
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 นายโอภาส จิตแป้น ผู้ใหญ่บ้านแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต เปิดเผยว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ ทางเจ้าหน้าที่จากสำนักงานที่ดิน กรมที่ดินจะลงมาทำรังวัดพื้นที่สุสานฝังศพของชาวเลอูรักลาโว้ยในพื้นที่ โดยตนได้ประชุมเตรียมความพร้อมชาวบ้านเพื่อร่วมสังเกตการณ์ การทำรังวัดแบ่งเขตและเตรียมออกเป็นหนังสือสำหรับที่หลวง (นสล.) พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนตัวหวังว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความเป็นธรรมต่อชาวเลอูรักลาโว้ยทุกคน
“เห็นทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะมีเอกชนที่ติดตามลงพื้นที่มาดูการทำรังวัดด้วย เราไม่ได้ห้ามเขาเข้ามานะ แต่เราก็ต้องมีสิทธิ์ดูการทำรังวัดเช่นกัน และต้องเอาผลการรังวัดไปแจ้งให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาชาวเล ของท่านพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง รับทราบด้วย ผมเข้าใจว่านี่ คือการเดินตามนโยบายของรัฐบาลในการประกาศแนวเขตที่ชัดเจน เพื่อจะตรวจสอบว่าชุมชนมีการใช้ประโยชน์ร่วมกันจริงไหม อันนี้เรายืนยันอย่างบริสุทธิ์ใจเลยว่า เราใช้ประโยชน์ร่วมกันมานาน และรัฐควรให้ความเป็นธรรมกับเรา ไม่ใช่ปล่อยเอกชนเข้ามาออกเอกสารสิทธิ์ทับที่เก่าแก่ ที่ดินตรงนี้ชาวเลเองไม่มีใครอยากได้มาเป็นที่ส่วนตัว ที่สุสานในความหมายของชาวเล คือ ฝังศพด้วยกัน และใช้มานานแล้ว แม้จะเป็นที่ติดทะเลก็ตาม ชาวเลก็ไม่เคยมีใครอยากได้ที่ดินตรงนี้มาทำเป็นที่พัก หรือที่รองรับนักท่องเที่ยว แต่สงวนไว้เพื่อฝังศพชาวบ้าน และพยายามปกป้องอย่างสุดกำลัง ไม่ให้เอกชนรายใดเอาไปใช้ ซึ่งหากที่ดินบริเวณสุสานเป็นอำนาจของรัฐบาล เราโล่งใจ และหวังว่ารัฐบาลจะให้เราอยู่ต่อ เราไว้ใจรัฐบาลมากกว่าเอกชนอยู่แล้ว” นายโอภาส กล่าว

นายโอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับชุมชนแหลมตุ๊กแกในปัจจุบันมีชาวเลอาศัยอยู่ 333 ครัวเรือน และประสบปัญหาข้อพิพาทที่ดินเช่นเดียวกับชุมชนชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต โดยปัจจุบันมีชาวเลถูกนายทุนฟ้องไล่ที่จำนวน 5 ราย อยู่ระหว่างการสืบพยานและดำเนินคดี ในส่วนของปัญหาทั่วไปนั้นตนและชาวบ้านแหลมตุ๊กแก รู้ดีว่าเมื่อมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น ชุมชนถูกเปลี่ยนสภาพกลายเป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวไปโดยปริยาย ซึ่งชุมชนคงปฏิเสธไม่ได้ แต่เพื่อความอยู่รอดของชุมชน ภาคการท่องเที่ยวจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ตัวแทนชุมชนได้มีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่ และมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากพื้นที่ด้วย ดังนั้นในการทำรังวัดที่ดินแต่ละครั้งชาวบ้านแหลมตุ๊กแกจะต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างดีเพื่อป้องกันการรังวัดที่เอาเปรียบชุมชน เนื่องจากชุมชนแหลมตุ๊กแกก็จัดเป็นชุมชนเก่าแก่พอกับชุมชนชาวเลราไวย์ ชาวบ้านจึงอยากจะมีพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ประกอบพิธีกรรม พื้นที่ทางจิตวิญญาณ ที่เหมาะสม และไม่ถูกเอาเปรียบจากทุนใหญ่
ขณะที่ชาวเลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 4 รายที่ถูกเอกชนฟ้องขับไล่จากที่ดิน จะเข้ารับฟังคำพิพากษาพร้อมกัน ณ ศาลจังหวัดภูเก็ตวันที่ 31 มกราคม 2560 นี้
////////////////////////