Search

ประชาชนคึกคักร่วมปักธงชัย งาน “ฮอมบุญ ฮอมปอย” ประกาศไม่เอาโครงการระเบิดแก่ง ปลุกพลังต้านอำนาจรัฐ-อำนาจทุน

received_1336659163044032

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ท่าเรือผาถ่าน ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ เครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันจัดกิจกรรม “ฮอมบุญ ฮอมปอย หยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขง” เพื่อรณรงค์ต่อต้านโครงการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงหรือการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงที่ดำเนินการโดยประเทศจีน โดยมีประชาชนเข้าร่วมอย่างคึกคัก

received_1336659153044033

บรรยากาศทั่วไปในงานนั้น ได้มีซุ้มรับลงชื่อคัดค้านการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง และมีการติดป้ายคัดค้านการระเบิดแม่น้ำโขงทั้งภาษาไทย จีน ลาว อังกฤษ บริเวณท่าเรือ เช่น ป้ายที่มีข้อความว่า “ฮอมบุญ ฮอมปอย” หยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ปกป้องแม่น้ำเพื่อมนุษยชาติ ฯลฯ อีกทั้งมีนิทรรศการภาพวาดและภาพถ่ายหลายมุมมองที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงาม และกิจกรรมต่าง ๆ ที่สื่อความหมายถึงการอนุรักษ์แม่น้ำโขง พร้อมมีเวทีการแสดงทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น ขับซอโดยวงแม่ทองสร้อย การแสดงดนตรีของวงหลืบผา กิจกรรมพื้นเมืองโดยชาวลาหู่ เป็นต้น โดยมีนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของเป็นผู้นำจัดกิจกรรมที่สำคัญอย่างเช่น ทำพิธีกรรมเลี้ยงเจ้าพ่อผาถ่าน และปักตุงไจย (ธงชัย) เพื่อประกาศปกป้องน้ำโขง

ทั้งนี้ในระหว่างจัดกิจกรรม ทางคณะผู้จัดงานได้เปิดเวทีให้ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ขึ้นประกาศเจตนารมณ์ และแสดงความคิดเห็นต่อโครงการระเบิดแก่งน้ำโขง ต่อเนื่อง
received_1336659156377366

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า งานครั้งนี้ประชาชนที่ให้ความร่วมมือทุกคน คือผู้นำเปิดกิจกรรม คือผู้มีส่วนร่วมปกป้องแม่น้ำโขงที่มีประชาชนเป็นเจ้าของคน 60 ล้านคน งานวันนี้ไม่ใช่งานวันแรกหรือวันสุดท้ายของการต่อสู้ภาคประชาชน แต่เป็นอีกวันที่น่าจดจำเหมือนอดีตที่ผ่านมาและในอนาคตที่กำลังจะมาถึง ดังนั้นขอบคุณน้ำใจจากทุกท่านที่มาร่วมงานฮอมบุญ ฮอมปอยฯ ด้วย ขอให้ทุกคนพึงรู้ไว้ว่าเมื่อไหร่ที่เรามีความเข้มแข็งใครก็ทำลายเราไม่ได้

นายเตชพัฒน์ มโนวงศ์ เลขาธิการสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง นำอ่านแถลงการณ์ในเวทีมีเนื้อหาโดยสรุปว่า โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงระยะที่ 2 เพื่อเปิดทางให้เรือจีนเข้ามาในลาวนั้น ไม่ได้ส่งผลต่อแม่น้ำโขงอย่างเดียวแต่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำอิง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำโขง หากระดับน้ำโขงไม่ขึ้นสูงสุดจะไม่มีน้ำไหลเข้าไปในแม่น้ำสาขาเลย พันธุ์ปลา พืชพันธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำอิงก็จะโดนทำลายไปด้วย และระดับน้ำที่กล่าวนี้จะส่งกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำอิงด้วย สภาประชาชนลุ่มน้ำอิงจึงไม่เห็นด้วยกับการระเบิดแก่งน้ำโขง

received_1336659159710699

ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดว่า การต่อต้านการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงนั้นกระทำโดยผู้ไม่หวังดีก็ตาม แต่เมื่อไม่นานมานี้ตนได้คุยกับปลัดกระทรวงมหาดไทย และชี้แจงไปแล้วว่า การคัดค้านการระเบิดแก่งเป็นพลังบริสุทธิ์โดยภาคประชาชนซึ่งปรารถนาจะปกป้องแม่น้ำโขงอันเป็นทรัพยากรของทุกคน และ กสม.เองได้รับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชนไว้แล้วเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 และกสม.จะเร่งนำเรื่องเข้าที่ประชุมของอนุกรรมการด้านทรัพยากรฯ โดยจะเชิญตัวแทนทุกฝ่ายเข้าชี้แจง อาทิ กรมเจ้าท่า และทางภาคท้องถิ่นเข้าร่วม เร็ว ๆ นี้

“เชื่อเลยนะคะว่าประชาชนไม่มีเจตนารมณ์ใด ๆ ที่ไม่ดี แต่ห่วงเรื่องทรัพยากรเท่านั้น และการกระทำของทุกคนในวันนี้ คือทำตามสิทธิประชาชนในรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งเรื่องระเบิดแก่งนี้ เมื่อครั้ง กสม.ชุดแรกเข้ามาทำงานก็ได้จดทำรายงานพิจารณาข้อเท็จจริงไว้และทราบว่า คณะรัฐมนตรียุคนั้นรับทราบแล้วว่าโครงการยุติไปแล้ว แต่เมื่อปีที่แล้วเดือนธันวาคมที่ผ่านมากลับมีมติคณะรัฐมนตรีรอบใหม่ว่าให้ศึกษาโครงการอีกครั้ง ก็เข้าใจดีว่าประชาชนกังวลและตระหนกในปัญหาไม่น้อย อย่างไรขอให้กำลังใจทุกคนในวันนี้และขอให้ทำหน้าที่ของพลเมืองต่อไป” นางเตือนใจกล่าว

ขณะที่ นายประนอม เจิมชัยภูมิ ประธานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การระเบิดแก่งน้ำโขงไม่ได้ทำลายแค่ทรัพยากรเท่านั้น แต่ทำลายเศรษฐกิจฐานรากด้วย และเป็นการเปิดทางให้ประเทศจีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางการเมือง การทหาร และยึดอำนาจเศรษฐกิจของไทย
“จีนต้องการระบายสินค้าจากประเทศเพื่อสร้างรายได้เข้าบ้านตัวเอง ถามว่าคนไทยได้อะไรบ้าง เราไม่มีได้เลย มีแต่เสียกับเสีย ทีนี้ถ้าถามว่าทำไมเราต้องคัดค้านตั้งแต่ระดับการศึกษาข้อมูล ก็เพราะว่าประวัติศาสตร์สอนเราให้รู้ว่า รัฐบาลไทยไม่ว่าจะศึกษาอะไรก็ตาม โครงการใดก็ช่าง คำตอบชัดเจนของการศึกษา คือ ต้องศึกษาให้ผลออกมาดี เหมาะสม ถูกต้อง อย่างการศึกษาระเบิดแก่งนี้เรารู้อยู่แล้วว่าผลออกมามันจะต้องให้คำตอบว่า น่าจะระเบิด ไม่มีทางจะเป็นอื่นแน่ ๆ การศึกษาความเป็นไปได้ การเอาเรือมาสำรวจจึงเท่ากับว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในการเตรียมการระเบิดแก่งน้ำโขงเท่านั้นเอง” นายประนอม กล่าว

นายประนอม กล่าวด้วยว่า จากนี้ถ้าประชาชนอยากเห็นชุมชนยั่งยืน ต้องมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ สำหรับความเห็นส่วนตัวในเรื่องนี้ไม่ขออ้างในฐานะสภาฯ คิดว่า ปัจจุบันนี้เราฝากความหวังกับรัฐบาลยุคนี้ไม่ได้ เพราะตัวอย่างมันเห็นชัดเจน เช่น ความพยายามของประชาชนในหลายพื้นที่ที่อยากจะมีส่วนร่วมรักษาป่า แต่รัฐบาลไม่ให้โอกาส มีแต่จะปิดทางการมีส่วนร่วมเสมอ เห็นชัดหลายประเด็นแล้วว่ารัฐบาลไล่บดขยี้พี่น้อง จนทนทุกข์ระทม อย่างมาก ดังนั้นความหวังในการฟื้นฟูชีวิตวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ต้องเริ่มจากประชาชนตัวเล็กเท่านั้น สำหรับสภาฯ เองเคยมีฉันทามติแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ว่า โครงการต่าง ๆ ที่ทำโดยทุนใหญ่ของประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะทำลายแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน การระเบิดแก่ง ฯลฯ เราไม่เอาและไม่เห็นด้วย ซึ่งล่าสุดข่าวดีเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่าสถานศึกษาในจังหวัดเชียงราย โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย (มรภ.เชียงราย) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงประกาศชัดเจนแล้วว่า ไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับโครงการศึกษาการระเบิดแก่งแน่นอน

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ตนเข้ามาทำความรู้จักแม่น้ำโขงมานานแล้วและเข้ามาคลุกคลีกับประชาชนลุ่มน้ำโขงหลายเรื่องบางเรื่อง บางประเด็นมีการต่อสู้ถึงกระบวนการในชั้นศาล แพ้บ้าง ชนะบ้าง แต่สิ่งที่ไม่เคยแพ้ คือ สิทธิเสรีภาพประชาชน สิทธิเสรีภาพเป็นอำนาจของของประชาชน ไม่ใช่อำนาจรัฐ ถ้าไม่มีประชาชนก็เท่ากับไม่มีประเทศ อยากให้กำลังใจคนที่มาร่วมกิจกรรมวันนี้และคนที่คอยต้านโครงการใหญ่ ๆ ทุกที่สู้ต่อไปและเชื่อว่าประชาชนจะชนะแน่นอน

“อยากฝากถามรัฐบาลว่าจะฟังแต่บริษัทเดินเรือเหรอ ไม่คำนึงถึงจิตใจ วิถีชีวิตของคน 60 ล้านคนเลยเหรอ นี่มันศตวรรษไหนแล้ว การรับฟังทุนฝ่ายเดียวเป็นเรื่องล้าหลัง ถ้ารัฐบาลขยับ ประชาชนอย่าขยับ อย่าหลับตา อย่านิ่ง เพราะเราจะชนะอีก ชนะทุนให้ได้” นายไกรศักดิ์ กล่าว

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →