“นี่มันพม่านี่”
“ดนตรีพม่าเหรอ”
“จัดที่ไหน อยากไป”
“ที่นี่พม่าเหรอ”
“….ไม่ใช่พม่า นี่ดนตรีทวาย ….”
คำแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก สื่อโซเชียลยอดฮิตที่คนทั่วโลกใช้กันอย่างแพร่หลาย สลับกับคำตอบส่วนน้อยใต้วิดีโอบันทึกการแสดงรำพื้นเมืองทวายที่ใครต่อใครกรูเข้ามาชม แต่ก็ไม่ได้มีใครไปแก้ต่างหรือยืนยันคำตอบในโลกโซเชียลนั้นมากนัก หากแต่ปล่อยข้อคิดเห็นนั้นผ่านเลยไปเหมือนกับหลายกระทู้ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์
หากแต่ภาพเหตุการณ์จริงเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในงาน “หลงรักทวาย” ที่มีหนุ่ม ๆ ทั้งปรบมือ ฟ้อนรำ พร้อมร้องเพลงคลอไปตามจังหวะดนตรีที่นางรำชาวทวายกำลังแสดงอยู่นั้น สะท้อนว่าพวกเขากำลังสนุกสุดเหวี่ยง ดั่งเวทีนั้นคือบ้านเกิดของพวกเขา อีกทั้งมีงานรื่นเริงมาจัดให้ชมตามเทศกาลสำคัญก็ไม่ปาน นาทีนั้นคนไทยที่มาร่วมงานล้วนสัมผัสได้ถึงความสนุกตรงหน้าและเชื่อว่าหลายคนกำลังยิ้ม หรือบางคนอาจจะประหลาดใจ
งานหลงรักทวายเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของเสมสิกขาลัย ศิลปินในโครงการศิลปะชุมชน (Community Art) และภาคีเครือข่ายอีกหลายส่วนที่ได้ไปลงพื้นที่เมืองทวาย ประเทศพม่า และเกิดเป็นความประทับใจจนก่อเกิดเป็นกิจกรรมดีๆ ที่มีทั้งนิทรรศการภาพถ่าย ภาพวาด การแสดงดนตรี การละเล่นพื้นบ้านหลายส่วน ฯลฯ
นักแสดงที่ร่ายรำอยู่บนเวทีเป็นสาวๆ ชาวทวายที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับหนุ่มที่คอยส่งเสียงให้กำลังใจด้านล่างเวที
ซอ มิน อู หนึ่งในทีมงานที่ร่วมจัดงานบอกว่า ผู้ร่วมงานทุกคนที่เข้ามาเป็นแรงงานชาวทวาย ไม่ใช่พม่า ทวายมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง โดยเมืองทวายประกอบด้วยคนทวาย มอญ และกะเหรี่ยง ในงานนี้หลังได้รับการประสานงานจากเสมสิกขาลัย เขาต้องทำหน้าที่ไปพูดคุยกับพี่น้อง ผองเพื่อนชาวทวายที่มีการติดต่อสื่อสารกันทางเฟสบุ๊คอย่างสม่ำเสมอ และประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าว ซึ่งหลายคนให้ความสำคัญ และต่างตื่นเต้นกับกิจกรรมครั้งนี้ โดยบรรยากาศความสนุกที่เกิดขึ้นตรงหน้าก็คือคำตอบ
“พี่ว่าเขาสนุกไหมละ เขาทั้งร้องทั้งเต้นก็คงสนุก พวกเราพูดภาษาไทยได้นะ แต่เวลาเราอยู่ด้วยกันเราก็ใช้ภาษาทวายตลอด ไม่ได้ใช้ภาษาพม่า”
มา มา โฉ่ว นางรำวัย 29 ปี ร่วมพูดคุยหลังการแสดงรำพื้นเมืองทวายจบลงว่า เพลงที่ใช้แสดงเป็นเพลงที่สื่อสารการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวชาวทวาย ซึ่งก่อนการจัดงานตนใช้เวลาหลังเลิกงานฝึกซ้อมรำประมาณ 3 สัปดาห์ ยอมรับว่ากระชั้นชิดแต่รู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมงานและถ่ายทอดการแสดงนี้สู่คนไทยเพื่อให้รู้จักทวายในแง่ความงดงามของประเพณีพื้นบ้าน
“ตั้งแต่จากบ้านเกิดมาทำงานที่ประเทศไทย ผ่านมาก็ 10กว่าปีแล้ว เวลาอยู่ห้องพักหรือที่ทำงานเขาก็บอกว่าเราเป็นพม่า แต่ไม่ใช่นะคะ เราเป็นคนทวายแท้ๆเลย ไม่นึกเลยว่าวันนี้จะได้มารำหม้อน้ำให้คนทวาย คนไทยดูเพราะไม่ได้รำมานานแล้ว รู้สึกดีที่คนมาร่วมงานกันเยอะค่ะ เห็นงานอย่างนี้แล้วคิดถึงบ้านนะ ไปเห็นรูปปลาข้างนอก รูปผู้หญิงแบกปลาก็คิดถึงแต่ก็กลับบ้านยังไม่ได้ เก็บเงินอีกแป๊บนึงค่ะ” นางรำสาวสะท้อนความรู้สึก
งานหลงรักทวายครั้งนี้เรียกว่าครบเครื่อง จริงๆ มีทั้งแสดดนตรี รำพื้นเมือง นิทรรศการภาพถ่ายและภาพวาด ศิลปะแสดงสดโดยโครงการศิลปะชุมชน ฯลฯ ที่จัดแสดงอย่างสร้างสรรค์ แต่ในแง่มุมของสาระความรู้ก็มีเวทีเสวนาหัวข้อ “หลงรักทวาย มนต์เสน่ห์ หลากหลายมิติ” สะท้อนความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างลงตัวด้วยเจตนารมณ์เดียวกันคือมุ่งรักษาทวายไว้ให้ยั่งยืนและปราศจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อาทิ ท่าเรือน้ำลึก เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขื่อน ซึ่งสอดแทรกทัศนคติ ความรู้ รวมทั้งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจากคนในพื้นที่และคนที่เคยลงพื้นที่ทวาย ทั้งที่เป็นนักวิชาการ ศิลปิน และนักพัฒนาสังคม
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เล่าในเวทีอย่างน่าสนใจว่า ประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ของทวายกับไทย มีมาช้านาน เมื่อสองร้อยปีก่อน เคยมีชุมชนชาวทวายอาศัยอยู่กลางกรุงเทพมหานคร ในเขตยานนาวา ใกล้วัดดอน มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการเลยว่า “บ้านทวาย” ซึ่งเป็นการอพยพเข้ามาในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ซึ่งเจ้าเมืองทวาย ณ ขณะนั้นต้องเข้ามารับราชการในกรุงรัตนโกสินทร์ อีกร้อยปีต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวทวายก็ยังคงเป็นขุนนาง เป็นข้าราชการในกรมต่อเรือจากนั้นค่อยๆถูกกลืนเข้าระบบราชการไทยหมด
วลัยลักษณ์ ระบุว่าเพิ่มว่า เดิมทีชุมชนชาวทวายมี “มังจันจ่าพระยาทวาย” ได้ พาครอบครัวและญาติ บริวารอพยพมากรุงเทพพระมหานครฯ โปรดพระราชทานที่หลวง ตำบลคอกกระบือ ให้เป็นที่อยู่ เมื่อปี 2335 แล้วแต่งตั้งให้พระยาทวาย เป็นหัวหน้าปกครองดูแล ช่วยกันสร้างวัดขึ้นในราวปี พ.ศ. 2340 บริเวณเป็นที่ดอน รอบบริเวณเป็นที่ลุ่ม จึงปรากฏนามว่า “วัดดอน” ผู้คนนิยมเรียกกันง่ายๆว่า วัดดอนทวาย ครั้นพอ พ.ศ. 2400 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) ได้ทรงพระกรุณา เปลี่ยนนามวัดที่พระยาทวายสร้างขึ้นนี้ว่า วัดบรมสถล แต่ก็ยังนิยมเรียกว่า “วัดดอนทวาย”
สำหรับกรณีสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสนั้น วลัยลักษณ์เพิ่มเติมว่า นโยบายของสังฆมณฑลไทยต้องการให้ วัดหนึ่ง ๆ ให้มีพระเป็นนิกายเดียวกันร่วมอุโบสถสังฆกรรมด้วยกันได้ ไม่ให้วิวาทด้วยเรื่องถือนิกาย พระผู้ต่างนิกายไม่ยอมร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับพวกพระเจ้าของถิ่น จัดเป็นอาคันตุกะ จะมีสิทธิ์อาศัยวัดได้เพียง 3 เดือน พระอาจารย์จั่นแจ้งให้พระพม่าให้เข้ามาร่วมทำอุโบสถสังฆกรรม แต่ไม่มา จึงถูกขับไล่ และต่อมามีคนไทใหญ่ไปใช้พื้นที่ร่วมกันก็เรียกว่า “วัดดอนกุหล่า” ด้วย ส่วนคนพม่าออกไปตั้งสำนักสงฆ์ใหม่สถานที่ปฏิบัติธรรมของชาวพม่าที่เรียกว่า “วัดปรก” ทุกวันนี้
“สำหรับบ้านทวายมีโรงเรียนประชาบาลตำบลบ้านทวาย ตั้งอยู่ในบริเวณวัดดอน ต่อมาได้ตั้งโรงเรียนสตรีบ้านทวาย ซึ่งพัฒนามาจากโรงเรียนสตรีวัดสุทธิวราราม และกระทรวงธรรมการได้แยกโรงเรียนสตรีบ้านทวายออกเป็น 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านทวาย (โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยในปัจจุบัน) กับโรงเรียนการช่างสตรีพระนครใต้ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พระนครใต้ ในปัจจุบัน) และบ้านทวายแทบไม่เหลือคนเชื้อสายทวายอยู่ในพื้นที่อีกแล้ว เพราะหลังจากมีการตัดถนนเหนือ-ใต้และทางด่วนถนนเจริญราษฎร์ผ่านเข้ามาในพื้นที่บ้านทวายและตรอกโรงน้ำแข็ง ชาวบ้านส่วนใหญ่สูญเสียที่ดิน ต้องโยกย้ายออกไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ คนที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นลูกหลานคนจีนที่ค้าขายอยู่ในชุมชน และคนจากที่อื่นๆ ซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ตอนหลัง” นักวิชาการจากมูลนิธิเล็ก-ประไพฯ อธิบายถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน
เรื่องราวของทวายไม่จบลงเพียงเท่านี้ เพราะยังมีอีกหลายมุมมองจากภาคส่วนอื่นๆ ที่ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงเสวนา” หลงรักทวาย-มนต์เสน่ห์หลากหลายมิติ” ติดตามได้ใน“หลงรักทวาย” งานดีกระตุกสายสัมพันธ์ “ไทย- ทวาย” หลังม่านความทรงจำสีจาง ตอนที่ 2
สำหรับผู้สนใจสามารถอ่านประวัติศาสตร์บ้านทวายเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิเล็ก-ประไพ ฯ http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5100
///////////////////
เรื่องโดย จารยา บุญมาก
ภาพโดย อำนาจ เกดชื่น
————————