรื่องการตรวจสอบข้อมูล ความรอบคอบ และผลที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนที่เราไปร่วมศึกษาด้วย
ขณะที่ ม.ร.ว.อคิน ได้กล่าวกับผู้ร่วมงานว่า ทั้งชีวิตตั้งแต่ตอนเกิดเคยเห็นกรุงเทพฯ น่าอยู่มาก น้ำในคลองใสมาก มีปลาว่ายอยู่เต็มคลอง สองข้างถนนมีต้นไม้ตลอดทาง ร่มเย็นมาก ๆ ช่วงนั้นเห็นคนหาบของมาขายมากมาย มันร่มรื่นทั้งธรรมชาติและคนก็ดูสดชื่น ต่อมากรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไป มีการลอกคลองและระบบเปลี่ยนไป การพัฒนาบางครั้งก็ทำร้ายชีวิตที่เคยเรียบง่ายเหล่านั้น อย่างไรก็ตามสถานที่ เวลาเปลี่ยนไป แม้จะเปลี่ยนมากเพียงใด พวกเรายังอยู่ ขอให้ทำในสิ่งที่ตั้งใจจะทำแล้วอย่าให้ใครเดือดร้อน
“ผมขอบคุณมากที่พวกเรายังอยู่ด้วยกัน ยังตั้งใจทำสิ่งดี ๆ ให้กัน ผมอยากให้สังคมมันดีขึ้น เราจะอยู่กันได้ ต้องทำงานให้มันช่วยเหลือกันได้ เวลาเราลำบากอะไรเราก็ช่วยกันนะ เราเกิดมาทั้งชีวิตอย่าทำให้ใครเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม ถ้าเราคิดดี มองโลกแง่ดี ทำสิ่งดีต่อผู้อื่น เราหวังดีกับคนอื่น เราไม่รังแกคนอื่น เราก็จะได้ดี เราจะรู้สึกสงบ ความสงบก็ทำให้มีความสุขแล้ว” ม.ร.ว. อคิน กล่าว