Search

นักวิชาการมช.ร่วมค้านระเบิดแก่งแม่น้ำโขง แนะดึงชนชั้นกลางร่วมต้าน นายกฯชี้ควรฟังประชาพิจารณ์

16522040_10154502090116492_1671701713_o

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเวทีเสวนาเรื่อง “ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง เพื่อไทย หรือเพื่อใคร” โดย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การระเบิดแก่งน้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์นั้น เรื่องแรกที่เราต้องตั้งคำถาม คือ ในเมื่อแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรของหลายประเทศเป็นเจ้าของร่วมกันทำไมต้องให้อำนาจประเทศใดประเทศหนึ่งตัดสินใจใช้แม่น้ำโขงฝ่ายเดียว จริง ๆ แล้วการเกิดขึ้นของแม่น้ำโขง จัดเป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นก่อนรัฐชาติ ซึ่งประชาชนลุ่มน้ำโขงใช้ประโยชน์ร่วมกันมาก่อนเมื่อ และในอดีตก่อนการเป็นรัฐชาติก็ไม่เคยมีปัญหาเหมือนครั้งนี้เพราะไม่มีชาติใดใช้อำนาจจัดการทรัพยากรดังกล่าวแบบเด็ดขาด

“มาถึงยุคนี้ อยู่ ๆ ชนกลุ่มใดอ้างสิทธิ์ในการใช้ ต้องมีการตกลงร่วมกันว่าจะแบ่งปัน ทรัพยากรอย่างยั่งยืนอย่างไร เช่น เรื่องการเก็บภาษีร่วมกันเพื่อให้ทุกประเทศมีบทบาทในการดูแล และให้ประเทศที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกันได้ทำข้อตกลงว่าจะใช้ทรัพยากรอย่างไร ทีนี้พอมาถึงในส่วนของความพยายามของจีนนั้น กรณีที่จะระเบิดแก่งคอนผีหลง เราต้องตั้งคำถามว่าเกาะแก่งมีข้อดีอย่างไร ซึ่งเกาะแก่งที่เรามองว่าดีนี้ นักการเมือง นักธุรกิจ นักลงทุน มักมองว่า เกาะแก่งไม่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ แต่ที่ผ่านมามีฝ่ายวิชาการเสนอข้อมูลออกมาแล้วว่ามันมีประโยชน์อย่างไร เช่น คอนผีหลง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา สัตว์เล็ก สัตว์น้อย ถ้าระเบิดแก่งแล้ว ตะกอนจะไปทับถม หลุม แหล่งเพาะพันธุ์ เป็นต้น” ดร.ชยันต์ กล่าว

ดร.ชยันต์ กล่าวด้วยว่า ถ้าเรามองพี่น้องที่อยู่ในลาว ในกัมพูชา หรือในไทยก็ดีที่อาศัยอยู่ในชุมชน ทุกคนหากินโดยหาปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และได้รับโปรตีนจากปลาเหล่านั้น ก็อาจจะพูดได้ว่า ปลาเป็นแหล่งโปรตีนส่วนสำคัญ และคนในชุมชนจำเป็นต้องอาศัยแม่น้ำแห่งนี้ เพราะคนในชุมชนไม่นิยมบริโภคอาหารจากฟาร์ม

“การระเบิดแก่งที่จีนมีความพยายามทำมาโดยตลอด เราต้องตั้งคำถามด้วยว่า การลงทุนของจีน มีความหมายอย่างไร ตอนนี้เส้นทางขนส่งของจีนแห่งสำคัญจากคุณหมิง มาไทยที่ด่านเชียงของ จากการที่ผมได้รู้จากเพื่อนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์บอกว่ารายได้ที่ส่งสินค้าจากไทยไปจีนนั้น แม้ตัวเลขจะสูงถึงปีละ14,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้เข้าไทยทั้งหมดนะ เพราะพ่อค้าจีนมาลงทุนในไทยจำนวนมาก เช่น แถวจันทบุรีมีพ่อค้าผลไม้มากมาย” ดร.ชยันต์ กล่าว

นักวิชาการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) กล่าวด้วยว่า โครงการระเบิดเกาะแก่งเป็นการขยายอิทธิพลของจีนเพื่อสร้างทุนจีนในยุคโลกาภิวัฒน์ เพื่อขยายทุนแบบเสรีนิยมมากขึ้น โดยอาจจะต้องการซ่อมแซม ปรับปรุง เส้นทางทางน้ำ เส้นทางขนส่ง เป็นการขยายตัวโดยการใช้อำนาจผ่านพื้นที่ต่างๆเพื่อให้ทุนขอจีนเข้ามาง่ายขึ้น มีนักวิชาการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าดูจากการสร้างบ่อน ปลูกกล้วย ปลูกยางพาราในลาว โดยการเช่าที่ดินระยะยาวเป็นการแผ่อิทธิพล เพราะเช่ามากถึง 50-90 ปี คือ สร้างอธิปไตยทางดินแดน ประเด็นนี้ต้องคุยกันเรื่องกฎหมาย เกี่ยวกับสิทธิทางอาณาเขต ว่ามีความหมายอย่างไรบ้าง ส่วนหนึ่ง เราจะต้องมารู้ด้วยว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องนี้ ไม่และไม่ควรปล่อยรัฐตัดสินใจฝ่ายเดียว

นายเล่าฟั้ง บัณฑิตเทิดสกุล นักกฎหมายจากศูนย์กฎหมายชุมชน กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศก็จริง แต่เราต้องระมัดระวังหลายอย่างเช่น หน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจนั้น มีไม่กี่หน่วยงาน ถ้าเป็นของไทย คือกรมเจ้าท่า ส่วนมหาอำนาจต่างประเทศ ก็คือประเทศจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการสำรวจ ซึ่งกรณีเป็นแม่น้ำใหญ่ขนาดนี้ในการทำอะไรควรจะต้องมีการทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) แต่กลับไม่มี

16466717_10154502090126492_341741058_o

“ประเด็นที่ผมตั้งข้อสังเกต คือ สำหรับกฎหมายในประเทศตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ต่อกรณีการระเบิดแก่งนั้นหากกรมเจ้าท่าต้องการทำโครงการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นสำรวจหรืออะไรก็ตาม มีกฎหมายสองเรื่องที่ต้องดู คือ พระราชบัญญัติ (พรบ.) สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปี 2537 ซึ่งให้อำนาจอบต.ดูแลรักษาพื้นที่ท้องถิ่น และกำหนดด้วยว่า ถ้าหน่วยงานไหนต้องการดำเนินการในพื้นที่นั้นๆ ต้องปรึกษา อบต.ในพื้นที่ อีกกฎหมายคือ ตาม พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ที่ให้อำนาจกรมเจ้าท่าดูแลบำรุงรักษาทางน้ำ ทางเดินเรือ ถ้าดำเนินการอะไรก็แล้วแต่ ต้องขอให้ อบต.และพื้นที่ให้ความเห็นชอบก่อน” เล่าฟั้ง กล่าว

ขณะที่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงประเด็นรัฐบาลไทยกับการปกป้องทรัพยากร ประชาชน และอธิปไตยของชาติว่า ส่วนตัวไม่ได้ศึกษาเรื่องแม่น้ำโขงโดยตรง แต่เท่าที่ได้มีประสบการณ์และทำความรู้จักแม่น้ำโขงมา อยากเสนอว่า การจะต่อสู้เรื่องแม่น้ำโขงต้องโยงเข้าเรื่องการเมืองด้วย ต้องขอย้อนไปก่อนว่าสังคมไทยหลังปี 2540 คือการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรทั้งหมด และขณะนั้นไทยได้สร้างกลไกในทางกฎหมายให้มีการเกิดขึ้น โดยหวังว่ามีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดเรื่องทรัพยากรชัดเจนว่า ทรัพยากรนั้นไม่ใช่เรื่องอะไรที่รัฐจะทำอะไรโดยชอบฝ่ายเดียว และการทำอะไรก็ตามเกี่ยวกับทรัพยากรต้องมีการปรึกษาหารือ แต่หลัง ปี2557 นั้นต้องบอกว่าสิ่งที่ทำมาจากปี 2540 -2556 ถูกทุบเละหมดเลย คือมันพังไปหมด

รศ.สมชายกล่าวต่อว่า ถ้าเราจะเอาเรื่องระเบิดแก่งมาสัมพันธ์การเมืองภาพรวม เราจะเห็นว่า มีเรื่องหนึ่งที่เห็นคือ อำนาจรัฐไม่ใช่การเข้ามายุติความวุ่นวาย แต่อำนาจรัฐตอนนี้เข้ามาปรับเปลี่ยนมิติเชิงนโยบาย และที่สำคัญ คือ มีผลกระทบต่อกลุ่มคนอย่างกว้างขวาง เรื่องแบบนี้ คือ รัฐทำโดยอาศัยกฎหมาย หรือบีบกฎหมายเพื่อขยายอำนาจ แล้วทีนี้พอเราจัดวางความขัดแย้งเรื่องการแก้ปัญหาของชาวบ้านเข้ากับการเมืองเสร็จปุ๊บ เราจะเห็นว่านโยบายรัฐตอนนี้คือพยายามคุมทุกอย่าง ดังนั้นถ้าเราเอากฎหมายไปค้าน ไปเถียงเรื่องระเบิดแก่ง คงไม่ได้ เราจำเป็นต้องอาศัยอำนาจนิยมเชิงเครือข่ายเพื่อยื้อโครงการไว้ เช่น กรณีมติ ครม.ที่ออกมานั้นเราเห็นว่า มติ ครม.เป็นเครื่องมือที่ชาวบ้านเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่คำถามคือ มติ ครม.ไม่ใช่ กฎหมาย แล้วเราจะทำอะไรได้ เมื่อรัฐใช้มติ ครม.เพื่อทำอะไรบางอย่าง ขอให้เรารู้ว่า รัฐใช้เพื่อยื้อเวลาเช่นกัน ในที่นี้คือยื้อเวลาในการออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระหว่างนี้ภาคประชาชนต้องขยายอำนาจของตนเองเพื่อคัดค้านไว้ก่อน จะช่วยให้อำนาจรัฐอ่อนแรงลง

ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่าย เพราะจีนขยายอำนาจมาอยู่ในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น การกดดันประเทศต่างๆให้ ยอมรับ ยอมทำตามเป็นเรื่องน่ากลัว ทำให้เครือข่ายน้ำโขงตอนล่างแทบหมดอนาคตเลย

“การระเบิดแก่ง เราควรยื้อไปให้นานที่สุด ให้เวลาขยายเพื่อให้การเมืองฟื้นตัวมาได้ และทำให้คนตัวเล็ก ตัวน้อยอยู่ได้ คือต้องให้คนในสังคมรู้ว่ารัฐบาลทหาร เขาจะแอบอิงอยู่กับผลประโยชน์การเมืองที่เขาเล่นอยู่ การที่เขาก้มหัวให้จีน เพราะหลายประเด็นเขาหงุดหงิดฝรั่ง อย่างอเมริกา ยุโรป เขาออกมาบ่นเราเป็นเรื่องธรรมดา คือ สถานการณ์หนักหน่วงมากๆ อย่างพี่น้องลาว คือ ระบบเศรษฐกิจตกในมือจีนเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ เขาหนักกว่าเราอีกนะ สิ่งที่ต้องทำ คือ สร้างความคาดหวังของภาคประชาชนให้อยู่ในกลุ่มประเทศ เรามีเสียงต่อรองมากขึ้น เราต้องยอมรับว่าภาคประชาชนที่เข้มแข็งทาสุดในภูมิภาคนี้ คือ ไทย แต่ไม่ได้เข้มแข็งมากที่สุด เราเคยเข้มแข็งกว่านี้เมื่อก่อนเราดึงชนชั้นกลางมาร่วมเยอะ เราตั้งคำถามเสมอว่า ทำอย่างไรจะให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นสังคม ความหวังของเรา คือ เราต้องยื้อให้ถึงที่สุดให้ประชาชนได้ตระหนักเรื่องนี้ ตัวผมเองตามข้อมูลของเขมร เราติดตามภาษาอังกฤษ คือยังไม่มี เขมรอาจจะโดนหนักที่สุด ดังนั้นถ้าเรายื้อได้นานเท่าไหร่ กำลังประชาชนเราจะปลุกภาคประชาชนให้ตื่นขึ้นเพราะตอนนี้ชนชั้นกลาง คนในเมืองเขากำลังหลับตาให้เรา ผมเชื่อว่าการต่อสู้ของภาคประชาชน หลังจากวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เราจะทำให้ภาคประชาชนตื่นตัวและขยายอำนาจประชาชนไปสู่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เพื่อพึ่งพาพลังประชาชน ในช่วงที่เราพึ่งอำนาจรัฐไม่ได้ แต่ทำให้อ่อนลงได้ เพื่อรักษาทรัพยากรล้ำค่าของมนุษยชาตินี้” ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าว

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการเสวนา นักวิชาการ 3 คนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ ดร.ชยันต์ ดร.อรรถจักร์และรศ.สมชาย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยระบุว่า ในอนาคตเรื่องการระเบิดแก่งอาจจะนำไปสู่การได้ประโยชน์เสียประโยชน์ต่าง ๆ กรณีนี้ไม่ใช่การตอบแค่ว่าไทยได้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องทรัพยากรที่ต้องเสียไปและเป็นสิ่งที่เสียไปแล้วไม่สามารถหวนกลับคืนมาได้ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจนอกจากจะต้องการรับฟังความคิดเห็นแล้ว รัฐบาลต้องใช้ความรู้ ซึ่งการจะใช้ความรู้ได้ต้องยอมรับฟังข้อมูลจากส่วนต่างๆ ทั้งในแง่ของทรัพยากรเศรษฐกิจ ทั้งแง่ของผลกระทบต่อชุมชน และวัฒนธรรมต่างๆ คือว่าเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนในสังคมสามารถแสดงเจตจำนงออกมาเรียกร้องได้

ในแถลงการณ์ระบุว่า เราหวังว่าผู้นำประเทศของเราจะเข้าใจว่า ควรจะทำทุกอย่างเพื่ออนุชนรุ่นหลัง การระเบิดแก่งไม่ใช่เพียงแค่การระเบิดแก่ง แต่เป็นการทำลายระบบนิเวศทั้งหมดที่สำคัญต่อพี่น้องประชาชนรวมทั้งคนในกรุงเทพฯ ด้วย นอกจากนั้นอยากจะเรียกร้องให้พี่น้องชนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง ช่วยกันสนใจปัญหานี้มากขึ้น เราไม่ได้ทำคลองหรือสระว่ายน้ำในบ้าน แต่เรากำลังทำสิ่งที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและสังคม เราหวังว่าพลังของสังคมไทยที่ครั้งหนึ่งเคยเข้มแข็ง จะมาช่วยกันพิทักษ์รักษาทรัพยากรให้แก่คนรุ่นหลังในโลกของเรา

ในแถลงการณ์ระบุว่า ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีที่ใช้คำว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นำเอานโยบายนี้มาใช้ให้เป็นจริง หมายความว่าถ้ารัฐบาลต้องการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการค้ากับทุนต่างประเทศอย่างจีน ต้องคำนึงถึงชุมชนที่พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าป่าที่ดินหรือแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนรักษาสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน หรือว่ามีความมั่นคงในการดำรงชีวิต รวมทั้งความมั่นคงของทรัพยากร กลุ่มคนอยากฝากความหวังไว้ก็คือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นกลางขอให้ติดข่าวสารเรื่องนี้อย่างละเอียด อย่ามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อสิทธิเหนืออาณาบริเวณของชาติหรือเส้นแบ่งพรมแดนของรัฐชาติ รวมทั้งบทบาทของทุนนิยมแบบโลกาภิวัฒน์ที่นำโดยจีนที่จะมีบทบาต่อภูมิภาคนี้

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.45 น. ที่กรมทรัพยากรน้ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีชาวบ้านออกมาต่อต้านโครงการระเบิดเกาะแก่งหินในแม่น้ำโขงว่า ต้องถามว่าชาวบ้านไม่เห็นด้วยเพราะอะไร ซึ่งรัฐต้องไปสร้างความเข้าใจ ถ้าหากผ่านการทำประชาวิจารณ์ไปแล้ว แต่ยังมีคนส่วนน้อยไม่เห็นด้วยอยู่ ก็ไปดูว่าคนในพื้นที่เขาต้องการอะไร หรือมีคนนอกพื้นที่หวังผลประโยชน์ด้วยหรือไม่ ฉะนั้นเราต้องสอนให้คนเข้าใจตรงนี้ ถ้าหากทำไม่ได้คนในพื้นที่ก็ไม่ได้ รวมถึงคนนอกพื้นที่ด้วย ประเทศชาติก็ไม่ได้ ส่วนคนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็ออกไปเคลื่อนไหวที่อื่นอีก นี่คือปัญหาประเทศไทย ฉะนั้นอะไรที่ต้องทำก็คือต้องทำ และจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราคงเลือกทางใดทางหนึ่งไม่ได้ ถ้าเลือกทางใดทางหนึ่งประชาชนก็อดตาย เราต้องเก็บไว้ทั้งหมด และบริหารจัดการให้สมดุล ชาวบ้านจะได้มีที่ทำกิน มีน้ำใช้ เรากินปลาอย่างเดียวทั้งหมดทั่วประเทศได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ เราต้องคิดว่าคนจะหากินอย่างไร
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เราต้องคิดทั้งสองทาง การพัฒนาที่ดินใด ๆ ก็ตามต้องสอดคล้องกับนโยบายที่มีอยู่ และพิจารณาว่าที่มีอยู่ใช้ถูกหรือยัง ทั้งการจัดผังเมือง การทำลายป่า ฉะนั้นตนไม่อยากให้คัดค้านทุกเรื่อง ต้องฟังเหตุผลกันบ้าง อย่ามาบอกว่าเมื่อทำประชาวิจารณ์ผ่านแล้วยังเหลือ 20-30 คนออกมาต่อต้าน แล้วคนที่เขาให้ผ่าน 200 คนจะทำอย่างไร จะให้รัฐฟังใคร นี่คือประชาธิปไตย ไม่งั้นจะมีเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อยหรือ ทั้งนี่เราต้องคำนึงว่าสิ่งที่ทำเสียมากกว่าได้หรือเสียน้อยกว่าได้ ถ้าไม่ทำอะไรเลย น้ำท่วมมาใครจะรับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำประชาพิจารณ์จะผ่านหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เขาทำมาหรือยัง เขาทำยังไม่ผ่านก็ต้องทำให้ผ่าน วันนี้ทำประชาพิจารณ์เป็นโครงการ แต่การบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์มันไม่มี จึงกำลังทำยุทธศาสตร์ชาติการทำประชาพิจารณ์ด้วย เช่น โครงการที่จะทำเกิดจากยุทธศาสตร์ชาติตรงไหนจึงตอบสนองได้ ไม่เช่นนั้นก็เป็นโครงการที่คิดมาแล้วทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ มันก็ค้านกันอยู่ เพราะคนนอกพื้นที่ไม่รู้ จึงต้องมีคณะกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์ขึ้นมา ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอจัดตั้งขึ้นมา ก่อนที่จะให้คณะกรรมการทำประชาพิจารณ์ระดับล่าง เพื่อลดความขัดแย้ง

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →