
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 ที่โรงแรมดุสิตธานี ถนนสีลม กทม. ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมอาหารทะเลยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านแรงงานและประมง อาทิ สมาคมรักษ์ทะเลไทย เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้จัดแถลงข่าวเรื่อง บทบาทภาคธุรกิจและประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมประมงไทย
นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้แทนองค์กรออกแฟม กล่าวว่าระหว่างวันที่ 30 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ ได้มีการประชุม Seafood Task Force ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจชั้นนำของโลก ทั้งผู้นำเข้าอาหารทะเล ในยุโรปและอเมริกา รวมถึงผู้ผลิตขนาดใหญ่ด้านอาหารสัตว์ และผู้ส่งออกสินค้าจากประเทศไทยรายใหญ่ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ ไทยยูเนียน ซึ่งถือว่ามีมูลค่าส่งออกอันดับต้นๆของประเทศ โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาได้มีข่าวเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในกิจการประมงซึ่งโยงไปถึงสินค้าส่งออกของประเทศไทย รวมไปถึงการใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้ภาครัฐให้ความสำคัญแต่การแก้ไขยังไม่ลุล่วง ดังนั้นกลุ่มแรงงานประมงพื้นบ้านและองค์กรภาคีจึงรวมตัวกันและเข้าพบ Seafood Task Force เมื่อวันที่ 30 ที่ผ่านมา เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่เครือข่ายภาคประชาชนมีโอกาสได้หารือกับภาคธุรกิจการค้าของโลก ซึ่งการรวมตัวของภาคธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากสื่อมวลชนได้นำเสนอความอัปลักษณ์ของห่วงโซ่ธุรกิจในกิจการประมง ซึ่งกลุ่มธุรกิจมีผลประโยชน์อยู่ ทั้งนี้ปัญหาหลักของทะเลไทยคือคนไทยหมดความหวังกับทะเลมาร่วม 30 ปี จนต้องหันไปกินปลาทับทิมหรือปลานิลแทน เนื่องจากการลดลงอย่างรวดเร็วของพันธุ์สัตว์น้ำ ทำให้อาหารทะเลกลายเป็นอาหารของชนชั้นสูงที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงยาก ทั้งๆที่ประเทศไทยมีกายภาพเหมาะสมในการผลิตอาหารทะเล
“เดี๋ยวนี้แม้กระทั่งปลาทู เรายังต้องซื้อจากอินโดนีเซียและศรีลังกา ขณะที่ประชาชนที่เคยใช้ทะเลเป็นอาชีพไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน ต้องล่มสลาย เพราะภาครัฐไม่เข้ามาดูแลรักษาทะเล เราใช้พรบ.ประมงมากว่า 60 ปี ไม่มีมาตรการพัฒนาทะเลเลย และปล่อยให้เครื่องไม้เครื่องมือฉกาจฉกรรจ์ 3 ตัวคืออวนลุน อวนลากและเรือปั่นไฟ เข้ามาทำลาย”นายบรรจงกล่าว
นายบรรจงกล่าวว่า ขณะนี้แม้รัฐบาลสั่งห้ามเรืออวนรุน แต่ยังมีเรือปั่นไฟอยู่เต็มทะเล เช่นเดียวกับเรืออวนลาก ซึ่งจากการวิจัยพบว่าปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ มีเพียง 33% เท่านั้น ที่นำไปบริโภค ส่วนที่เหลืออีก 67% เป็นลูกกุ้งหอยปูปลาที่ถูกนำไปผลิตเป็นปลาป่น จนกลายเป็นวิกฤตทำให้ทะเลไม่สามารถเป็นที่หวังได้เพราะกลไกรัฐไม่สามารถจัดการได้ หากกลุ่มธุรกิจ Seafood Task Force อยากทำธุรกิจให้เกิดความโปร่งใส ตรงไปตรงมา ก็ต้องปรับตัว และต้องไม่ทำธุรกิจที่ทำลายความหวังของประชาชนให้ล่มสลายหรือหมดอาชีพ อย่างไรก็ตามกลุ่ม Seafood Task Force บอกว่าเรามีเป้าหมายที่ตรงกัน แต่ในรายละเอียดต้องมีการหารือกันอีก
นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ระบุไว้ชัดเจนให้ยกเลิกเรืออวนรุนและเครื่องมือปั่นไฟ แต่ปี 2539 ได้มีการอนุญาตให้ใช้อีก ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องร้องให้ภาคเอกชนหยุดจับปลาโดยเครืองมือทำลายล้าง และธุรกิจเอกชนก็ควรหยุดรับซื้อปลาที่มาจากเครื่องมือ
ทำลายล้าง เพราะมิฉะนั้นก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมการทำลายอย่างเต็มรูปแบบ เรามองว่านักธุรกิจเอกชนสามารถหยุดยั้งการทำลายล้างทะเลได้ และการรับซื้อปลาควรมีการตรวจสอบย้อนหลังได้ว่ามีที่มาจากที่ไหน นอกจากนี้ธุรกิจเอกชนควรมีการส่งเสริมให้ทำการวิจัยเพื่อหาวัสถุดิบทดแทนปลาเล็กปลาน้อยในทะเล ซึ่งเราจะจับตาติดตามต่อไปว่าได้มีการดำเนินการหรือไม่
นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ LPN กล่าวว่าเชื่อว่ากลุ่ม Seafood Task Force รับรู้ว่าปลาที่ได้มาจากไหน แต่ไม่รู้ว่าที่มาของแรงงานบนเรือประมงเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องรายละเอียดเชิงลึกซึ่งเป็นเหรียญอีกด้านหนึ่ง แม้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยจะมีการปรับเปลี่ยนในหลายเรื่อง แต่จนถึงขณะนี้ยังพูดไม่ได้ว่าไม่มีปัญหาแรงงานบังคับในกิจการประมง เพราะฉะนั้นการที่จะให้บรรลุเป้าหมายจำเป็นต้อง 1.ยับยั้งการบังคับแรงงาน 2.ส่งเสริมการรวมตัวของแรงงานประมงเพื่อให้มีอำนาจต่อรอง เพราะทุกวันนี้แรงงานประมงรวมตัวกันได้น้อยมาก 3.ต้องทำให้แรงงานประมงได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
“ผมเชื่อว่าทุกวันนี้สวัสดิการของแรงงานข้ามชาติได้รับมีไม่ถึง 20% ขณะที่ค่าต้องแทนที่เป็นธรรมก็ยังไม่มีตัวบ่งบอกที่ชัดเจน โดยพวกเขายังต้องทำงานหนักและยาวนาน ดังนั้นจึงควรมีข้อตกลงที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้”นายสมพงค์ กล่าว
นายสามารถ เสนาสุ อดีตแรงงานบนเรือประมงที่ถูกบังคับไปทำงานในน่านน้ำอินโดนีเซีย กล่าวว่า ในช่วงฟองสบู่แตกตนตกงานและกำลังเดินทางกลับบ้านใจต่างจังหวัด แต่ไปเจอนายหน้าชวนไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และให้ดื่มน้ำ เมื่อตื่นอีกทีปรากฏว่าอยู่ที่สิงคโปร์แล้ว หากจะกลับเขาก็บอกให้ว่ายน้ำกลับเอง และบอกให้ตนทำงานจนครบ 3 ปี แต่ผ่านไปจน 7 ปีจึงได้กลับมาเมื่อปี 2558
“ปลาที่หาได้บนเรือเมื่อคัดแยกแล้ว มีเพียง 200-300 กิโลกรัมเท่านั้น ที่ใช้ได้ ส่วนที่เหลือถูกกวาดทิ้งลงทะเล เราต้องทำงานหนักตลอดจนอ่อนเพลียและต้องนิ้วพิการเนื่องจากติดอวน และไม่มีการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อนบางคนนิ้วขาด บางคนเสียชีวิตไปต่อหน้า เพราะบนเรือมีแต่ยา ประเภทพารา แต่ไม่มีหมอ เพื่อนชาวเขมรป่วยและถูกฉีดยาจนพิการ” นายสามารถ กล่าว
นายสามารถกล่าวว่า แรงงานประมงขอแค่ได้ทำงานเหมือนกับแรงงานบนฝั่ง ไม่ใช่ทำงานวันละ 15 ชั่วโมงแล้วไม่ได้รับโอที หรือได้รับเงินเดือนแค่ 5-6 พันบาท ที่ผ่านมาแรงงานประมงต้องประสบปัญหามากมาย ดังนั้นจึงอยากมีปากเสียงบ้างจึงได้มีการตั้งกลุ่มสหภาพลูกเรือประมงขึ้นมา ขณะนี้มีสมาชิกแล้ว 70-80 คน โดยมีสมาชิกทั้งไทย ลาว พม่า แต่ทุกวันนี้แรงงานประมงก็ยังถูกหลอกอยู่