นัก ข่าว “ไทย-พม่า” ร่วมเวที แลกประสบการณ์ทำข่าว สู้กับทั้งอำนาจรัฐและอิทธิพลจากทุน หวังอนาคตร่วมมือกัน เกิดพลังขับเคลื่อนข่าวระดับภูมิภาค
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2555 เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมออลซีซั่น ถนนวิภาวดี กทม. มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างสื่อไทยกับสื่อพม่า โดยกรอบการหารือที่สำคัญ ได้แก่แลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านการทำข่าวในแต่ละประเทศ โดยมีนักข่าวจาก 2 ประเทศริมฝั่งแม่น้ำอิระวดีทั้งสิ้น 31 ชีวิตมาร่วมเวที
โดยช่วงแรก นักข่าวพม่าหลายคนช่วยกันเล่าถึงสถานการณ์การทำข่าวในประเทศพม่า ว่า 3-4 เดือนก่อนหน้านี้ สื่อพม่ารวมตัวกันประท้วงรัฐบาล ที่สั่งปิดนิตยสารข่าว 2 ฉบับที่เขียนวิจารณ์รัฐบาลเรื่องการคอร์รัปชั่น โดยรวมตัวกันจัดตั้ง The Media Freedom Committee มีการประชุมกันก่อนนำไปสู่การล่ารายชื่อเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลพม่า ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 6 ข้อ แต่ข้อเรียกร้องหลักๆ ได้แก่ ให้ยกเลิกการแบนนิตยสารข่าวทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ให้ยกเลิก Board of Censorship ของรัฐบาล และให้เปลี่ยนตัว รมว.กระทรวงข้อมูลข่าวสาร
“ผลปรากฏว่าในวันเดียวกันกับที่นักข่าวชุมนุม เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงข้อมูลข่าวสารได้โทรศัพท์มาหาแกนนำนักข่าว เพื่อแจ้งว่าจะยกเลิกการแบนนิตยสารข่าวทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลพม่าตอบสนองข้อเสนอจากผู้สื่อข่าว โดยหลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนตัว รมว.กระทรวงข้อมูลข่าวสาร ให้คนที่มีท่าทีแข็งกร้าวน้อยกว่าคนเดิมเข้ามารับตำแหน่ง พร้อมกับยุบ Board of Censorship” นักข่าวพม่าเล่าผ่านล่าม
นักข่าวพม่ายังให้ ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน ในประเทศพม่ายังไม่มีหนังสือพิมพ์รายวัน (daily) มีแต่นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ (weekly) โดยมีนิตยสารข่าวที่วางแผงอยู่ราว 30-40 หัว จากจำนวนสำนักพิมพ์ที่มีอยู่กว่า 100 แห่ง ทั้งนี้ ในนิตยสารข่าว 1 ฉบับ ก็จะส่งเนื้อหาข่าวทุกประเภท ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แฟชั่น กีฬา ฯลฯ ซึ่งนิตยสารข่าวที่ขายดีส่วนใหญ่มักจะเป็นนิตยสารข่าวที่เน้นนำเสนอข่าวกีฬา
“ใน อดีตเมื่อครั้งยังมี Board of Censorship นิตยสารข่าวทุกฉบับจะต้องส่งข้อเขียนทุกชิ้นไปให้ Board of Censorship ตรวจทานก่อน โดยจะมีการตัดข้อความที่ไม่ให้ลงทิ้งไป แต่ถ้านิตยสารข่าวฉบับใดฝ่าฝืนก็จะถูกสั่งแบน เมื่อปลายปี ค.ศ.2010 ที่นางอองซาน ซูจี ถูกปล่อยตัวออกจากเรือน ปรากฏว่ามีนิตยสารข่าวถึง 9 ฉบับที่ขึ้นรูปของนางซูจีเต็มหน้าหนึ่ง ทำให้ Board of Censorship สั่งแบนนิตยสารข่าว 7 ฉบับเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และแบนนิตยสารข่าวอีก 2 ฉบับเป็นเวลา 2 สัปดาห์” ตัวแทนนักข่าวพม่ากล่าว
ช่วง ต่อมา นักข่าวพม่าก็ถามกลับนักข่าวไทยถึงสถานการณ์ทำข่าวในประเทศไทย โดยประเด็นที่นักข่าวพม่าสนใจส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ข่าวสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบต่อโครงการขนาดใหญ่ หรือ Mega Project ของรัฐบาล โดย 1 วันก่อนหน้านี้ นักข่าวพม่ากลุ่มนี้ ได้เดินทางลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มาแล้ว โดยนักข่าวไทยหลายคนให้ข้อมูลว่า การทำข่าวสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ไม่ค่อยมีปัญหากับอำนาจรัฐโดยตรง แต่จะพบการร่วมมือระหว่างรัฐกับทุน ในการเผยแพร่ข้อมูลเฉพาะด้านดีของ Mega Project ดังกล่าว เพื่อตอบโต้การนำเสนอข่าวมากกว่า ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีองค์กรอิสระที่ทำงานด้านนี้จำนวนมาก จึงไม่จำเป็นที่จะต้องนำเสนอข่าวชนกับรัฐในทุกกรณีไป สามารถใช้วิธีผลักดันให้องค์กรอิสระเหล่านั้นมาแสดงบทบาทแทนได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องทุนมีอิทธิพลต่อการนำเสนอข่าวอยู่บ้างในบางเรื่อง
“ยก ตัวอย่างสถานีโทรทัศน์หลายช่องก็เป็นของรัฐ หรือมีสัมปทานกับหน่วยงานของรัฐ ขณะที่สื่ออื่นๆ แม้จะมีเจ้าของเป็นเอกชน แต่เมื่อไปทำข่าวบางอย่างที่กระทบกับคนรู้จักของเจ้าของสื่อดังกล่าว ก็จะมีการขอกันว่าอย่านำเสนอข่าวดังกล่าวได้หรือไม่ หรือในบางกรณีก็มีการบอกไม่ให้ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ โดยอ้างว่าเป็นมติของที่ประชุมกอง บ.ก. ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงแค่ไหน” นักข่าวไทยเล่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อถึงช่วงที่นักข่าวไทยเล่าถึงอิทธิพลของทุนต่อการนำเสนอข่าว ปรากฏว่ามีนักข่าวพม่าหลายคนสนใจประเด็นนี้มาก นำไปสู่การตั้งคำถามต่อกรณีดังกล่าว โดยมีนักข่าวพม่ารายหนึ่งถึงกับถามกลางเวทีดังกล่าวว่า “ระหว่างทุนกับผู้อ่าน สื่อไทยให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน?”
นำ ไปสู่การตอบคำถามโดยนักข่าวไทยรุ่นใหญ่รายหนึ่ง ว่า สื่อไทยต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพมากกว่า 100 ปี โดยพัฒนาการของสื่อมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศ สมัย ก่อนสื่อไทยต้องต่อสู้กับเผด็จการ มีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาคุกคาม ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่ปัจจุบันมีการใช้ทุนเข้ามาคุกคามแทน มีการขู่ว่าจะถอนโฆษณา โดยเฉพาะโฆษณาจากหน่วยงานของรัฐ
“อีก ปัญหาคือเรื่องคุณภาพของสื่อ เพราะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อ มีการทำข่าวข้ามสื่อ (Cross Media) มากขึ้น นักข่าวจึงถูกเรียกร้องอย่างหนักให้ทำงานหลากหลายประเภท ทั้งส่งข่าวหนังสือพิมพ์ ข่าววิทยุ ข่าวโทรทัศน์และข่าวใน Social Media นำไปสู่ปัญหาเรื่องคุณภาพของผู้ส่งข่าว” นักข่าวไทยรายดังกล่าวตอบ
ช่วง ท้ายของเวทีแลกเปลี่ยนทัศนะ ตัวแทนนักข่าวไทยได้กล่าวว่า หวังว่าเวทีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้นักข่าวในภูมิภาคนี้หันมา ร่วมมือกัน โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวสิ่งแวดล้อม เนื่องจากธรรมชาติเป็นผืนเดียวกัน ไม่ได้ถูกแบ่งด้วยเขตแดนประเทศ หากนักข่าวในภูมิภาคช่วยกันก็จะเกิดพลังมากขึ้น
(สำนักข่าวอิศรา 3 พฤศจิกายน 2555)