
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 นายประชิต จันเพ็ง ผู้ใหญ่บ้านปากอิง ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ชาวบ้านปากอิงใต้บางส่วนจะเดินทางไปร่วมงาน “ฮอมบุญ ฮอมปอย หยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขง” เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านโครงการใหญ่ทุกประเภทที่จะทำลายแม่น้ำโขง โดยส่วนตัวมองว่า แม่น้ำโขงผ่านการพัฒนาโดยประเทศจีนมาแล้วหลายครั้ง และบอบช้ำมากพอแล้ว จึงไม่เห็นด้วยกับโครงการสร้างเขื่อนต่าง ๆ ทั้งดอนสะโฮง เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนปากแบง และโครงการระเบิดแก่งเพื่อพัฒนาเส้นทางเดินเรือรอบใหม่ เนื่องจากอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลทุกประเทศที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกันยังไม่มีใครตอบได้เลยว่าจะสามารถบรรเทาทุกข์ของคนลุ่มน้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำระหว่างประเทศนี้อย่างไร
“ที่ผ่านมาชาวประมงต้องแขวนเครื่องมือบ้าง พี่น้องเราต้องระหกระเหินไปทำงานต่างบ้านต่างเมืองบ้าง ผมว่านี่เป็นหายนะพอแล้ว ไม่ต้องพูดถึงการระเบิดแก่งหรือการสร้างเขื่อนรอบใหม่หรอก เอาแค่ระเบิดปลาเล็ก ๆ ก็สะเทือนแม่น้ำมากพอแล้ว ยกตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อก่อนนี้นะ สมัยผมยังเด็ก ๆ ชาวบ้านย่านนี้พายเรือเล็กออกไปค้าขายที่บ้านห้วยทอง เมืองปากน้ำทา ฝั่งลาว จุดนี้คือตลาดใหญ่เลย คนไทยฝั่งเรากับลาวไปพบกันเนืองแน่น แม่น้ำโขงคึกคักด้วยเรือขายสินค้าทางน้ำ ช่วงนั้นคนลาวนิยมซื้อสินค้าไทยคึกคักมาก เชื่อไหม วัน ๆ ชาวบ้านไม่ต้องทำอะไรมากมายเลย ว่างจากนา ไร่ สวน ก็พายเรือไปขายของ ได้เงินแล้ว ส่วนมากคนลาวจะซื้อของจากไทย ทั้งเสื้อผ้า ของใช้ เบ็ดตกปลา ส่วนคนไทยบางครั้งก็ซื้อผลไม้ เช่น แตงโมจากฝั่งลาว หรือซื้อเครื่องจักสานบ้างก็มี คือดูมีชีวิตชีวา แต่พอถนนตัดเสร็จ จีนปล่อยน้ำ สะพานเกิดขึ้น ทุกอย่างถูกคุมโดยคนมีเงินและทุนใหญ่หมด คนเล็ก ๆ ที่แค่ห่างกันแม่น้ำกั้นกลาง แย่หมด ส่วนพวกหาปลา พอเจอคู่แข่งที่เอาระเบิดมาวาง เอาไฟฟ้ามาช๊อตปลา ก็ต้องหยุดไป หาเท่าไหร่ก็ไม่ได้เท่าเมื่อก่อน ตรงนี้มันคือการตายของคนริมโขง ซึ่งคนทั่วประเทศต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่แค่มีน้ำไหลผ่านก็สวย แต่ความสวยมันต้องมาพร้อมชีวิตแบบนี้ ถึงจะสวยแท้จริง” นายประชิต กล่าว
ผู้ใหญ่บ้านปากอิง กล่าวว่า นอกจากความกังวลเรื่องความสัมพันธ์ของคนไทยลาวในแง่ของการดำรงชีวิตแล้ว ในแง่ของความเชื่อ ความศรัทธาเองก็น่ากังวลไม่น้อย โดยหากจีนเดินหน้าระเบิดแก่งน้ำโขง นอกจากจะเป็นการทำลายสถานที่ในตำนานที่คนเชียงของมีความเชื่อเรื่อง “ปูล่ะหึ่ง” บุคคลอันเป็นตำนานของผาถ่าน สถานที่ซึ่งคนเชียงของเคารพนับถือแล้ว หากมีการระเบิดแก่งผาได และพัฒนาเส้นทางจากบ้านห้วยลึกมาจนถึงปากอิง ก็อาจจะส่งผลต่อการทำลายวังน้ำวน ในเส้นทางความเชื่ออีกแห่งหนึ่งของชาวบ้านปากอิงและหมู่บ้านโดยรอบด้วย
“หากเคยเดินทางไปเวียงแก่น -เชียงของ จะพบว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งที่ขึ้นชื่อของบ้านปากอิง นั่นคือวัดพระธาตุดอยแม่ย่าหม่อน ซึ่งเดิมเป็นวัดร้างและต่อมาชาวบ้านได้ปรับปรุง บูรณะใหม่จนกลายเป็นวัดที่มีคนเคารพ ศรัทธา เนื่องจากตำนานวัดนั้น คนแก่เล่าขานกันว่ามีรูพญานาค (บางคนเล่าว่าเป็นพญาเงือก) ไว้สัญจรไปมาระหว่างโลกใต้น้ำกับโลกมนุษย์ ชาวบ้านมีความศรัทธาอย่างมากและบางคนยืนยันว่าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วยังพบเห็นพญานาคบริเวณกว๊านปากอิง ที่บริเวณน้ำวนอยู่ ซึ่งบริเวณนี้ห้ามเล่นน้ำ ห้ามหาปลา โดยพญานาคที่พบชาวบ้านเชื่อว่าแม่ย่าหม่อน (หญิงชราในตำนาน) มีสิทธิควบคุมและดูแล ชาวบ้านจึงต้องทำพิธีบวงสรวงทุกปี และมักจะนำความเชื่อนี้ผูกโยงเข้ากับประเพณีสำคัญของไทย เช่น วันลอยกระทง จะมีการเย็บใบตองเป็นรูปพญานาคเพื่อสักการะ ในส่วนของการเคารพแม่ย่าหม่อนก็ทำพิธีกรรมทางพุทธศาสนาทั่วไป แต่ก็ให้ความเคารพทั้งสองเท่ากัน ระยะหลังมีการสร้างศาลเจ้าพ่อนาคาไว้ให้คนเดินทางได้กราบไหว้ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้หากจุดใดจุดหนึ่งของแม่น้ำโขงถูกทำลาย เส้นทางประวัติศาสตร์ก็ถูกทำลายเหมือนกัน ความเชื่อก็ถูกลบเลือนไป ซึ่งหากความเชื่อถูกทำลาย ชาวบ้านขาดที่ยึดเหนี่ยวใจ คำสอนที่เคยสอนลูกหลานก็จะหมดคุณค่า ในตำนานดอยแม่ย่าหม่อนนี้ ที่ชาวบ้านยังเชื่อ ยังเลื่อมใสก็เพียงเพื่อจะเตือนลูกหลานไม่ให้เล่นน้ำในบริเวณน้ำเชี่ยว น้ำวน และเตือนคนเดินเรือไม่ให้เสี่ยงกับอันตรายเท่านั้น หากระเบิดแก่ง คิดง่าย ๆ คือ มวลน้ำมหาศาลที่ปล่อยมาจะเป็นตัวกลบเกลื่อนเส้นทางน้ำเก่าที่ชาวบ้านผู้ล่องเรือเล็กเคยจดจำ จะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ชาวบ้านเขามีภูมิปัญญาจำจุดเสี่ยงภัย จุดปลอดภัยได้ดี แต่ถ้าน้ำมาเยอะกว่านี้ ก็จะงงแล้ว คิดแค่นี้เอง ” นายประชิต กล่าว
ผู้ใหญ่บ้านปากอิง กล่าวด้วยว่า ก่อนการบูรณะเจดีย์เก่าให้มาเป็นวัดพระธาตุดอยแม่ย่าหม่อนนั้น มีตำนานโดยสังเขปของแม่ย่าหม่อมกับพญานาคว่า เดิมที่บริเวณบ้านปากอิง จะมีเส้นทางสอดแนมมนุษย์ที่ครอบครัวพญานาคสร้างขึ้น โดยมีพ่อนาคที่มีนิสัยดุร้าย และชอบใช้เส้นทางไปแอบดูกลุ่มคนเดินเรือในแม่น้ำโขง แม่น้ำอิง จากนั้นมักจะลอบทำร้ายคนผ่านไปผ่านมา ด้วยการถล่มเรือ ถล่มแพ แต่วันหนึ่งพ่อนาคดุร้ายนี้ติด “มอง” กับดักหาปลาของมนุษย์โดยบังเอิญ จึงดิ้นรนด้วยความเจ็บปวดและหลบไปพักรักษาตัวอยู่นานแต่หลุดจากกับดักไม่ได้ ลูกสาวของนาค จึงว่ายน้ำเข้ามายังโลกมนุษย์เพื่อขอความช่วยเหลือ และว่ายมาพบกับย่าหม่อน หญิงชราที่กำลังใช้มีดเล็ก ๆ เก็บผักริมน้ำโขง
“ลูกสาวนาคจึงขอความช่วยเหลือจากย่าหม่อน ย่าหม่อนสงสารจึงตามไปช่วยปลดกับดักที่รัดตัวพ่อนาคเพราะกลัวว่าจะเป็นแผลและ หากว่ายออกไปทั้ง ๆ ที่มองพันตัวเช่นนี้อาจจะถูกมนุษย์จับไปกินได้ แต่ก่อนช่วยเหลือย่าหม่อนได้ขอให้พ่อนาคบำเพ็ญศีล ด้วยการหยุดรังแกมนุษย์และทำความเดือดร้อนให้คนอื่นอีก และแจ้งกับครอบครัวนาคว่าจะปิดรูเส้นทางพร้อมทั้งโพรงถ้ำเชื่อมโยงโลกมนุษย์กับเมืองนาคจากนั้นเมื่อพ่อนาคหายดีและหลุดจากกับดัก พ่อนาคสั่งให้ลูกสาวนาคมาส่งย่าหม่อนกลับมายังเมืองมนุษย์พร้อมมอบตะกร้าผักให้ แต่พอมาถังบ้านตะกร้าผักกลายเป็นแผ่นทองคำ ย่าหม่องจึงได้จ้างคนงานมาปิดรูเส้นทางผ่านของนาค จากนั้นสั่งให้คนงานสร้างพระธาตุปิดทับอีกชั้น และหลังจากนั้นนาคก็อาศัยอยู่ในเส้นทางเดิมอย่างจำกัดไม่มาเบียดเบียนชาวบ้านอีกเลย ซึ่งพระธาตุนั้นต่อมาก็ คือ เจดีเก่าที่ถูกค้นพบก่อนจะมีการปรับปรุงใหม่ในปี 2547” นายประชิต กล่าว
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงและล้านนา กล่าวว่าระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2560 จะมีการจัดกิจกรรมคัดค้านโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงในหลายพื้นที่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 กลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันแถลงจุดยืนในเวทีเสวนาเรื่อง “ระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อไทยหรือเพื่อใคร” ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. ที่ห้องประชุมกระจก 4107 อาคาร 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อ่านรายละเอียดด้านล่าง)
นายสมเกียรติ์กล่าวว่า ในวันที่ 4 กลุ่มศิลปินและสื่อมวลชนจะร่วมกันล่องเรือในแม่น้ำโขงจากอำเภอเชียงของไปยังคอนผีหลงเพื่อเก็บข้อมูลและบันทึกภาพเกาะแก่งและบรรยากาศในแม่น้ำโขง ตั้งแต่เวลา 08.30-13.00 น. นอกจากนี้ในช่วงเย็นเวลา 16.00 น.เป็นต้นไปจะมีการแสดงสดของกลุ่มศิลปินชุมชนบริเวณถนนคนเดิน (รายละเอียดตามกำหนดการ)
นายสมเกียรติ์กล่าวว่า ในวันที่ 5 จะมีการจัดกิจกรรมใหญ่ “ฮอมบุญ ฮอมปอยฯ” ขึ้นที่ท่าเรือผาถ่าน ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยกิจกรรมจะมีตั้งแต่เช้าโดยมีนิทรรศการแม่น้ำโขง จนกระทั่งเวลา 13.00 น. เริ่มเปิดงานเป็นทางการโดยการแสดงกลองสะบัดชัย และขับซอ ต่อด้วยการเลี้ยงเจ้าพ่อผาถ่านและประกาศเจตนารมณ์ของประชาชนชาวน้ำโขง และ เวทีวัฒนธรรม พร้อมทั้งเปิดให้ทุกคนร่วมลงชื่อต่อต้านโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง
“ขณะนี้มีผู้แสดงความจำนงเข้าร่วมงานกันอย่างคึกคัก นอกจากชาวบ้านในพื้นที่แล้ว ยังมีชาวบ้านจากที่อื่น ๆ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ เช่น นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา นางสุนี ไชยรส และคณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ และศิลปินทั้งในเชียงรายและนอกพื้นที่”นายสมเกียรติ กล่าว
วันเดียวกันเมื่อเวลา 10.00 น. นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเมือง อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อมอบนโยบายการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันไฟป่าในพื้นที่อำเภอเสี่ยงใน จ.เชียงราย โดยนายบุญส่งได้เชิญสื่อมวลชนเข้ารับฟังการชี้แจ้งเรื่องการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงบริเวณชายแดนไทย-ลาว บริเวณ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น
นายบุญส่ง กล่าวว่า การระเบิดแก่งยังไม่มีข้อตกลงใด ๆ ว่าจะมีการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงที่ผ่านชายแดนเชียงรายแต่อย่างใด เป็นเพียงการสำรวจ เพราะว่ามีข้อมูลจะสร้างความสับสน จึงขอยืนยันว่าจะไม่มีข้อตกลงของรัฐบาลใด ๆ ในเรื่องนี้ และการชุมนุมก็จะมีการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม ได้แจ้งให้ทางนายอำเภอทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนต่าง ๆ ให้ทราบว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ถ้าไม่เป็นไปตามที่ชุมนุมกล่าวอ้างคาดการณ์ไปในอนาคต ก็จะดำเนินการตามข้อกฎหมาย
“เรียนพี่น้องประชาชนว่าตามที่มีบางกลุ่มบางพวกเชิญชวนพี่น้องประชาชนก็ขอให้พี่น้องใช้สติปัญญาศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ ให้เกิดการชุมนุมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย สำหรับข้อกังวล เป็นเรื่องของพวกเรากันเองว่าจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องได้ศึกษาข้อมูลทุกอย่างอย่างรอบคอบและทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อพี่น้องชาวจังหวัดเชียงราย และประเทศไทยอย่างแน่นอนขอให้เลิกกังวลในเรื่องนี้” นายบุญส่ง กล่าว
นายสุรนาถ ศิริโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนอนุญาตให้ดำเนินการสำรวจ ยังไม่มีข้อตกลงในการระเบิดแก่ง ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จนถึง อ.เวียงแก่น ภายใต้กรอบการเดินเรือเสรีแม่น้ำโขง 4 ประเทศ จีน เมียนม่า ลาว ไทย ประกอบด้วยหลายแผน ทั้งกรอบการบำรุงรักษาร่องน้ำเดินเรือ ซึ่งจะต้องสำรวจความปลอดภัยของเรือ และหลังการสำรวจก็จะส่งการสำรวจให้กับทาง ครม.อีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง ครม.ได้กำหนดเลยว่าจะต้องไม่กระทบใด ๆ ต่อเขตแดนไทย
นายสุรนารถ กล่าวว่า หลังจากที่กรมเจ้าท่าได้เป็นตัวแทนประชุมร่วมครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ไทยได้ตั้งทีมงานสำรวจร่วมแบ่งเป็น 3 คณะ ตามการทำงาน โดยเป็นคณะสนับสนุนเรื่องข้อมูล ประกอบด้วย กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ (อศ.ทร.) และกรมเจ้าท่า คณะที่สอง ชุดสำรวจ ประกอบด้วย นรข. อทร. และกรมเจ้าท่า ส่วนชุดที่สาม จะเป็นคณะที่ศึกษาเรื่องผลกระทบทางสังคมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดหานักวิชาการจากพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อเข้าไปศึกษาร่วมกับคณะของประเทศจีน ที่ทางไทยได้เสนอไปในที่ประชุมครั้งที่ผ่านเพราะทุนการศึกษาสำรวจออกแบบเป็นทุนของจีนในการพัฒนาอนุมัติ แต่ไทยเสนอเพื่อให้มีส่วนร่วมในการศึกษาข้อมูลด้วย
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กล่าวว่า ได้รับการติดต่อจาก ฝ่ายปกครองอำเภอแล้วในเรื่องการชุมนุมที่ฝ่ายปกครองกังวลว่าจะเป็นเรื่องการเมืองไปนั้น ได้เรียนชี้แจงไปว่า นี่เป็นเรื่องของประเทศชาติและคนท้องถิ่น ที่มีความห่วงใยในผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการดำเนินการในวันที่ 5 ก.พ.นี้ เป็นเพียงการพูดคุยกันเพื่อรวบรวมรายชื่อเป้าหมายหลัก คนท้องถิ่นที่ไม่เห็นด้วยและมีความกังวลเรื่องผลกระทบ ที่รัฐอาจไม่เชื่อและไม่ทราบรายละเอียด จึงต้องการรวบรวมรายชี่อและความเห็นเพื่อนำเสนอให้รัฐบาลได้รับทราบ ไม่มีเรื่องการเมืองใดและสร้างความวุ่นวายใด ๆ ทั้งสิ้น
ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ทั้งนี้ทางเครือข่ายต้องการให้ข้อมูลการสำรวจการออกแบบได้เปิดเผย และประเด็นสำคัญในตอนนี้ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีการระเบิดแก่งเฟสแรกของการเดินเรือแม่น้ำโขงไปแล้ว จึงเห็นว่าไทยเราควรศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนนั้นให้ชัดเจนก่อน ศึกษาผลได้ผลเสียในส่วนของประเทศในเฟสแรกที่ผ่านมาต่อสภาพพื้นที่ สิ่งแวดล้อมชุมชนและวัฒนธรรมก่อนที่จะสำรวจเพื่อเดินหน้าเฟสสองต่อไป